วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี 10 เอ็นจีโอปีนสภา สนช.2550

จอน อึ๊งภากรณ์ แถลงหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีปีนสภา สนช.2550
            ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 'จอน อึ๊งภากรณ์' กับพวก คดีปีนสภาค้านการออก กม.ที่ของ สนช.ปี 50 ชี้ ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 10 คนขึ้นไป - ไม่เป็นการบุกรุก เจ้าตัวย้ำ กม.ที่กระทบ ปชช.ต้องออกโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
            26 พ.ย. 2557 เมื่อเวลา 10.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีปีนเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัย 3 ประเด็น
  • 1. ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวาย ชี้เมื่อพิเคราะห์มูลเหตุแห่งคดี จำเลยกระทำการเพื่อคัดค้าน สนช.ว่าไม่ควรเร่งออกกฎหมาย และให้รอสภาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ เมื่อมีการยกเลิกประชุม สนช. ไปแล้ว จำเลยและผู้ชุมนุมก็ออกจากสภาไป โดยไม่ได้ทำให้รัฐสภาเสียหาย จึงขาดเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย
  •  2. เมื่อไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 10 คนขึ้นไป ความผิดฐานเป็นหัวหน้าชุมนุม จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีก 
  •  3. ไม่เป็นการบุกรุก เพราะความผิดนี้ต้องมีเจตนาเพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ชุมนุม-จำเลย ไม่ได้เข้าไปเพื่อถือการครอบครองหรือรบกวนอสังหาริมทรัยพ์ แต่เพื่อแสดงจุดยืนค้านการออกกฎหมายต่อ สนช. โดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงขาดเจตนาฐานบุกรุก

          ก่อนหน้านี้ (28 มี.ค. 2556) ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุม บุกรุก ใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหากบฏ ล้มล้างขัดขืนไม่ให้มีการออกกฎหมายนั้นให้ยกฟ้อง ตัดสินให้ลงโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 ซึ่งถือเป็นผู้นำการชุมนุม จำคุก 2 ปี ปรับ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 9, 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุให้ลดโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและการกระทำการครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ให้รอการลงโทษ 2 ปี
            จอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยที่หนึ่ง กล่าวว่า ดีใจที่ศาลอุทธรณ์เข้าใจจุดมุ่งหมายของประชาชนที่อยากให้กฎหมายที่จะกระทบประชาชนควรเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อยากฝากถึง สนช.ด้วยว่า สภาที่มาจากการแต่งตั้งไม่ควรออกกฎหมายที่กระทบกับเสรีภาพประชาชน 
 
            เมื่อถามว่าหากมีการกระทำเช่นนี้อีกจะใช้คำพิพากษาคดีนี้เป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่ จอนตอบว่า ต้องดูบริบทว่าเป็นอย่างไร เป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาอาจมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่เปิดให้ทำเช่นนี้ได้อีก นอกจากนี้ สนช.ปัจจุบันก็กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม ที่เสนอโดย สตช. ซึ่งจะมีการกำหนดห้ามการชุมนุมบริเวณรัฐสภา ซึ่งน่าเป็นห่วง
 
           สาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่สองกล่าวว่า การตัดสินวันนี้เป็นการยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก และทำให้เห็นบรรทัดฐานว่าประชาชนต้องมีช่องทางในการแสดงออก หากประชาชนถูกกดหัวไม่ให้เคลื่อนไหว จะเป็นอันตรายต่อประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล 
 
           สาวิทย์ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดๆ เมื่อประชาชนเห็นพ้องกับการปฏิรูปแล้ว รัฐบาลก็ควรเปิดใจกว้าง เปิดเวทีฟังเสียงคนเล็กคนน้อย หาพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก ไม่ใช่ใครออกมาตำหนิก็กล่าวหาว่าเป็นการบ่อนทำลาย รัฐเองก็มีกลไก-สายข่าว ที่รู้เจตนาของแต่ละคนอยู่แล้ว ย้ำว่าบ้านเมืองจะสงบ รัฐบาลต้องฟังและให้สิทธิ ไม่ใช่ใช้แต่อำนาจ
 
            หนึ่งในทนายความจำเลย กล่าวว่า นี่เป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เปิดแนวใหม่ เนื่องจากเมื่อก่อน ศาลจะดูแต่กฎหมายอาญาอย่างเดียว เวลาที่มีการฟ้องจำเลยข้อหาเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง แต่ครั้งนี้ศาลชี้ว่า ต้องดูให้ลึกว่าเจตนาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
 ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ ประกอบด้วย
  •  จำเลยที่ 1 จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
  • จำเลยที่ 2 สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
  • จำเลยที่ 3 ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ
  • จำเลยที่ 4 พิชิต ไชยมงคล อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
  • จำเลยที่ 5 อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว
  • จำเลยที่ 6 นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่
  • จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
  • จำเลยที่ 8 ไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • จำเลยที่ 9 สารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
  • จำเลยที่ 10 สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กสทช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น