วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แอมเนสตี้ฯ ชี้ ปราบปรามเสรีภาพในการพูดทำให้เกิด 'วงจรความเงียบงัน'

11 ธ.ค. 2557 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์กรณีประเทศไทย เรื่อง การปราบปรามเสรีภาพในการพูดทำให้เกิด “วงจรความเงียบงัน” เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปี โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยยุติพฤติการณ์ที่ขาดความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ชี้การปฏิเสธไม่ให้พื้นที่เพื่อการถกเถียง และการคุมขังผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ โดยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวด จะไม่ช่วยนำไปสู่ “ความปรองดองแห่งชาติ” ตามที่ทางการสัญญาว่าจะทำให้เกิดขึ้น
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์
9 ธันวาคม 2557
ไทย: การปราบปรามเสรีภาพในการพูดทำให้เกิด “วงจรความเงียบงัน” 
รัฐบาลทหารของไทยต้องยุติพฤติการณ์ที่ขาดความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวล่วงหน้าก่อนวันสิทธิมนุษยชนสากลในวันที่ 10 ธันวาคม
“เรากำลังเห็นวงจรแห่งความเงียบงันเกิดขึ้นในประเทศไทย มีการเพิ่มเงื่อนไขอย่างต่อเนื่องเพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูดและปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาสังคมที่เคยมีความเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง” ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
“การปฏิเสธไม่ให้พื้นที่เพื่อการถกเถียง และการคุมขังผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ โดยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวด จะไม่ช่วยนำไปสู่ “ความปรองดองแห่งชาติ” ตามที่ทางการสัญญาว่าจะทำให้เกิดขึ้น”
ทางการมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีการเซ็นเซอร์ที่ครอบคลุมไปถึงแม้แต่การจัดงานสัมมนาทางวิชาการและการควบคุมสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่มักโทรศัพท์ไปหาบรรณาธิการ และในช่วงหลายสัปดาห์มีการข่มขู่พวกเขาว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดี หากมีการละเมิดเงื่อนไขจำกัดเนื้อหาข่าวที่สามารถรายงานได้
ยังคงมีการห้ามการชุมนุมของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีการควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างสงบ 19 คน จากการ “ชูสามนิ้ว” แบบในภาพยนตร์ ”Hunger Games” และอีกแปดคนถูกควบคุมตัวเพราะแจกใบปลิว
“วันสิทธิมนุษยชนสากลเป็นโอกาสที่ประชาชนทั่วโลกฉลองความก้าวหน้าในการบรรลุสิทธิมนุษยชน น่าเสียดายที่ประเทศไทยแทบไม่มีอะไรให้ฉลองเลยในปีนี้” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
“ควรมีการนำข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ และให้มีการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสมบูรณ์ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นับแต่ทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมในปีนี้ มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 24 คนฐานละเมิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การจับกุมบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างผิดปรกติ โดยมีอย่างน้อย 12 คนถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และตำรวจแจ้งว่าอาจมีการจับกุมเพิ่มเติมอีกหลายสิบคน และจะมีการตั้งข้อหาก่อนสิ้นปีนี้
“ต้องมีการยุติการปฏิบัติมิชอบในกระบวนการยุติธรรม และการใช้กฎหมายเผด็จการอย่างไม่บันยะบันยัง รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที เพราะเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
              
“กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีเนื้อหากำกวม มุ่งลงโทษการแสดงความเห็นอย่างสงบ และละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิที่ประเทศไทยต้องให้การคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ควรมีการชะลอการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ทันที และแก้ไขเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย”
              
ผู้ถูกจับกุมตามกฎหมายฉบับนี้ต้องเข้ารับการไต่สวนแบบลับในศาลทหาร ทั้งยังมีการสั่งห้ามไม่ให้มีผู้สังเกตการณ์คดี และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
ในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษตามข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะเป็นคดีที่แปดนับจากมีรัฐประหาร นายประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมเป็นเวลาห้าปี และลดโทษเหลือ 30 เดือนจากคำพูดที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ในอีกคดีหนึ่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม มีรายงานข่าวว่า ทางการได้เรียกตัวสตรีท่านหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อสอบปากคำ หลังจากเธอโพสต์รูปตัวเองพร้อมกับเพื่อนใส่ชุดดำในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม
ผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลมักอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงของรัฐ” นับแต่ถูกจับกุมเมื่อปี 2554 นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิยตสารได้ถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนมกราคม 2556 และที่ผ่านมาศาลปฏิเสธการขอประกันตัว 16 ครั้ง รวมทั้งในช่วงที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพิจารณาว่าบุคคลใดๆ ที่ถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบเป็นนักโทษด้านความคิด พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น