14 ม.ค. 2558 - ในการสัมมนาหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายและซับซ้อนของสังคมไทยจากวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์" จัดโดยสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ห้อง HB7801 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอผลการศึกษาบางส่วนจากโครงการศึกษาวิจัย "ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท”ในสังคมไทย: บนความคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย Changes in Thai “Rural” Society: Democracy on the move" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. นั้น
ในช่วงท้าย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท” ในสังคมไทย: บนความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"
ทั้งนี้อรรถจักร์ กล่าวว่า "มันถึงจังหวะหรือความจำเป็นของประวัติศาสตร์ ของเวลาในวันนี้ ที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ Murray Bookchin เป็นนักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักปรัชญาชาวอเมริกัน เป็นบุกเบิกแนวคิดเรื่องนิเวศน์วิทยาทางสังคม เขาสรุปว่า "มันมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่"
"ในโอกาสครบรอบ 50 ปีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมขอถือโอกาสกล่าวว่า เราควรมาคิดอะไรกันบ้างในวาระโอกาสนี้ ไม่ใช่เรามานั่งคุยกันเฉยๆ ถ้าเรานั่งฟังสัมมนามาตั้งแต่ช่วงเช้า เรื่อยมาจนถึงช่วงอาจารย์สมชาย ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สะดุดเราคือ สิ่งที่พูดทั้งหมด ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ขนบ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่เราเข้าใจ ดังนั้นสิ่งที่เราจะคิดกันในรอบ 50 ปีนี้ เราคงต้องคิดต่อไปว่าประวัติศาสตร์คืออะไร แน่นอนว่าหมายถึงมนุษยศาสตร์ด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะตกอยู่ในกับดักที่เรียกว่ามนุษยศาสตร์ตายแล้ว
หนังสือลงในนิวยอร์กไทมส์ ถ้าผมจำไม่ผิดวันสองวันก่อนเขาบอกว่า Humanity (มนุษยธรรม) ตายแล้วถ้าหากไม่ปรับตัว และส่วนที่สองผมจะพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบท โดยมีคำสำคัญ 2 คำคือ "การเปลี่ยนแปลงในชนบท" และ "การเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"
"มันมีความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไพศาล และความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ ทำให้คนทั้งโลก คนในโลก และสังคมโลกทั้งหมดต้องการประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และอดีตใหม่ ความเปลี่ยนแปลงนี้เองเราจะชี้ให้เห็นเลยว่าความต้องการอดีตและประวัติศาสตร์ใหม่ในแต่ละช่วงเวลา ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็น need (ความจำเป็น) ของสังคม ประวัติศาสตร์เป็นความต้องการที่จะอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อไหร่ที่เกิดสภาวะอธิบายปัจจุบันไม่ได้ด้วยความรู้เดิม จะนำไปสู่วิกฤต เกิดภาวะ Chaos (ภาวะอลหม่าน) มากมาย เกิดความสับสนงุนงงตึงเครียด เพราะเราไม่รู้ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร"
"ในงานวิจัยนี้ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักวิชาการด้านไทยศึกษาชาวญี่ปุ่น 10 คน เขาตอบตรงกันว่าจะกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยใหม่ คำถามแรกที่ผมถามคือ 'คุณเคยคิดไหมว่า ประเทศไทยสังคมไทยจะมาถึงจุดนี้' ทั้งหมดตอบตรงกันว่า 'ไม่เคยคิด' เมื่อถามว่าไม่คิดแล้วจะทำอย่างไรเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เขาตอบว่า 'จะกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยใหม่' ทั้งหมดนี้คือนักไทยศึกษาชาวญี่ปุ่นที่ชำนาญเรื่องประวัติศาสตร์ไทย รวมทั้ง (โยชิฟูมิ) ทามาดะ ด้วย"
"ถ้าหากเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราสับสน งุนงง และจะมีความตึงเครียดสูงมากขึ้น ในวันนี้เองนักประวัติศาสตร์อเมริกันผู้เชี่ยวชาญสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เขียนบทความสั้นๆ บอกว่าสภาวะนี้เหมือนกับสภาวะก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และเขากำลังงุนงงว่าจะเดินไปอย่างไร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นว่าทำไมเราต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ความรู้ประวัติศาสตร์ จึงไม่ใช่ความรู้เรื่องอดีต เพื่ออดีต ผมคิดว่าคนในสังคมไทยจำนวนมากเกือบ 90% คิดว่าอดีตเพื่ออดีต หรือประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีต คนที่เรียนประวัติศาสตร์ จะเจอพ่อแม่ถามว่าเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร จะหากินอะไรวะ เพราะเราคิดว่าประวัติศาสตร์คืออดีต แต่จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์คือความรู้ที่จะตอบเรื่องราวปัจจุบัน ความรู้ประวัติศาสตร์/อดีต จึงเป็นเสมือนพลังหลักค้ำจุน/ผลักดัน ให้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่วาดหวัง เป็นไปได้ทั้งในทางที่งดงามและเลวร้าย
ซึ่งแน่นอนไม่จำเป็นต้องดีหรือเลว ฮิตเลอร์เคยเสนอประวัติศาสตร์เยอรมันชุดหนึ่งนำไปสู่สงครามโลก แต่นั่นแปลว่าตัวความรู้ประวัติศาสตร์มันผลักดันสังคมทั้งหมด สิ่งที่น่าตกใจคือเรามีความพยายามจะผลักดันแบบนี้ ลองนึกถึง "ค่านิยม 12 ประการ" ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจตรงนี้ให้ชัดว่า ผมคิดว่าสังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจ แต่น่าตกใจคือสังคมไทยไม่เข้าใจ
อะไรทำให้เกิดความต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ผมคิดว่าโลกหลังทศวรรษ 1990 เปลี่ยนอย่างไพศาล เปลี่ยนอย่างมากมาย ลึกซึ้ง เปลี่ยนความหมายของตัวตนของเราและความหมายรัฐชาติ การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ ไม่ได้แปลว่าแค่ลัทธิคอมมิวนิสต์พัง แต่หมายถึง เพดาน หรือกรงขังอันหนึ่งที่เคยกดทับความแตกต่างหายไป มันจึงเปิดโอกาสให้ความแตกต่างโผล่ขึ้นมา
การเถลิงอำนาจของเสรีนิยมใหม่ ในนามของโลกาภิวัฒน์ เราพบเลยว่าหลัง 1990 การพังทลายของเศรษฐกิจบางแห่ง มันเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนสยายปีก เข้ามาในทุกพื้นที่ อย่าง AEC ที่เรากำลังจะเห็น เราจะพบว่ากลุ่มทุนโดยเฉพาะ เอสซีจี จะกลายเป็น Big Brother (พี่เบิ้ม) ในอาเซียน โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าพวกเราเป็นอะไร หรืออย่างซีพี
ทั้งหมดได้เปลี่ยนเวลา และพื้นที่ของโลกอย่างรวดเร็ว งานที่ได้รับการแปลแล้วของ David Harvey พูดถึง Space and Time ผมอ่านงานชิ้นหนึ่งคือเรื่อง The Culture of Speed เวลาที่เร็วขึ้น มันเปลี่ยนเวลาทำให้คุณอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันนี้มากขึ้น ทั้งหมดนี้มันทำให้เราต้องการสภาวะอันใหม่
รัฐเองก็เปลี่ยน เสรีนิยมใหม่ทลายรัฐ ทลายเพดานที่เกิดขึ้น มันเกิดอะไรบ้าง ในความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ต้องการคำตอบใหม่ โลกใหม่ ย้ำว่า 1990 คือจุดเปลี่ยนของโลก ถ้าคุณกลับไปดูประเทศญี่ปุ่น 1990 เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ทำนองเดียวกัน ไทยก็เช่นกัน ประเทศไทยเปลี่ยน 1990 เป็นจุดเปลี่ยนของโลกที่สำคัญอันหนึ่ง
มันทำให้เกิดอะไร มันทำให้เกิดการเกิดขึ้นของความคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ใหม่ เราจะพบว่าการสะพรั่งขึ้นของการท้าทายความจริงของประวัติศาสตร์แบบเดิม ขยายตัวอย่างมากมาย แน่นอนฟูโกต์ (Michel Foucault) ซึ่งมีผลงานมาตั้งแต่ยุค 1960-1970 เป็นอิฐก้อนแรก แต่เริ่มขยับมามามีอิทธิพลหลัง 1990, ขณะที่ Hayden White บอกว่าประวัติศาสตร์คือวรรณกรรม, Francis Fukuyama หลังกำแพงเบอร์ลินพังเขาบอกว่าเป็นจุดจบของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมสิ้นสุดแล้ว
จินตนาการเกี่ยวกับชาติเปลี่ยนโดยทั้ง Ernest Gellner, Benedict Anderson และ Liah Greenfeld ทั้งหมดอธิบายพลังของชาติ ความเป็นชาติอีกแบบหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วชาติของคนข้างล่างก็โผล่ขึ้นมา งานของ Partha Chatterjee ชิ้นหนึ่งก็วิพากษ์งานของ Benedict Anderson ว่า Benedict ยังมองชาติจากศูนย์กลางของรัฐ
รวมไปถึงว่าความเปลี่ยนแปลงได้กลับไปสู่สิ่งสำคัญหนึ่งคือ Politics of Recognition ของ Charles Taylor เริ่มบอกว่าการพังทลายทั้งหมด เริ่มทำให้คนตระหนักรู้ สำนึกรู้อะไรที่มันแตกต่างไปจากเดิม ทั้งหมดมีความจำเป็นให้ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กันใหม่ทั้งโลก
และการศึกษากันใหม่หลายแบบ กลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือมีความพยายามดึง สถาปนา หรือสร้าง คือเข้าไปเถียงกับสิ่งที่เรียกว่า "ธรรมชาติของประวัติศาสตร์" โดย Keith Jenkins และ Alun Munslow สองคนนี้ และอีกหลายคน เขียนงานในช่วง 1990-2000 พิมพ์มาแล้ว 5-6 ครั้ง ทั้งหมดตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์แบบเดิม เพื่อหาคำอธิบายปรัชญาประวัติศาสตร์ ธรรมชาติวิชาประวัติศาสตร์ และวิธีการทางประวัติศาสตร์ใหม่
นี่คือการเปลี่ยน ทันทีที่โลกเปลี่ยนอย่างไพศาล มันจะเกิดการพูดถึงธรรมชาติของประวัติศาสตร์ ถ้าใครตามประวัติศาสตร์นิพนธ์ ขอให้นึกถึง Robin George Collingwood พูดถึง The Idea of History ซึ่งหนังสือนี้ขายดีมาก และมีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้อีก ไม่ต่ำกว่า 50-60 เล่ม ที่อ้างอิงถึงอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดมีฐานอันหนึ่งคือ ทุกอย่างมีและเป็นประวัติศาสตร์และถูกสร้างโดยเงื่อนไขทางสังคมทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์แบบสารัตถะนิยมถูกตั้งคำถามหมด แต่สำหรับวงการประวัติศาสตร์มันเข้าไปถกเถียงกับประวัติศาสตร์แบบขนบ Conventional History อย่างรุนแรง
เช่น Keith Jenkins cและ Alun Munslow ผู้เขียนถึง "ธรรมชาติประวัติศาสตร์" ได้มาดีเบตกับ Arthur Marwick ผู้เขียน The New Nature of History ซึ่งอายุมากแล้ว และสองคนแรกได้ดีเบตว่าสิ่งที่ Marwick อ้างอิงนั้นผิด
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ถูกศึกษาได้ขยายไปอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังปี 1990 เราจะพบว่ามีนักคิดจำนวนโผล่มา และถูกลืม งานเรื่อง On Collective Memory ซึ่งเขียนในช่วง 1950-1960 โดย Maurice Halbwachs ถูกดึงมาอธิบายใหม่ จนเกิดกระแสอธิบายเรื่องความทรงจำไปทั้งโลก หลังปี 1990 ความทรงจำโผล่ไปอยู่ในงานเรื่อง Holocaust เรื่องค่ายในเยอรมันกว่า 70 เล่ม และโผล่ไปอยู่ในญี่ปุ่น พูดเรื่องเรื่องนานกิง เวลาที่เรา พูดถึงความทรงจำทางสังคม พูดถึงความทรงจำร่วมกัน ทุกอย่างสพรั่งหลัง 1990"
"เราพบว่าทันทีที่สังคมเกิดวิกฤต เราต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่ออธิบายว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ที่เราจะเดินต่อไปได้ นอกจากนี้ยังเกิดสิ่งที่ศึกษาไปอย่างกว้างขวางเช่น "ระบอบอารมณ์ความรู้สึก" ซึ่งเดิมถูกถีบให้เป็นเรื่องวิชาจิตวิทยาอยู่นานมาก ถ้าเป็นพวกฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็เป็นจิตวิทยาปัจเจกชน จิตวิทยาบุคคล ถูกดึงขึ้นมาเพื่อบอกว่ามันเป็นเรื่องเชิงสังคม งานของ Norbert Elias พูดถึงการควบคุมของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถูกดึงมาปัดฝน ถือเป็นต้นตอการศึกษาเรื่องระบอบอารมณ์ความรู้สึก หลังจากนั้นงานของ Carol Zisowitz Stearns และ Peter N. Stearns และคนอื่นๆ เริ่มพูดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกจำเป็นต้องนำมาศึกษาด้วยเช่นกัน โดยในประเทศไทยยังไม่มีคนเปิดวิชานี้ มันกำลังดึงทำให้ประเด็นการศึกษาจำเป็นต้องมีประวัติศาสตร์
งานชิ้นหนึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างเกษตร คุณไม่มีทางเข้าใจ Re: structuring สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การเกิดเสียงของคนที่ไม่มีเสียง อย่างที่สิงห์ สุวรรณกิจ นำเสนอเรื่อง Subaltern แนวคิดการศึกษา คนที่ไม่เคยถูกศึกษา สพรั่งทั่วไป อาจารย์ของทวีศักดิ์ เขียนเรื่อง Passion บทโศลกของพระคริสต์ในการเคลื่อนไหวเพื่อสู้กับสเปน ซึ่งต่างจากการสู้ของ Jose Rizal, Emilio Famy Aguinaldo หรือ Andres Bonifacio
เราไม่เคยคิดถึง สังคมหรืออารมณ์ที่อยู่ในบริบทเลย ดังนั้นเราจึงไม่เข้าใจอะไรเลย เราจึงไม่เข้าใจว่าผู้หญิงชนชั้นกลางจำนวนมากที่ยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อไปนั่งทำสมาธิ หรือลัทธิพิธีอุตรธรรม ฯลฯ เพราะเราไม่เข้าใจระบอบความเปลี่ยนแปลงของระบอบอารมณ์ความรู้สึกหรือประวัติศาสตร์ของระบอบอารมณ์ความรู้สึก
"ผมถือโอกาสพูดเรื่องนี้กับผู้สนใจประวัติศาสตร์ วันนี้เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ ทำให้ทุกอย่างมีประวัติศาสตร์เพื่อให้เราอธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันได้กว้างขวางขึ้น ลึกขึ้นในทุกเรื่อง อธิบายในเรื่องเล็กๆ เช่น ผู้หญิงทำไมชอบใส่เสื้อห้าเอส ใส่กระโปรงสั้นและแหวก ทั้งที่ใส่ลำบากและต้องระวังการหายใจ นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องการประวัติศาสตร์แบบใหม่ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักประวัติศาสตร์แบบมืออาชีพก็ได้ ผมพูดกับนักศึกษาปีที่ 3 เมื่อหลายวันก่อนว่า คุณกำลังใช้ศาสตร์ของมนุษยชาติตอบเรื่องอื่นๆ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ของไทย แต่เป็นศาสตร์ของมนุษยชาติ นี่เป็นความจำเป็นของสังคม"
ส่วนที่สอง ในหัวข้อของงานวิจัย ถามว่าเราต้องการสร้างความรู้ใหม่หรือไม่ ต้องการ เราต้องการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับชนบทไหม ต้องการอย่างยิ่ง พวกเราคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงในชนบทตั้งแต่ก่อนเขาฆ่ากันปี 2553 เราพูดกันมานานว่าสังคมชาวนาไม่มีแล้ว พูดมาหลายปี แต่ไม่มีใครฟังเรา ไม่มีใครเชื่อเรา บางแห่งพูดว่า "ไม่มีหรือ เดี๋ยวกูพาไปดูชาวนา" ผมบอก "เขาทำอีกแบบหนึ่ง" บางคนก็บอกว่า "ถึงชาวนาเปลี่ยน จิตสำนึกก็ยังเป็นชาวนา" ผมก็บอกว่า "เอ้า ถ้าไปอย่างนั้นก็ไม่ต้องคุยกัน"
"เราพยายามผลักดันการแสวงหาความรู้ชุดนี้ว่า ชนบทมันเปลี่ยน ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งเกิดการฆ่ากัน เกิดสิ่งที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล บอกว่า เกิดความต้องการอธิบายว่าเสื้อแดงคือใคร ถึงเริ่มมีการให้ทุนสำหรับการวิจัย ช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือสังคมไทยต้องการความรู้ใหม่ ประวัติศาสตร์ใหม่ ที่อธิบายความเปลี่ยนแปลงของชนบท และขณะเดียวกัน คีย์เวิร์ดอีกตัวหนึ่งคือ ความเปลี่ยนแปลงชนบท ไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงในชนบท แต่ยังสัมพันธ์กับอนาคตประเทศไทย คือความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"
"สิ่งที่พวกเราจะทำวันนี้ ในทีมวิจัยไม่ใช่แค่ศึกษาว่าชนบทเปลี่ยนอย่างไร แต่ความเปลี่ยนแปลงในชนบทนั้นมันปรับเข้าไปสู่ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสังคมกับรัฐอย่างไร ถ้าหากเราเข้าใจตรงนั้นได้ สิ่งที่เราจะมองต่อไปคือ หนทางที่เหมาะสมคืออะไร ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะเถียงกันแค่ว่าเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งเป็นการเถียงเรื่องนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยปราศจากฐานความเข้าใจ"
อรรถจักร์ นำเสนอต่อไปว่า เลือกใช้คำว่า "Democracy on the move" ไม่ใช้คำว่า "Democratization" เหตุผลคือถ้าใช้คำว่า "Democratization" คือการไปคิดว่ามันมีประชาธิปไตยลอยอยู่ข้างหน้า แล้วเราจะเคลื่อนไปสู่ แต่ที่ใช้คำว่า "Democracy on the move" เพื่อบอกว่าทิศทางไปที่ไหนยังไม่รู้
"ดังนั้น หัวใจของเรา คือ การก่อร่างประวัติศาสตร์ชุดใหม่ของคนจำนวนมากของประเทศไทย แน่นอนมี 7 พื้นที่จังหวัด 21 พื้นที่การศึกษา แน่นอนไม่ใช่ตัวแทนทั้งหมด แต่น่าจะเป็นตัวแทนที่มากพอที่เราจะบอกได้ว่าจะทำความเข้าใจชนบทได้อย่างไร ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ชนชั้นกลาง หรือคนกลุ่มหนึ่งที่สมชายพูดถึง สองนคราในหมู่บ้าน หรือสองนคราในรัฐ คนจำนวนมากที่มีอิทธิพล มีอำนาจ เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง คุณชวน หลีกภัย เป็นคนพูดว่าคนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย ฯลฯ ที่ยังมีคนไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบทไทย"
"เราพูดเรื่องชนบทในภาพ ส.ค.ส. ในภาพสงบงาม ถูกตอกย้ำ ถูกฝังโดยกลุ่มวัฒนธรรมชุมชน ถูกทำให้เรารู้สึกว่าชนบทน่ารัก พวกผมเองในปีหลัง 2516 ก็เคยมีภาพชนบทแบบนี้ แต่พอลงหมู่บ้านไปก็พบว่าชาวบ้านก็ขี้โกงพอๆ กับเรา พวก พ.ค.ท. จำนวนหนึ่งก็อกหักเลย นึกว่าชาวบ้านเป็นผู้เสียสละ น่ารักทุกอย่าง ดังนั้นเราต้องเข้าใจ "เขา" อยู่ในความหมายของความเปลี่ยนแปลงในบริบททั้งหมด"
"สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนและเร็วมาก ภาษาอังกฤษต้องใช้คำว่า Rapidly มันเร็วมากจนทำให้งง ผมรู้สึกว่าสายวัฒนธรรมชุมชนไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ผมพูดบอกเขาก็ยังไม่ฟังผม ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรียกว่ามี 3 High ซึ่งยืมมาจากแนวคิดอานันท์ กาญจนพันธุ์ แต่ใช้กันคนละ High ผมคิดว่ามันมี High Mobility มันมีความเปลี่ยนแปลง มีการเคลื่อนย้ายสูงและเร็วมาก มีหนังสือเล่มหนึ่งดังมากพูดถึง Mobility เขาศึกษาทั้งโลก พบว่าทั้งโลกมี Mobility รวดเร็ว ซึ่งมันก่อให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดสอง High Tension มีความตึงเครียดสูงมาก ซึ่งนำมาสู่ สิ่งที่สามคือ High Emotion เราเร่งความรุนแรงได้สูงขึ้น ลองนึกถึง เหตุการณ์ขับรถปาดหน้า ยิงกัน ฯลฯ 3 High เป็นตัวที่ก่อปัญหา เพราะเราเริ่มกลายเป็นหมาบนทางด่วน ไม่รู้จะเดินทางอย่างไร มันเปลี่ยนไปอย่าไร ท้ายที่สุดคนที่มี High Emotion จะอยู่ในภาวะ High Tension ลองนึกถึง เด็กแซ็บที่ไล่ฟันกัน เกิดความตึงเครียดเพราะมาหยามกัน"
"ในขณะเดียวกัน ก็มีกระแสที่ต้องการทำความเข้าใจ จึงมีการผลักดันหลายอย่าง เราเลือกชนบทเพราะอยากรู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในชนบทที่ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาอยู่ใน high mobility อยู่ในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ในงานของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล และอาจารย์เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช ชี้ให้เห็นว่า พี่น้องในชนบทเคลื่อนตัวเองและเคลื่อนเร็วขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเคลื่อน ได้มาพร้อมกับ “การเมืองเรื่องความหวัง” (Politics of hope) ว่า "ฉันจะหลุดจากความเป็นชาวนาที่ยากจน" สิ่งสำคัญคือ ถ้าหากเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราจำเป็นต้องแสวงหาความเข้าใจ"
"เราหวังว่าจะหาทางออกให้แก่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เราหวังว่า ได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน โดยทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบท เพราะเราเชื่อว่าสังคมไทยต้องสร้างความรู้ที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราไม่มีความรู้ที่เท่าทัน เราล้าหลังในเกือบทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ แต่ทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยรวม ล้าหลัง เชย ล้าสมัย เป็นไส้ติ่งไม่มีประโยชน์อะไร"
อรรถจักร์กล่าวว่า งานวิจัยทั้ง 7 โครงการนี้หวังจะเห็นทุกอย่างที่เชื่อมกัน เพื่อตอบเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบท เราอยากจะเปลี่ยนเสียที เรื่องมโนทัศน์สังคมชาวนา สังคมชนบท วัฒนธรรมชุมชนในชนบท เลิก เราต้องเข้าใจแล้วใช้มโนทัศน์อันใหม่ในการมอง ซึ่งสมชาย ปรีชาศิลปกุล ใช้คำว่า "ชนบทใหม่" ที่ต่อไปข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนไปอีก ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทมันเบลอ ไม่เหมือนกันแล้ว ตอนนี้ที่ทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง ก็ทำโดนัท "Missis Doughnut" ขายให้คนในเมืองแถว รพ.สวนดอก ซึ่งย้อนแย้งจากความคิดที่ว่าคนในเมืองซื้อโดนัทไปให้คนนอกเมืองกิน"
เราหวังว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งมากขึ้น และอธิบายได้ ประเด็นแรกในการอธิบาย คือ ความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในชนบทอย่างที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้นำเสนอไปว่า มีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้คนบางกลุ่มมีโอกาสและสูญเสียโอกาสในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และคนกลุ่มแต่ละคนที่เริ่มมีโอกาสนี้ เริ่มไปจัดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมแบบใหม่ อปท. ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดตำแหน่งแห่งที่ เช่น ในบางพื้นที่ที่ศึกษาทำให้เห็นว่ามีกลุ่มบางกลุ่มรับจ้างพ่นยาอย่างเดียว เป็นต้น มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้านเป็นใหญ่แล้ว นอกจากนี้ยังมีพลังอำนาจอีกจำนวนมาก"
"ในการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่มันนำไปสู่การจัดตั้งทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการจัดตั้งการเมืองที่เป็นสถาบัน เช่น อบต. เทศบาล ต่างๆ และยังมีการเมืองนอกสถาบัน ที่มีอำนาจกดดันมากขึ้น เช่น ในหลายพื้นที่พบว่า การเมืองนอกสถาบันคือ "ผู้หญิง" เอ็นจีโอที่ทำงานชนบทจำนวนมากบอกว่า ในการประชุมถ้าผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชาย งานจะสำเร็จ ถ้าผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิงนอกจากกินเหล้า แล้วยังดีแต่พูด ไม่ทำงาน"
"บนความเปลี่ยนแปลง 1-2-3 ประการที่กล่าวมา ไม่ได้เปลี่ยนแต่ในเชิงกายภาพ แต่เปลี่ยนลึกลงไปถึงความรู้สึกนึกคิด เวลาผมพูดถึง Structure of feeling แบบที่ยืมมาจาก Rymon William ซึ่งเขาใช้เพื่ออธิบายว่าในจังหวะความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ สำนึกเรื่องชนชั้นยังไม่ชัด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไรทำนองนี้ ดังนั้น Rymon William ใช้เรื่อง Structure of feeling นี้ พูดถึงโครงสร้างที่เชื่อมกันของหน่วยต่างๆ ห้าหกหน่วยที่เชื่อมกัน สมมติมีห้าจุดจะเปลี่ยนให้คุณเป็น Citizen มันเปลี่ยนไปแค่สามจุด ยังไม่เปลี่ยนทั้งห้าจุด นี่เป็นโครงสร้างทางความรู้สึก ทำนองเดียวกัน ในความเปลี่ยนแปลงนี้ ถามว่าพี่น้องในชนบทที่อยู่ในความเปลี่ยนแปลงนี้เขาเปลี่ยนเป็น Citizen ไหม? คำตอบ คือไม่ใช่ เขาคิดเรื่องความเสมอภาคจริงๆ ไหม ไม่ใช่ เวลาเขาต่อต้านเรื่องสองมาตรฐาน เขาคิดถึงเรื่องการเป็นมาตรฐานเดียวจริงไหม ไม่จริง เพราะในเสื้อแดงเองก็หวังเส้นตรงไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์เดียวกับทักษิณ คนทีเคยไปสัมภาษณ์ทักษิณที่ดูไบ เห็นโทรศัพท์มือถือของทักษิณวางอยู่เต็มโต๊ะ ซึ่งสามารถต่อตรงกับขวัญชัย ไพรพนา สมมติ นั่นแปลว่าอะไร คือเขาก็หวังการอุปถัมภ์อีกแบบหนึ่งที่ให้เครดิตเขา ไม่ใช่แบบเดิม"
"ดังนั้นในเรื่อง Structure of feeling คนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะศึกษาเสื้อแดง แล้วมองเสื้อแดงแบบโลกสวย พวกคิดแบบอุดมคติว่าเสื้อแดงคือพลังของสังคมที่จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยนั้น เราต้องศึกษา Structure of feeling ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเสื้อเหลืองเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเราก็รู้ว่าไม่ใช่ แต่เสื้อแดงก็ไม่ใช่ แน่นอน ความเสมอภาคที่เสื้อแดงต้องการก็มี ขอให้เป็นความเสมอภาคที่กูได้เปรียบ นี่คือสิ่งที่เป็นจริง ไม่เชื่อใครไปเป็นเสื้อแดงดูสิ ใครที่สามารถอ้างตัวเองติดกับทักษิณได้ คนนั้นจะกลายเป็นเสื้อแดงที่มีพลังมากกว่าคนที่อ้างไม่ได้ ส่วนที่เป็นเสื้อแดงเสรีก็ต้องกระด๊อก กระแด๊กไป แบบที่เราไปที่เชียงราย"
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของระบอบอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราศึกษาได้และทำให้เห็นชัดได้ เราก็จะตอบได้ว่าเวลาเราพูดถึง Active Citizen นั้นไม่ง่ายอย่างที่นักวิชาการพูด เราจำเป็นต้องเข้าใจภาวะที่ภาษาเหนือเรียกว่า "จะเหลื่อมจะเกื่อม" หรือ "อยู่ระหว่าง" "In between" ยังไม่ไปตรงไหน ผสมกันไปมา เราต้องเข้าใจตรงนี้ เพื่อจะเข้าใจว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร ในทั้งหมดนี้เปลี่ยน "การเมืองของประชาชน" ผมเลิกใช้ "การเมืองภาคประชาชน" เพราะถูกไฮแจ็คโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. นำไปใช้เป็นความหมายเดียว"
"ผมคิดว่าประชาชนเล่นการเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบ "การเมืองภาคประชาชน" แบบเดิม แต่เล่นบนการเมืองบนเหตุผลที่เขาเลือกในชีวิตประจำวัน สมชาย ปรีชาศิลปกุล พูดชัดเจนว่าเวลาคนเลือก อบต. มาเลือกเกินร้อยละ 80 เพราะเขารู้ว่าจะจัดการหรือควบคุมอปท.ได้ง่ายกว่า ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่เขาก็จัดการได้"
"หากเราศึกษาประเด็นที่กล่าวมาได้เราจะเห็นแนวทางที่จะเดินต่อไปในอนาคต เราใช้เวลาและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเป็นการตอบ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การพูดถึง Periodization ไม่ได้แค่การแบ่งยุคแบบเท่ห์ๆ แต่เป็นการแบ่งยุคที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้น และงานของเราคือศึกษาความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างจนถึงจุดหนึ่งมันเปลี่ยนโครงสร้าง นี่คือ Perodization การจัดตั้งทางสังคมเปลี่ยนอย่างไพศาลทั้งภายนอกและภายในสถาบัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงภายในสถาบันเรามองผ่าน อปท. ส่วนภายนอกสถาบันมองอย่างซับซ้อนมากขึ้น เช่น องค์กรที่ชาวบ้านตั้งเอง ขบวนการเสื้อแดง ฯลฯ"
"ทั้งหมดของการจัดงานวันนี้เพื่อจะบอกว่า ความรู้ประวัติศาสตร์ที่มีความจำเป็น เราต้องสร้างกันใหม่ ส่วนต่อมางานของเราวันนี้ เรากำลังเดินเส้นแบบนั้น งานของอาจารย์สิงห์ สุวรรณกิจ เสนอวิธีคิดของกลุ่มที่มีพลังเรื่อง Subaltern ถ้าหากเราจะหยิบ Subaltern มาใช้ เราอาจจะศึกษาวรรณกรรมชาวบ้านในอีกมุมหนึ่ง เราอาจศึกษาเรื่องนินทาของเสื้อเหลือง เสื้อแดง อีกแบบหนึ่ง ว่าแตกต่างกันไหม มีความหมายอย่างไร Subaltern จะช่วยทำให้เราได้ยินเสียงของ "ผู้ไม่มีเสียง" ได้ชัดขึ้น ขณะเดียวกันงานอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ทำให้เราเห็นว่า การเปลี่ยนรูปของรัฐ มันมีผลต่อคนแนวราบมากมาย และคนเข้าสู่การแปรรูปรัฐมาสู่การร่วมสร้างรัฐ แทนที่จะคิดเรื่องคู่ตรงข้าม พวกเขา พวกเรา มันไม่ง่ายแบบนั้น คนจำนวนมากที่ถูกมองว่าเป็น "พวกเขา" เขาอยากเป็น "พวกเรา" ส่วน "พวกเรา" ก็สร้าง "พวกเขา" หลายชั้น ความซับซ้อนของความเข้าใจนี้ จะช่วยหลีกเลี่ยงการขีดเส้นของคู่ตรงข้าม"
"การมองแบบนี้ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของประวัติศาสตร์ ความรู้ประวัติศาสตร์จำเป็นต้องสร้างกันใหม่ ไม่ได้สร้างเพื่อทำลายล้างสังคม แต่จะต้องสร้างเพื่อจะช่วยกันมองว่า เราจะข้ามพ้นวิกฤตตรงนี้ไปได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่สร้างความรู้ประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่มีวันที่จะก้าวข้ามพ้นวิกฤตนี้ได้ เพราะความไม่รู้ที่มันครอบงำบ้านเรา บังตาชนชั้นนำ บังตาคนไทย ทำให้ความขัดแย้งบ้านเราขัดแย้งอยู่ตรงนี้มาสิบปีแล้ว และเราไปไหนไม่ได้เพราะเราจมปลักอยู่ในความโง่เขลาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าตกใจสำหรับประเทศนี้ที่ครั้งหนึ่งถือว่ามีก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ ในสมัยที่ Reynaldo Clemena Ileto เขียนเรื่อง Pasyon and Revolution นิธิ (เอียวศรีวงศ์" ในปี 2520 เริ่มเขียนหนังสือเริ่มสร้างความรู้ใหม่ น่าตกใจผมคิดว่าคนที่ติดตามงานอาจารย์นิธิสมัยนั้น 50-60% เป็น กปปส. สิ่งที่นิธิเขียนในคำนำหนังสือ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" ทำนองว่าน่าตกใจที่งานเขียนของท่าน ไม่สามารถไปรื้อปมตาข่ายความทรงเดิมได้ แปลว่า เรากำลังตกอยู่ในตาข่ายความทรงจำอันเดิมที่ตอบอะไรไม่ได้แล้ว ตาข่ายเหล่านี้รังแต่จะดึงเราให้จมอยู่ภายใต้ทะเลของความเกลียดชังและจะนำไปสู่ความนองเลือดในอนาคต" อรรถจักร์ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น