11 ธ.ค. 2557 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ได้รับความสนใจจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้มีการอภิปรายและตั้งข้อสังเกตกันอย่างหลากหลาย เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอในการวางยุทธศาสตร์บริหารจัดการยาง การจัดโซนนิ่ง การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนและการปลูกใหม่ ที่มองว่าควรต้องจำกัดการปลูก เรื่องของการวิจัย พัฒนา ศึกษาวิเคราะห์ควรต้องครอบคลุมครบวงจรทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ต้องการให้เพิ่มผู้แทนจากองค์กรต่างๆ เข้าไปในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อาทิ ผู้แทนจากด้านอุตสาหกรรม ด้านต่างประเทศ และควรเพิ่มสัดส่วนเกษตรกรสวนยาง/ผู้ประกอบกิจการยาง ควรประสานกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปลูกยางพารา เพื่อร่วมมือกันเพิ่มมูลค่าของราคายางพาราให้สูงขึ้น วางแนวทางนำยางพารามาประยุคต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตยางลดตลาด พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนะไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้หยิบยกผลการศึกษาของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดที่ผ่านมา ที่เคยศึกษารวมรวมไว้แล้วมาประกอบการพิจารณาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการ พิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างมาก
ขณะที่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาเห็นว่า มีการยกเลิกกฎหมาย 8 ฉบับ แล้วนำมาเขียนรวมเป็นฉบับใหม่ยังมีประเด็นปัญหาข้อเทคนิคทางกฎหมายนอกเหนือ จากที่สมาชิก สนช.เสนอแนะอีกมาก จึงต้องการฝากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยเฉพาะผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ด้านอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงว่า จะพยายามอุตช่องโหว่ของการออกกฎหมายตามที่สมาชิก สนช.เสนอ และจะไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องของการควบรวมหรือยุบองค์กรเดิมที่เป็นของรัฐและ รัฐวิสาหกิจ การโอนย้ายบุคลากรและทรัพยากรจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่ส่งผลกระทบ ต่องบประมาณของแผ่นดิน รวมถึงจะได้โอนงานที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างประเทศมาไว้ในองค์กรใหม่ด้วย เพื่อให้การประสานกับประเทศเพื่อบ้านง่ายขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่า เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ราคายางพาราจะไม่ลดต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่แน่นอนและจะพยายามไม่ให้ราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม
หลังที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย เสนอแนะและตั้งข้อสังเกตในร่าง พ.ร.บ.การยางฯ แล้ว ที่ประได้มีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยคะแนน 173 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้น 25 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ 15 คน จาก กมธ.การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน 5 คน จากคณะรัฐมนตรี 5 คน ใช้เวลาแปรญัตติ 7 วัน กรอบการดำเนินงาน 30 วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น