วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

ยุกติ มุกดาวิจิตร: มองรัฐประหารในระยะใช้ ม.112เพื่อเปลี่ยนผ่าน


นับถึงตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการกับผู้กระทำที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แล้วกว่า 1 หมื่นราย แถมสตช.และหลายหน่วยงานยังวางมาตรการเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนมากขึ้น
แต่ตัวเลขผู้กระทำความผิดก็ไม่ได้ลดลงเลย หลังรัฐประหารตัวเลขกลับเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจผู้กระทำความผิดในคดีนี้กลับไม่ถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยมีการย้ายการพิจารณาคดีเหล่านี้ไปยังศาลทหาร “ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร” อาจารย์พิเศษภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา มองปรากฏการณ์นี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหารในคดีเหล่านี้อย่างน่าสนใจ

ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
มีการใช้กฎหมายนี้ประกอบกับเหตุผลของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง แทบทุกครั้งมักอ้างว่า เพื่อปกป้องสถาบัน แต่คราวนี้ต้องแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ครั้งนี้จะเห็นการไล่ล่าด้วยการอ้างกฎหมายอาญามาตรา 112 มากเป็นพิเศษ ชัดเจน และจริงจังเป็นพิเศษ เป็นที่น่าสังเกตแตกต่างการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ค่อนข้างชัดเจน กลุ่มคนที่ถูกไล่ล่าก็น่าสนใจ เพราะมีการกระจายไปของคนหลายๆ กลุ่ม ในภาพรวมค่อนข้างชัดเจนว่า คนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน พร้อมกับว่า เขามักเป็นกลุ่มคนต่อต้านการรัฐประหารไปด้วย เหมือนกับว่าในแง่หนึ่ง ก็คือ คดี 112 ถูกเอามาใช้เป็นข้ออ้างที่จะกีดกันการต่อต้านการรัฐประหารไปในตัว
หลังรัฐประหารมีการไล่ล่าเกิดขึ้นเข้มงวดมองว่า เป็นเพราะอะไร
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ความชอบธรรมในการรัฐประหารครั้งนี้มีค่อนข้างต่ำ จึงต้องหาแหล่งอ้างอิงที่จะปกป้องตัวเอง แต่ทุกครั้งจะต้องอ้างเรื่องนี้แหละ แต่คราวนี้มันไม่ใช่ชัดเจน อย่างการรัฐประหารคราวที่แล้วก็จะไปจัดการนักการเมืองมากกว่า เช่น การยึดทรัพย์ กระบวนการยึดทรัพย์โดดเด่นมาก มีความพยายามดำเนินคดีกับการเมืองเป็นจำนวนมาก แต่คราวนี้น้อยหรือแทบไม่มีเลย เราจะเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนไล่ล่าคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ก็ไม่มีเสียง แต่เรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์กลายเป็นประเด็นใหญ่มากขึ้น เหมือนกับว่า เขาเปลี่ยนเป้าหมายของการรัฐประหาร หมายถึงเปลี่ยนเหตุที่จะมาอ้างการรัฐประหารเป็นเรื่องปกป้องสถาบันมากกว่า
“ผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ อาจจะมีการกีดกันนักการเมืองมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ถูกลิดรอน แต่ประเด็นที่ถูกนำมาชู คือ เรื่องสถาบัน ผมคิดว่า ถึงที่สุดมันเป็นสิ่งที่เขาแสดงให้เห็นว่า เขาทำบางอย่างจริงจังและมาลงตัวที่เรื่องสถาบันมากกว่า จึงถือเป็นข้ออ้างเพื่อให้การรัฐประหารมีข้ออ้างที่สมบูรณ์มากขึ้น”
จากการรวบรวมสถิติของเว็บไซด์ไอลอว์จะเห็นว่า การดำเนินคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นสถาบันตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องไปขึ้นศาลทหารแทนที่จะต้องขึ้นศาลยุติธรรมตามขั้นตอนปกติ ถือเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยและอาจทำให้กฎหมาย 112 น่ากลัวมากยิ่งขึ้นหรือไม่
ผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 หรือเรื่องเกี่ยวกับสถาบันที่มีการนำพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ด้วยถือเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินคดีออกไปทำให้มีปัญหามากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนรัฐประหารแล้ว อย่างที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.) พยายามเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ เพราะเห็นว่า มีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีตั้งแต่ต้น ไม่ว่า เรื่องการจับกุม การรายงาน การแจ้งข้อกล่าวหา การไม่ให้ประกันตัว และการให้เหตุผลในคำตัดสิน
การย้ายการพิจารณาคดีในศาลทหารก็ยิ่งตอกย้ำการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากขึ้น เพราะศาลทหารไม่ใช่ศาลพลเรือนและยังมีสัดส่วนทหารมานั่งในคณะผู้พิพากษาด้วย ทำให้กระบวนการยุติธรรม มุมมองการตัดสินดำเนินคดีก็จะเอนเอียงไปด้านที่ไม่ให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีนี้ก็จะไม่ได้รับการประกันตัว เหมือนกับถูกตั้งธงไว้ก่อน เห็นได้จากคำพิพากษาที่มีมาก่อนหน้านี้
คดีอากง (นายอำพล ตั้งนพกุล) ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น แม้ว่าตอนนั้นไม่ได้ใช้ศาลทหาร เราก็สงสัยในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วว่า การที่อากงไม่ได้รับการประกันตัวหมายความว่าอย่างไร ผมเคยเป็นคนหนึ่งที่ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการอีกหลายคน ใช้ตำแหน่งไปขอประกันตัวอากง แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนหนึ่งเหมือนกับว่าคนที่ผ่านกระบวนการนี้ก็ไม่ค่อยได้รับความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งมีการพูดว่า คนที่ทำผิดก็ไม่ยอมรับผิด ทั้งที่ความจริงหลักของกระบวนการยุติธรรมต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คนที่ถูกกล่าวหาทำผิดจริง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ถือว่า เขาไม่ผิด
“การที่ย้ายไปพิจารณาคดีนี้ในศาลทหารก็ยิ่งจะทำให้คดีเหล่านี้และสถานะเรื่องสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ”
ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พยายามใช้กระบวนการนี้มาดำเนินการกับผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันมากขึ้น ความชอบธรรมในการใช้กฎหมายมาตรานี้จับกุมแล้วส่งศาลทหารจะลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในอนาคตหรือไม่ รวมทั้งจะส่งผลโดยตรงต่อคณะผู้ก่อการรัฐประหารหรือไม่
ผลจะใหญ่กว่านั้นด้วยซ้ำ ผมคิดว่า ผู้ก่อการรัฐประหารเขาคงไม่แคร์อะไรอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทั้งการปิดเว็บไซด์ของฮิวแมนไรท์วอร์ชและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางก็ทำให้เห็นว่า เขาคงไม่แคร์อะไร แต่ความเสียหายจะใหญ่กว่านั้น คือ ความเสียหายจะไปถึงตัวสถาบันที่ปล่อยปละละเลย คนจะมองว่า จริงเหรอที่ไม่มีใครสามารถแสดงออกได้เลย ไม่ใช่สิ่งที่ดีกับสถาบันเลย ขณะเดียวกันการที่เราไม่สามารถพูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ แม้ว่าจะไม่ต้องไกลถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นประเด็นฟ้องร้องกันอยู่ อาจจะแค่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ทำไม่ได้เลยหรืออย่างไร เพราะตอนนี้ดูเหมือนพยายามขยายการคุ้มครองสถาบันไปกว้างมาก
“มันบิดเบือนไปหมดแล้ว ตรงนี้มีผลใหญ่มาก ทั้งต่อตัวสถาบันเองและสังคมไทยโดยรวม เพราะประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าเราไม่สามารถพูดถึงกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ ความรู้ของสังคมไทยก็จะมีปัญหาแน่นอน เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่มันเกิดขึ้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ วันหนึ่งอาจมีคนมาบอกว่า ข้อเสนอที่ว่าศิลาจารึกหลักที่หนึ่งเป็นจารึกปลอมถือเป็นการหมิ่นสถาบัน แล้วก็มีการฟ้องร้องกัน เท่านี้สังคมไทยก็จบแล้ว เราก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรกันแล้ว เราไม่ต้องรู้ความจริงอีกต่อไป เราก็ต้องอยู่กับประวัติศาสตร์ที่เป็นนิทานเหมือนกับอ่านนิทานหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ คงไม่สามารถเข้าใจอะไรได้อีกต่อไป จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ”
ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปจะส่งผลเสียกับสังคมไทยแน่นอนใช่ไหม
แน่นอน กระบวนการที่เกิดขึ้นทุกวันนี้กำลังเร่งให้เกิดสิ่งเหล่านั้น การเรียนการสอนเรื่องพวกนี้ก็จะลดน้อยลง หรือไม่คนก็ไม่อยากจะสอนกันแล้ว แม้แต่การสัมมนาทุกคนจะต้องระวังกันไปหมด เกร็งไปหมดไม่สามารถพูดได้ ถ้าพูดก็ทำได้เฉพาะด้านบวก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความรู้และความจริงในสังคมไทย เพราะเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อีกต่อไป
มองว่า บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่
ผมคิดว่าไม่มีทาง บรรยากาศแบบนั้นจะหายไปสิบปีเป็นอย่างน้อย การจะกลับมายากมาก เพราะทุกวันนี้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้ แม้ว่าเราจะวิพากษ์วิจารณ์ทหารมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีปัจจัย 2-3 อย่าง  1.ทหารค่อนข้างมีความมั่นคงในการควบคุมกำลังของตัวเอง 2.ความมั่นคงของรัฐบาลมาจากการที่มีผู้สนับสนุนจำนวนมากที่เป็นคนที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมที่สูง อย่างที่เราเห็นล่าสุด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกมาประกาศสนับสนุนการรัฐประหารอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยดังๆ ก็ได้รับตำแหน่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) เหมือนกับไปร่วมมือกับ คสช.
ประการที่ 3 แรงต้านการรัฐประหารชุดนี้กระจัดกระจาย ขณะที่แรงต้านที่มีอยู่อย่างทรงพลังก็บอกว่า “ดูเขาไปก่อน ปล่อยให้เขาทำงานไป” อันนี้เห็นได้จากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พูดกับบุคคลใกล้ชิดว่า จะไม่มีการเคลื่อนไหว ทำให้พลังในการเคลื่อนไหวพลิกเกมหรือเปลี่ยนสถานการณ์ในปัจจุบันก็จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆถามว่า พลังมีไหม ตอบว่า มี ถ้าถามต่อว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปไหมก็ต้องบอกว่า เปลี่ยน สังคมไทยมีการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ก็ต้องตอบว่า มี
“พลังปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงเขามีการปรับตัวเหมือนกัน เขาพยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้เขาอยู่ได้ เราจึงเห็นความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างน่าสนใจ เป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายที่เคยคิดว่า ก้าวหน้ามาก่อน อย่างเอ็นจีโอ นักวิชาการ ถ้าลำพังทหารทำด้วยตัวเองไม่มีทางทำได้ ถ้าทำได้ก็อยู่ได้ไม่นาน แต่มีสื่อมวลชน เอ็นจีโอ นักวิชาการจำนวนมากที่สนับสนุน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นส่วนค้ำจุนและสนับสนุนการรัฐประหารให้อยู่ได้” 
ความจำเป็นในการดำรงอยู่กับการไม่ดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 อันไหนมีความสำคัญต่อสังคมไทยมากกว่ากัน
การที่สถาบันจะอยู่ได้ อย่างน้อยๆ เฉพาะการคุ้มครองในสถานะพิเศษ สถานะความเป็นประมุข ถ้าปฏิรูปในระดับน้อยที่สุด คือ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ผมคิดว่าน้อยที่สุดแล้ว คือ การปฏิรูปในลักษณะคุ้มครองเป็นพิเศษ ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนเสนอว่า ควรยกเลิกไปเลย เพราะประเทศอย่าง ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้รับความคุ้มครองแค่ในระดับของปัจเจกบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป คือ การอาฆาตมาตรร้าย ถ้าใครหมิ่นประมาทกัน คนที่คิดว่า ตัวเองหมิ่นประมาทก็ไปฟ้องศาลให้ดำเนินคดี แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังอนุรักษ์นิยมด้วยการให้สถานะพิเศษแต่ให้ลดลงจากปัจจุบัน เพราะดูจากประวัติศาสตร์ในการเขียนกฎหมายมาตรานี้ก็เกิดขึ้นในยุคเผด็จการและพยายามเพิ่มโทษขึ้นและทำให้ง่ายต่อการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นผลเสียอย่างที่เห็นทุกวันนี้
หากมีการปฏิรูปอย่างน้อยก็ขอให้การดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะตอนนี้ขอบเขตในการฟ้องร้องเกินตัวบทกฎหมายไปแล้ว ทำไมไม่จำกัดให้ชัดเจน เพราะตามเนื้อกฎหมายคุ้มครองแค่ 3 พระองค์ กับ 1บุคคล คือ พระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาทที่ประกาศเป็นองค์รัชทายาท และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ตอนนี้มีเพียงแค่ 3 พระองค์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองแต่เรากลับขยายไปไกลมาก คุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแค่นี้ก็เห็นอยู่แล้วว่า เราไม่สามารถพูดถึงอะไรได้เลย
แย่ไปกว่านั้นเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องสำคัญๆ เช่น การตรวจสอบเงินที่ใช้ไปกับโครงการพระราชดำริว่า ใช้อย่างไร ทั้งที่เงินเหล่านั้นเป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ทุกคนต้องสามารถพูดคุยถกเถียงได้ เพราะปกติเราสามารถวิจารณ์นโยบายของรัฐได้ แต่กับโครงการเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่เป็นการพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้หลักฐาน ในเมื่อโครงการพระราชดำริเป็นโครงการที่มีผู้สนองพระราชโองการ การวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นการพูดถึงผู้สนองพระบรมราชโองการ
“ถ้าสังคมไม่สามารถตรวจสอบการใช้ภาษีได้เลย ก็กลับไปที่พื้นฐานว่า สังคมนี้ไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตยถ้าเราต้องยกเว้นคนบางคนที่ถูกยกเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังสามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินได้ ไม่ได้ถูกตรวจสอบก็ไม่ถูกต้อง”
ฟังดูเหมือนว่า การจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันบนดินได้ก็คงจะอีกนาน
ผมคิดว่า คงอีกนาน ประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวที่ยังใช้รับรองความชอบธรรมในการรัฐประหารอยู่ แม้มีประเด็นเรื่องคุณธรรม เราก็เห็นอยู่ว่า ตอนนี้ไม่ได้ใช้เล่นงานนักการเมืองที่คอรัปชั่นตรงไหน ไม่เห็นเลย มีแต่จะเล่นงานคุณยิ่งลักษณ์ แต่กลับเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ไปชี้แจงในรัฐสภาอีก การรัฐประหารคราวที่แล้วไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คราวนี้กลับเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ไปจีบปากจีบคอจิกกัดคนที่กำลังจะถอดถอนต่อหน้าต่อตา หมายความว่า อย่างไร 
ปรากฏการณ์นี้ส่งสัญญาณอะไร
มองดูเป็นกระบวนการที่พยายามจะเล่นงานนักการเมือง แต่ไม่เด็ดขาด ถึงที่สุดก็จะมีคนออกมาพูดว่า การรัฐประหารครั้งนี้สูญเปล่า เสียของ เพราะนักการเมืองไม่ถูกเล่นงาน แต่อาจมีกระบวนการอีกแบบหนึ่งที่พยายามวางหมากเพื่อกันหรือลดทอนอำนาจของนักการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ เรายังไม่เห็นชัดเจน แต่แนวโน้มอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ เพราะการโยนหินถามทางมาแต่ละเรื่องเป็นอย่างนั้น คือ การกีดกันอำนาจนักการเมืองในระยะยาวและเปิดโอกาสให้อำนาจของข้าราชการหรือข้าราชการเกษียณอายุกลับเข้ามาทำงานอีก หรือไม่ก็อาจมีการต่ออายุราชการในลักษณะแปลกๆ ที่อำนาจอาจจะตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่ได้เป็นบวกกับประชาธิปไตยเท่าใดนัก
เจ็ดเดือนที่ผ่านมารัฐบาลใช้กระบวนการไล่ล่าผู้ละเมิดกฎหมาย 112 แต่กลับไม่ได้เดินหน้าเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น แนวโน้มจึงเห็นอยู่ว่า อาจจะเสียของ
ใช่ ผมว่าอาจจะเสียของในลักษณะแบบนั้น ผมคิดว่ามันแปลกๆ ทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงการรัฐประหารครั้งนี้ประเด็น คืออะไรกันแน่ มีการพูดกันถึงประเด็นเรื่องการที่กำลังจะเปลี่ยนรัชกาลหรือเปล่า จึงทำให้เกิดการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ สำหรับคนในที่ทำรัฐประหารครั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการกีดกันนักการเมืองที่มาด้วยกัน ถึงที่สุดก็ไม่เห็นทำอะไรชัดเจน ขณะที่การไล่ล่าผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 กว้างขวางถึงการตั้งเป้าดำเนินคดีกับคนที่หลุดคดีไปแล้ว
“ผมแปลกใจมากว่า ทำไมต้องไปยุ่งกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็หลุดคดีไปแล้ว คนที่ถูกเรียกตัวบางคนก็จึงระแวง บางคนก็เลยหนีไป บางคนยอมมอบตัวแล้วต้องมาประกันตัวอีก ผมขอยกตัวอย่างกรณีนักเขียนคนหนึ่งเดิมทีเขาได้รับพระราชทานอภัยโทษพ้นคดีไปแล้ว หลังรัฐประหาร ทหารกลับเรียกตัวเขา เขาก็อาจจะไม่แน่ใจ จึงหลบเลี่ยงการไปรายงานตัว หรือนักเขียนอีกคน ก่อนรัฐประหารถูกดำเนินคดีแล้วได้รับการประกันตัว หลังรัฐประหารเขาแสดงความเห็นในเวทีปฏิรูปที่รัฐบาลเปิดให้คนแสดงความเห็น แล้วเขากลับต้องถูกดำเนินคดีอีก ต้องเดือดร้อนหาคนมาช่วยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวถึง 4-5 แสน แบบนี้ผมถามว่า ทำไปทำไม อยากให้สังคมรู้หรือว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว พวกคุณเล่นงานคนที่ไม่มีทางปกป้องตัวเองได้ดีพอ มันก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้อำนาจของรัฐประหารครั้งนี้บิดเบี้ยว แต่คนหลายคนมองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ หรือแม้กระทั่งกรณีที่คนที่อยู่ต่างประเทศก็พยายามเล่นงานให้ได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นพลเมืองไทย อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก”
การไล่ล่าด้วยการใช้กฎหมายมาตรานี้ ต่างประเทศเขามองอย่างไร
ผมว่า เขาคงมองว่า ทำไมประเทศไทยปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันมากขนาดนี้ ความจริงก็มีอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สนใจเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แถม กสทช.ยังมีการรับลูก คสช.ด้วยการให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ปิดเว็บไซด์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน โดยไม่ต้องดำเนินคดี มันเป็นเรื่องของความตื่นตระหนกร่วมของสังคมไทยต่อเรื่องสถาบันหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่แคร์สายตาชาวโลกแล้วว่า เขาจะว่าอย่างไร แต่สำหรับสังคมโลกผมคิดว่า พวกเขาก็คงช็อก ว่าทำไมประเทศไทยที่เคยดูก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ บัดนี้จึงถดถอยลงขนาดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น