วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สำรวจตลาดไอเดีย มีอะไรขายบ้างในการปฏิรูป


9 ธ.ค.เมื่อหนึ่งปีก่อน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจตัดสินใจให้กับประชาชน ซึ่งถึงที่สุดแล้วการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย กลับไม่ได้เป็นการดึงเกมส์กลับเข้าสู่สนามการเมืองในระบบ อาจพูดได้ว่าเป็นเพราะผู้เล่นอีกฝ่ายไม่ยอมลงเล่นด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่การตัดสินใจเดินเกมส์นอกสภาครั้งนั้นของพรรคประชาธิปปัตย์ และกลุ่มแกนนำ กปปส. ได้นำไปสู่กระแสความคิดที่ว่าด้วย “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และนำพาเรามาสู่อนาคตที่เป็นอยู่อย่างวันนี้
ผ่านจากวันนั้นมา 1 ปี เราอยู่ในประเทศที่กำลังมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ และที่สุดแล้วพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขอเดินเข้ามาเพื่อคืนความสุข/รัฐประหาร แน่นอนเราเริ่มได้เห็นกระบวนการปฏิรูป ก่อรูปก่อร่างชัดเจนขึ้น ทว่ายังไม่เห็นเค้าโครงของการเลือกตั้งมีแน่ชัดว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด และก่อนจะไปถึงวันที่อำนาจกลับมาอยู่ที่บัตรเลือกตั้งอีกครั้ง เราจำเป็นต้องผ่านการปฏิรูปภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหารครั้งนี้ไปก่อน
เรื่องที่น่าสนใจนอกจากคำถามใหญ่ว่า ใครเป็นคนปฏิรูป และมีความยึดโยงกับประชาชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งถึงที่สุดแล้วการพูดเรื่องนี้ กลายเป็นเพียงการระลึกถึงอดีตอันใกล้ที่ไม่แก้ไขอะไรได้อีก เรื่องที่น่าสนใจและจับตามองต่อไปคือ ภายใต้การปฏิรูปครั้งนี้ซึ่งได้มีการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นนำเสนอความคิดเห็น และจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พวกเขามีไอเดีย แนวคิดอย่างไรบ้าง ต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเราทุกคน

เปิดตลาดสินค้าไอเดีย

สองเดือนภายหลังจากการรัฐประหาร ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งโดยหลักการรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการวางโครงร่างของการปฏิรูปประเทศไทย  ถึงวันนี้เรามีสถาบันทางการเมืองครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุ และพร้อมที่จะเดินเครื่องปฏิรูปอย่างเต็ม ล่าสุดเราได้เริ่มเห็นไอเดียในการปฏิรูปประเทศออกมาบ้างแล้ว จะเป็นไอเดียอะไร แบบไหนบ้าง ประชาไทรวบรวมสินค้าบางส่วนในตลาดไอเดียบางส่วนมาเสนอ จะถูกใจประชาชนทุกคนหรือไม่ เห็นจะมีช่องทางเล็กๆให้แก้ไขได้อยู่บ้าง ผ่านทางศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเปิดไปควบคู่กับการบังคับใช้กฏอัยการศึก...
นวัตกรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ นายกทางตรง ส.ว. กลุ่มวิชาชีพ
9 ธ.ค.  สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ได้ออกมาแถลงถึงข้อเสนอให้มีการเลือกต้องนายกทางตรงว่า ได้มีเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ผ่านการปฏิรูปการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีทางตรง โดยให้คณะผู้สมัครต้องระบุชื่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ให้ประชาชนรับรู้ก่อนจะมีการเลือกตั้ง และถ้าหากผลการเลือกตั้งปรากฏว่า การเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครจากคณะใดได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของประชาชนที่มาใช้สิทธิ์ ก็ให้จัดเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งโดยนำคณะที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง และอันดับสองมาแข่งขันกันอีกครั้ง ซึ่งกรรมาธิการเชื่อว่า วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ชนะการเลือกตั้งได้รับการยอมรับมากขึ้น พร้อมทั้งแก้ปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้
ในส่วนของการเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฏร์นั้น ได้มีการเสนอให้มี ส.ส. ทั้งหมด 350 คน โดยไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยจะมีที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละไม่เกิน 3 คน ซึ่งข้อดีของการเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้ ส.ส. สามารถลงพื้นที่พบปะประชาชนได้ง่ายกว่าระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นจังหวัดใหญ่ หรือแบบภูมิภาค ขณะที่ ส.ว. ให้มีทั้งหมด 154 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัด 77 คน  และมาจากการเลือกตั้งภายในกลุ่มวิชาชีพจำนวน 77 คน และเสนอให้เปลี่ยนบทบัญญัติใหม่ให้การเลือกตั้งจากหน้าที่เป็นสิทธิ ซึ่งประชาชนจะใช้หรือไม่ก็ได้
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปฏิรูปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยกำหนดให้ที่มาของ  ป.ป.ช. ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว รวมถึงต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปฏิรูประบบและกลไกการสอบสวนคดี เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเสนอให้โอนหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาค รัฐ หรือ ป.ป.ท. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. มาอยู่ในสังกัด ป.ป.ช. เพื่อให้มีอิสระและไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง อีกทั้งยังให้อำนาจป.ป.ช. ในการร้องคดีได้เองไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดและคดีไม่มีอายุความ
ส่วนการปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง  หรือ กกต. ได้เสนอให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และได้เพียงวาระเดียวเช่นกัน พร้อมให้อำนาจ กกต. ในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้ให้อำนาจ กกต. ในการให้ใบเหลือง-ใบแดง โดยให้ยื่นคำร้องต่อศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด และเมื่อศาลรับคำร้อง ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไม่ได้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยยกฟ้อง
ทั้งนี้ในเรื่องข้อเสนอทั้งหมด เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง ก่อนยืนส่งข้อเสนอให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป
เลือกตั้งแบบใหม่ เยอรมันโมเดล ยาแรงกันอำนาจพรรคการเมือง
30 พ.ย. ที่ผ่านมา นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ได้เสนอ โมเดลการเลือกตั้งแบบเยอรมนี ในที่ประชุมที่มี สุจิต บุญบงการ ประธานอนุกรรมาธิการ โดยระบุว่า วิธีการเลือกตั้งแบบเยอรมนี จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนมีค่า ไม่ถูกตัดทิ้ง รวมถึงจำนวนผู้แทนของแต่ละพรรคการเมืองจะสอดคล้องต่อเสียงประชาชน
อีกทั้งระบบนี้จะเอื้อให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีโอกาสได้ ส.ส. มากขึ้น เพราะระบบการนับคะแนน จะคิดจากคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งของไทย ทั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ ปี 50 ที่เป็นระบบแบบแถมให้พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่าไร ก็ให้ไปรวมกับสัดส่วนที่ได้จากบัญชีรายชื่อทั้งหมด แต่ระบบนี้จะคิดจำนวนผู้แทนฯ จากระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก และที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงจากการเลือกตั้งได้
บริหารราชการแผ่นดิน เน้นจริยธรรม เสนอคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงถึง 5 ประเด็นหลักที่เตรียมจะเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมอันประกอบด้วย
1.ให้มีการจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ โดยมีอำนาจในการพิจารณาหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ คัดเลือกสรรหาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เป็นคนเก่ง และคนดีเข้ามาทำงาน
2.การปฏิรูประบบงบประมาณ เสนอให้มีการจัดระบบตามภารกิจ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ ภายใต้กรอบทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3.การปฏิรูปทางด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของระบบราชการ เสนอว่ารัฐไม่ควรเข้าไปแข่งขันกับเอกชนในการดำเนินงาน ควรทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนกำกับดูแลมาตรฐานและประกันโอกาสการเข้าถึง บริการประชาชนเท่านั้น
4.การปฏิรูปที่เกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตภารกิจอำนาจหน้าที่และจัดดุลความสัมพันธ์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น
5.การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ เสนอให้มีการระบุข้อความในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชัดเจนในบทบาทของรัฐด้านความมั่นคงให้รวมถึงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และป้องกันประเทศอันเป็นผลประโยชน์ของชาติ กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนแนวทาง การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมระยะปานกลางต่อไป
มาตรการปราบโกง เพิ่มอำนาจประชาชน และลงดาบพรรคการเมือง หากตัวแทนพรรคทุจริต
4 ธ.ค. ที่ผ่านมา วสันต์ ภัยหลีกลี้เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้แถลงถึงข้อเสนอที่จะยื่นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมโดยจะมีเสนอให้ประชาชนมีสิทธิพื้น ฐานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะและในการร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการติดตามร้องขอตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ยังได้เสนอในส่วนของหน้าที่ของพลเมือง ให้ประชาชนมีสิทธิหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ รวมถึงสิทธิหน้าที่ในการป้องกันปฏิเสธและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้นำการเมือง กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ รวมทั้งมีสิทธิในการถอดถอนนักการเมืองได้ และพรรคการเมืองจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อพฤติกรรมและผลงานการทุจริตของบุคคล ที่เป็นตัวแทนของพรรค พร้อมมีบทลงโทษในกรณีซื้อสิทธิ์ขายเสียงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐมีหน้าที่จัดการปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในการ บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งให้มีการปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ และเงินกู้ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และการตรวจสอบการใช้อำนาจ องค์กรอิสระสามารถใช้อำนาจสอบสวนและฟ้องคดีได้เอง
เสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ กรอบเวลา 5-10 ปี ย้ำเรื่องนิรโทษยังไม่ได้ลงลึก
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณารายงานข้อเท็จจริงคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 10 ที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการ ว่า ได้มีการแบ่ง การพิจารณาเป็น 2 ส่วนคือ
1.การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี
2.การสร้างความปรองดอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  โดยอนุกรรมาธิการเห็นว่าควรมีการเสนอหลักการสำคัญที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญ โดยให้มี “คณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ”โดยมีเหตุผลจากความขัดแย้งที่ เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นรูปแบบของนิติบุคคล อยู่ภายใต้รัฐสภา มีอิสระทางงบประมาณคล้ายสถาบันพระปกเกล้า อาจกำหนดเฉพาะกาลให้ “คณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ”มีระยะเวลาดำเนินการ 5-10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำแผนเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ และติดตามสถานการณ์ความขัดแย้ง หาทางออก เยียวยา ปัญหาในอดีต
คำนูณให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อนุกรรมาธิการได้เสนอให้ยกเลิก “คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ”ที่ตั้งขั้นโดยระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ พ.ศ.2550 ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ อาจซ้ำซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ประสานงานร่วมมือกันดำเนินงานแล้วแต่ละกรณี
สำหรับกรณีเรื่องการนิรโทษกรรม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีการพิจารณาลงไปในรายละเอียด แต่หากจะมีการพิจารณานิรโทษกรรม จะต้องพิจารณากำหนดขอบเขตคดี เงื่อนเวลา ขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และเป็นเรื่องของ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติที่จะต้องเป็นผู้ พิจารณารายละเอียด  ซึ่งรายละเอียดต่างๆยังอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
10 ข้อเสนอปฏิรูปสื่อสารมวลชน เสรีภาพเป็นหลัก ปราศจากการแทรกแซง และลดความเกลียดชัง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา เตือนใจ สินธุวณิก โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทศโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ออกมาแถลงข่าวว่า ทางคณะทำงานเตรียมเสนอ 10 ประเด็นในการปฏิรูปสื่อฯ ให้บรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันประกอบด้วย
1. รธน. ต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ในการแสดงความคิดเห็น การพูด เขียน พิมพ์ โฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ รวมถึงสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึง เสมอภาค
2.เงื่อนไขในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด เขียน พิมพ์ โฆษณาและการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นของประชาชนและสื่อมวลชน            
3.สื่อมวลชนย่อมได้รับหลักประกันความเป็นอิสระที่จะไม่ถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน
4.การคุ้มครองเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ สวัสดิการของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน
5.ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านจริยธรรมและกลไกกำกับกันเองของสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม
6.คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะและให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ
7.แนวทางการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป
8.ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน
9.ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ และ
10.การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง
ปฏิรูปการศึกษาด้วยมาตราการทั้ง 7 เน้นบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทยที่ดี
เมื่อวัน 3 ธ.ค. ที่ผ่านมานายอมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกมาเผยว่า ทางคณะทำงานได้มีเตรียมการยื่นเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นที่จะนำเสนอทั้ง 7 ประเด็น ประกอบด้วย
1.รัฐต้องกำหนดให้การศึกษาเป็นนโยบายระดับชาติที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยต้องมีความเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาทุกด้าน
2.ปรับเปลี่ยนและลดบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน กำกับนโยบาย แผน มาตรฐานและติดตามประเมินผลและส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการศึกษา
3.ส่งเสริมความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษาให้สามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.การจัดการศึกษาต้องสร้างความเป็นธรรมขจัดความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพียงพอต่อการได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพแก่ผู้เรียน
5.การจัดการศึกษาต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นสากลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้และความสามารถในการประกอบอาชีพการงานของบุคคลตลอดชีวิต
6.ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ในสังคมไทย โดยให้มีแหล่งเรียนรู้และสื่อสาธารณะด้านการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรมและศาสนา เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทยที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรม
7.นโยบายการศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง โปร่งใส ตรวจสอบได้และปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากกลุ่มผลประโยชน์
ดันกีฬาเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หวังสร้างความสามัคคีและความภูมิใจในชาติ
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการกีฬา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน เตรียมเสนอให้การร่างรัฐธรรมนูญกำหนด “การกีฬาเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” โดยขอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่เป็นแนวนโยบายด้านการกีฬา ที่ควรระบุมาตรา..ซึ่งมีข้อความ ให้รัฐต้องดำเนินการด้านการกีฬา ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาการกีฬาเพื่อพัฒนาสุขภาพ คุณภาพชีวิต จิตใจ รวมทั้งสร้างความสามัคคีและความภาคภูมิใจของคนในชาติ จัดให้มีโครงสร้างและการบริหารจัดการด้านการกีฬาในทุกระดับที่ทันสมัย มีมาตรฐาน อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเพียงพอ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนด้านการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของชาติ
นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ระบุ มาตรา ..ซึ่งกำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการได้รับบริการด้านการกีฬาจากรัฐ อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเพียงพอ ลงในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง พร้อมกันนี้ กรรมาธิการกำหนดตั้งคณะอนุกรรมาธิการอีก 1 คณะ เป็นคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้าน ปฏิรูปการกีฬา เพื่อทำหน้าที่จัดโครงการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนเกี่ยว กับการปฏิรูปด้านการกีฬาของประเทศให้ครอบคลุมจากทุกภาคส่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น