วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ศรีธนญชัย “อาจารย์กู”และความยุติธรรม


เมื่อนำระบบการจัดการการศึกษามาผนวกกับความเป็นไปของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ก็จะมองเห็นลักษณะที่โดดเด่นของลักษณะปรัชญาและวิธีการด้านการศึกษามากที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในส่วนของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก โดยเฉพาะภายหลังที่ซิลิคอนวัลเลย์ให้กำเนิดเว็บไซต์ google (google.com) ซึ่งเป็นเว็บค้นหา (search engine) ที่ปัจจุบันมีบทบาทต่อการแสวงหาและค้นคว้าหาความรู้ของผู้คนในวงการศึกษามากที่สุด เพราะเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ความรู้ทั้งหลายก็จะถูกเรียกให้มาวางกองอยู่ต่อหน้าผู้ค้นคนนั้นๆ จึงนับเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษาอย่างหนึ่งของทั้งครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาอย่างแท้จริง  จนกระทั่งถึงกับมีการตั้งคำถามแบบประชดประชันกันในสังคมการศึกษาไทยด้วยซ้ำว่า “ใครไม่รู้จักอาจารย์กูก็โง่สิ” คำว่า “อาจารย์กู” ก็คือ กูเกิล นั่นเอง

คงไม่ต้องสาธยายว่ากูเกิลเป็นมาอย่างไร (search engine website อื่นก็มี แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเว็บ google) ผมเพียงแต่อยากจะกล่าวถึงคุณสมบัติของเว็บ search engine  นี้ว่า มันมีความสามารถพร้อมสรรพในการหาเอกสารความรู้ตามคำสั่งของผู้เรียก สามารถกระทำการได้เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ผู้ที่ต้องการค้นหาข้อมูลแบบทางลัดหรือพลิกแพลง (trick) จึงไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดหนังสือหรือเดินทางไปห้องสมุดให้เมื่อยตุ้มและเสียเวลา ทั้งตัวผู้เรียนก็ไม่ต้องเปลืองพลังงานและเสียเวลามานั่งซักไซ้ไล่เรียงอาจารย์ผู้สอนในชั้น ตัวของอาจารย์เองก็ไม่ต้องสอนมากเช่นกัน เพียงแค่บอกให้ผู้เรียนไปค้นข้อมูลหรือเนื้อหามา ซึ่งย่อมเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ผู้เรียนที่มีหัวคิดฉลาดทางลัดไปปรึกษา “อาจารย์กู” ในบัดดล

กรณีผู้เรียนที่ฉลาดลัดในการแสวงหาความรู้หรือแม้แต่การวิเคราะห์วิจารณ์โดยอาศัย “อาจารย์กู”เรื่องนี้ทำให้นึกถึง “ศรีธนญชัย” ตัวละครในนิทานพื้นบ้านไทยเรื่องศรีธนญชัยที่เป็นคนมีบุคลิกฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เพียงแต่วิธีการที่ศรีธนญชัยใช้แก้ปัญหาต่างๆ คือ “วิธีการฉลาดแกมโกง” และไม่อายที่จะไม่คำนึงถึงจริยธรรมคุณธรรม ขอเพียงตนเองได้ผลประโยชน์เป็นพอ

จากบรรดาผู้ที่เดินทางมาดูงานด้านการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ผมได้ยินพวกเขาเล่าให้ฟังว่า “กูเกิลวิธี” เป็นวิธีการที่คนจำนวนหนึ่งในวงการการศึกษาไทยใช้อยู่ เผอิญผมไม่เคยเป็นอาจารย์ จึงไม่ทราบว่าเฉพาะอาจารย์ผู้สอนคนไทยนิยม “google gateway” (ทุกประตูสู่กูเกิล) กันกี่มากน้อย และที่รู้ว่าในส่วนของอาจารย์เองก็มีเหมือนกัน คือ รู้จากข่าวเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์งานด้านวิชาการ เช่น การลอกงานจากต่างประเทศมาโดยไม่ให้เครดิตทางวิชาการ นำงานที่ได้จาก google มาแปลเพื่อเสนอเลื่อนขั้นทางวิชาการโดยไม่อ้างแหล่งที่มา เอาชื่อของตัวเองไปใส่ในงานที่ลอกของคนอื่นมา เป็นต้น

แต่ที่ได้ยินมามากกว่านั้น คือ นักเรียนนักศึกษาไทยปัจจุบันจำนวนหนึ่งมี “พฤติกรรมศรีธนญชัย” โดยพึ่งพา “อาจารย์กู” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า plagiarism นั่นเอง

ในความเห็นของผม การค้นคว้าความรู้จากระบบ search engine เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตัวผู้ค้นคว้าเองในระดับหนึ่งและควรสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านนี้ แต่ใจความสำคัญที่เป็นข้อแม้ของเรื่องนี้กลับอยู่ที่ 2 ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง 

ประเด็นแรก ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ให้เครดิตกับเจ้าของความคิดที่ผลงานความคิดของพวกเขาปรากฏอยู่ในระบบออนไลน์ หรือแม้กระทั่งจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ระบบออนไลน์ก็ตาม 

เรื่องนี้เท่ากับเป็นขโมยผลงานหรือขโมยความคิด (ลองคิดดูว่า หากพระสงฆ์เป็นผู้กระทำ จะอยู่ในข่ายอทินนาทานหรือไม่?) โดยเฉพาะการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา หากนำงานหรือความคิดของคนอื่นที่มิใช่ความคิดของตนเองมาใช้ ผู้นำความคิดมาใช้คนนั้นๆ ต้องให้เครดิตกับเจ้าของงานทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำผลงานนั้นมาจากแหล่งใด งานที่ปรากฏอยู่ในระบบออนไลน์ก็มิใช่เป็นข้อยกเว้น หากบุคคลศรีธนญชัยมิได้ใส่ใจถึงประเด็นดังกล่าวกันแต่อย่างใด  ยังคงทำการขโมยความคิดและผลงานจากอาจารย์กูกันอย่างโจ่งแจ้งปราศจากความละอาย

ในปัจจุบันวงการวิชาการของสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบข้อความในงานเขียนของนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และระหว่างมหาวิทยาลัย (ก่อนหน้านั้นมีเครื่องมือตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการที่อยู่ในระบบออนไลน์ อย่างเช่น Turnitin)  เพื่อจับผิดศรีธนญชัยทั่วโลก โดยเฉพาะศรีธนญชัยในแวดวงวิชาการที่ต้องการเพียงเพื่อใบวุฒิการศึกษาของตน แม้กระทั่งศรีธนญชัยที่ต้องการเลื่อนขั้นทางวิชาการ ให้ขั้นหรือเงินเดือนของตนเองสูงขึ้น บวกความต้องการมีเกียรติในวงสังคมรวมอยู่ด้วย

ประเด็นที่สอง ปัญหาการใช้ข้อมูลผ่านระบบ search engine ทำให้เกณฑ์การตัดสิน ประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาอ่อนด้อยและขาดความยุติธรรม

ในประเด็นที่สองนี้ ผมมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ 

ข้อสังเกตแรก บุคคลศรีธนญชัยเป็นเหตุทำให้การประเมินผลการศึกษาของทั้งผู้เรียนที่ถูกประเมินโดยอาจารย์ผู้สอน และผู้สอน คืออาจารย์ที่ถูกประเมินจากผู้บริหารหรือส่วนงานมาตรฐานการศึกษา ต้องยุ่งยากและมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น

ข้อสังเกตที่สอง อาจารย์ประจำวิชาหรือผู้มีหน้าที่ประเมินผลการศึกษาเพื่อมาตรฐานการศึกษาต้องพิถีพิถัน รอบคอบและใส่ใจต่อผู้เรียนเป็นรายตัวมากขึ้น การประเมินแบบกลุ่มหรือการประเมินด้วยวิธีการเดิมๆ ที่ดูเพียงเอกสาร (กระดาษ) ที่ผู้เรียนหรือแม้แต่คณาจารย์ส่งให้กับผู้ประเมินนั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะการประเมินด้วยวิธีการดังกล่าว อาจารย์หรือผู้ประเมินผลจะไม่มีทางทราบว่า บุคคลใดเป็นศรีธนญชัยทางการศึกษา ลอกคนอื่นมา โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ได้รับความรู้หรือข้อมูลมาจากอาจารย์กู

เพราะเนื้อหาข้อมูลใน“อาจารย์กู” นั้น มีมากกว่าความรู้เสียด้วยซ้ำ คือ ทั้งการวิจัย การวิเคราะห์และการวิจารณ์อยู่เต็มพรืดไปหมด

สมมติอาจารย์ท่านหนึ่ง ประเมินผู้เรียนหรือลูกศิษย์คนหนึ่งโดยอ่านจากเอกสารที่นิสิตคนนั้นส่ง (อาจเป็นการบ้านหรืองานที่อาจารย์ให้ทำ) เพียงอย่างเดียว โดยไม่ดูพฤติกรรมเชิงความคิดที่แสดงออกอื่นๆ เช่น การตั้งคำถาม การแสดงความคิดเห็นโต้ตอบในชั้นเรียน หรือการคิดโครงการของตนเอง คำถามคือ อาจารย์ท่านนั้นจะสามารถทราบและประเมินลูกศิษย์แต่ละคนได้อย่างไรว่าลูกศิษย์คนนั้นมิใช่ศรีธนญชัยและมิใช่ลูกศิษย์ผู้แอบอยู่ข้างหลัง“อาจารย์กู”  โดยที่อาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้มีระบบเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบงานเขียนหรืองานวิจัยของผู้เรียนแต่ละคน??? 

นี่เป็นปัญหาเชิงปรัชญาการศึกษาในปัจจุบันที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาที่กล่าวถึงนี้ มิใช่เกิดขึ้นกับระบบและสถาบันการศึกษาของไทยเพียงอย่างเดียวแต่ “ศรีธนญชัยลิซึ่ม”ในยุคโลกาภิวัตน์ โดยอาศัย “อาจารย์กู” ยังเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาทั่วโลกแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาได้มีการวางแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหานี้เอาไว้ ผสมกับวัฒนธรรมการศึกษาที่เข้มแข็ง คือ ใช้วิธีการประเมินผลการศึกษาแตกต่างจากวิธีการประเมินผลการศึกษาของไทย

ขณะที่การประเมินผลการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการประเมินจากเอกสาร (กระดาษ) เพียงอย่างเดียว ซึ่งคงมีผู้แย้งว่า ระบบการศึกษาของไทยก็มีการประเมินในด้านอื่น เช่น พฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น แต่ความจริง คือ ความหมายของพฤติกรรมแบบการศึกษาไทยกับพฤติกรรมแบบการศึกษาของฝรั่งเป็นคนละเรื่อง 

การประเมินผลแบบไทยส่วนใหญ่จะเป็นการประเมินพฤติกรรมเชิงศีลธรรมของผู้เรียนเสียมากกว่า (ดังมีผู้เสนอนโยบายสมุดคุณธรรมของนักเรียน เป็นต้น) หรือที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ประเมินกันว่าใครเข้าอาจารย์ได้เก่งกว่ากัน แต่แบบฝรั่งเป็นการประเมินพฤติกรรมเชิงการแสดงออกทางความคิดมากกว่า แม้ความคิดของผู้เรียนไม่ตรงกับความคิดของอาจารย์ผู้สอนก็ตาม

ตัวอย่างเช่น การประเมินผลผู้เรียนในสหรัฐอเมริกา ที่เน้นไปที่ “การคิดสร้างสรรค์และบุคลิกภาพความเป็นตัวของตัวเองของนักศึกษา” มากกว่าการการประเมินผลจากกระดาษหรือรายงานการบ้านที่นักศึกษาส่งอาจารย์ ซึ่งแน่นอนว่า ในการประเมินผลการศึกษาย่อมเลี่ยงกระดาษ (เอกสาร) ไม่พ้น เพียงแต่ระบบการประเมินผลผู้เรียนในปัจจุบันของโลกตะวันตกถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคำถึง “ความยุติธรรมของการประเมินผลการศึกษา” เป็นส่วนสำคัญด้วย แสดงให้เห็นถึงการใส่ใจต่อตัวผู้เรียนของอาจารย์ผู้สอนในมิติที่ละเอียด เพื่อพัฒนาคนแต่ละคนให้ไปเข้าอยู่ในระบบงานที่ถูกต้องเหมาะสมและมีคุณภาพ ดังนั้นโอกาสในการเล็ดลอดออกไปสู่โลกของการทำงานนอกรั้วสถาบันการศึกษาโดยอาศัยวุฒิบัตรของสถาบันการศึกษาเป็นใบเบิกทางของ “บุคคลศรีธนญชัย” จึงย่อมยากตามไปด้วย

“ความยุติธรรมทางการศึกษา” เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้สอน หรือหากเป็นในระดับมหภาค (ระดับนโยบาย) ก็คือ ความน่าเชื่อของผู้ทำหน้าที่ประเมินการศึกษา ที่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการจัดสรรงบประมาณด้านศึกษา และที่สำคัญก็คือ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน โดยที่ประเทศตะวันตกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เห็นได้จากการคัดสรรแยกแยะกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถของแต่ละคน ตามเกณฑ์การประเมิน คือ เน้น “มีปัญญา ซื่อสัตย์ กระบวนทัศน์ต่างกัน” มิใช่ตามเกณฑ์ “ปัญญาศรีธนญชัยอาศัยอาจารย์กู”


เรื่องนี้ส่งผลต่อระบบการศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร?

แน่นอนว่า ระบบการประเมินผลขนาดเล็กอย่างการประเมินในชั้นเรียนก็ต้องเปลี่ยนไป โดยคำนึงประเด็น ๒ ประเด็นที่กล่าวมา ขณะที่ระบบการประเมินผลในเชิงนโยบายก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ในเชิงเทคนิคยังหมายถึงการนำเทคโนโลยีมาจับ “การคอร์รัปชั่นความคิด(ของผู้อื่น)” ทั้งที่ปรากฏในกรณีของอาจารย์กูและจากแหล่งอื่นก็ตาม ทั้งนี้เพื่อการประเมินผลการศึกษาจะได้ตรงกับความเป็นจริงและยุติธรรมกับผู้เรียน หรือแม้แต่กับครูอาจารย์ที่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส

ต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องดี “อาจารย์กู” ว่าที่จริงแล้วโดยตัวของอาจารย์กูเองก็เป็นสิ่งดี และจำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ เพียงแต่ในโลกการศึกษาเรามีบุคคลศรีธนญชัยอยู่จำนวนหนึ่งที่คอยทำให้การประเมินผลการศึกษาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ที่สำคัญคือ ศรีธนญชัยเหล่านี้ได้ทำให้ระบบการศึกษาและจริยธรรมในวงวิชาการเสื่อมลง

เป็นความเสื่อมทั้งตัวผู้เรียน เสื่อมทั้งตัวผู้สอน เสื่อมทั้งสถาบันการศึกษา และเสื่อมระบบการศึกษาของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น