วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

ร่างแล้ว 45 มาตรา คำนูณเผย ห้าม ‘Hate Speech’ และเพิ่มคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงใน รธน. เป็นครั้งแรก

              คำนูณเผย รธน. ใหม่ ให้ประชาชนใช้เสรีภาพได้อย่างเสรี แต่ห้ามสร้างความเกลียดชัง และเพิ่มหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศ ทุกเพศไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำหนด 
             14 ม.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึง ภาพรวมความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ได้มีการพิจารณาร่างบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญรายมาตราแล้วประมาณ 45 มาตราคือ ในภาค 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล
           ในส่วนนี้จะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ผ่านมา โดยในรายละเอียดในหมวด 2 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล มาตรา7 กำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียม กันชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทั้งในเรื่องถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ทั้งนี้ได้มีการบัญญัติคำคำว่า เพศสภาพ ขึ้นมาใหม่ด้วยเพื่อครอบคลุมสิทธิเสรีภาพไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำเนิดเท่านั้น
          ส่วนอีกมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวิกฤติสังคมที่เกิดขึ้น โดยกำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรี โดยไม่สามารถจำกัดเสรีภาพได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งบทบัญญัตินี้สอดคล้องกับกฎหมายสากลเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
             ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า คำนูณกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การบัญญัติเรื่องขอบเขตของเสรีภาพนั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็เคยบัญญัติไว้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นการบัญญัติเรื่องHate Speech หลังการสร้างความเกลียดชังไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญยังไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีความผิดทางอาญาแต่อย่างใด แต่อยู่ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตระหนักว่าการบัญญัติขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นมากไปก็อาจจะเป็นการจำกัดเสรีภาพ และมีบทบัญญัติขัดกันเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น