อีกหนึ่งความย้อนแย้งที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียงไม่กี่วันหลังจากการเดินขบวนของกลุ่มผู้นำแสดงการ 'สนับสนุนเสรีภาพสื่อ' ทางการฝรั่งเศสจับกุมตัวประชาชนบางส่วนอ้างแสดงข้อความยกย่องหรือปกป้องการก่อการร้าย รวมถึงจับกุมนักแสดงตลกที่มักจะล้อเลียนชาวยิวหลังจากที่เขาได้ไปร่วมชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนฝรั่งเศสด้วย
16 ม.ค. 2558 สำนักข่าวคอมมอนดรีมส์รายงานว่าหลังจากที่กลุ่มผู้นำโลกร่วมชุมนุมที่กรุงปารีสเพื่อแสดงการสนับสนุนเสรีภาพสื่อเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีคำสั่งจับกุมตัวประชาชน 54 คน ในข้อหา "ยกย่อง" หรือ "ปกป้อง" การก่อการร้าย
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของฝรั่งเศสกล่าวว่า การจับกุมในหลายกรณีมีการสั่งดำเนินคดีภายใต้มาตรการพิเศษโดยทันที ซึ่งตามกฎหมายของฝรั่งเศส ผู้ต้องหา "ยุยงให้เกิดการก่อการร้าย" จะถูกสั่งจำคุก 5 ปี หรือถูกสั่งจำคุก 7 ปี ในกรณีใช้พื้นที่อินเทอร์เน็ตยุยงให้เกิดการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม คอมมอนดรีมส์ระบุว่า คนที่ถูกจับกุมตัวเหล่านี้ไม่มีใครเลยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา
หนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวคือ 'ดิเยอดงเน่' ดาราตลกชาวฝรั่งเศสที่ชอบเล่นมุขตลกชวนให้เกิดข้อถกเถียง เขาถูกควบคุมตัวในช่วงเช้าวันพุธที่ผ่านมาจากการโพสต์ข้อความเชิงเสียดสีในเฟซบุ๊กว่า "คืนนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็น 'ชาร์ลี คูลิบาลี' " ซึ่งเป็นการผสมชื่อของนิตยสาร 'ชาร์ลี เอบโด' ที่ถูกคนร้ายบุกยิงกับชื่อของผู้ก่อการร้ายรายหนึ่งคือ 'อเมดี คูลิบาลี' ที่ก่อเหตุสังหารตัวประกัน 4 คนในร้านค้าชาวยิว
ดิเยอดงเน่โพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กหลังจากที่เขาไปเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงในกรุงปารีสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาซึ่งมีคนเข้าร่วมมากกว่า 1.5 ล้านคน ข้อความดังกล่าวของดิเยอดงเน่เป็นการเสียดสีคำขวัญที่ว่า "ฉันคือชาร์ลี เอบโด" ซึ่งใช้รณรงค์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสื่อที่ถูกคนร้ายบุกยิงจนมีผู้เสียชีวิตสิบกว่าคน
ดิเยอดงเน่ มีชื่อเต็มว่า ดิเยอดงเน่ แอมบาลา แอมบาลา เป็นนักแสดงตลกที่มีคู่หูเป็นชาวยิวชื่อ เอลลี เซมุน เขาเคยกำกับและแสดงภาพยนตร์ร่วมกับโรเบิร์ต เฟาริสสัน ผู้ตั้งทฤษฎีว่าการสังหารหมู่ชาวยิวไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในภาพยนตร์เขาแสดงเป็นเจ้าหน้าที่นาซีในงานเลี้ยงและมีภาพในเชิงล้อเลียนเสียดสีค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่ซึ่งมีชาวยิวเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
นักแสดงตลกของฝรั่งเศสรายนี้มักจะถูกวิจารณ์เรื่องเนื้อหา "ต่อต้านชาวยิว" แต่ตัวเขาเองก็ไม่ยอมขอโทษเรื่องการกล่าวล่วงเกินและยังประกาศว่ามี "การล็อบบี้ของชาวยิว" ที่พยายามควบคุมสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตามดิเยอดงเน่เคยเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติมาก่อน
แม้ว่าจะมีการล้อเลียนเสียดสีคำขวัญ "ฉันคือชาร์ลี เอบโด" แต่ดิเยอดงเน่ก็บรรยายถึงการเดินขบวนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าเป็น "ช่วงเวลามหัศจรรย์ที่เทียบได้กับการระเบิดครั้งใหญ่ในช่วงกำเนิดจักรวาล" ซึ่งดิเยอดงเน่ได้นำข้อความที่ถูกกล่าวหาออกจากเพจของตนเองแล้ว
สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่าหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งการให้มีการปราบปรามสิ่งที่ทางการฝรั่งเศสเรียกว่า "เฮชสปีช" (การแสดงออกให้เกิดความเกลียดชังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) "การต่อต้านชาวยิว" และ "การส่งเสริมการก่อการร้าย"
แต่สำนักข่าวคอมมอนดรีมส์ก็ระบุว่ามันเป็นเรื่องน่าย้อนแย้งประชดประชัน ที่กลุ่มผู้นำยุโรปเดินขบวนแสดงการปกป้องนิตยสารที่ถูกโจมตีโดยมีการสันนิษฐานแรงจูงใจว่าน่าจะมาจากศาสนาอิสลาม แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้กฎหมายสั่งดำเนินคดีกับคนที่แสดงความคิดเห็นของตน
เกลน กรีนวัลด์ นักข่าวและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Intercept ที่เปิดโปงเรื่องการสอดแนมของรัฐระบุในเว็บไซต์ของตนว่า การจับกุมตัวและ "ปราบปราม" ผู้คนเพราะคำพูดของพวกเขาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นด้านที่หลอกลวงของกลุ่มผู้นำที่แสร้งแสดงออกในเชิงส่งเสริมเรื่องเสรีภาพสื่อ
กรีนวัลด์ยังได้กล่าวเปรียบเทียบการอ้างข้อหา "ส่งเสริมให้เกิดการก่อการร้าย" ว่าการใช้กฎหมายลงโทษคนที่กล่าวในเชิงปกป้องการก่อการร้ายแทนที่จะให้มีการแสดงความรังเกียจจากสังคมเป็นลักษณะสองมาตรฐานเพราะในอีกมุมหนึ่งก็ปล่อยให้คนอ้างความชอบธรรมหรือส่งเสริมให้เกิดการรุกรานอิรักหรือกระทำการโหดร้ายต่อพลเรือน การอ้างใช้กฎหมายเหล่านี้จึงดูเหมือนเป็นความพยายามควบคุมวาทกรรมทางการเมืองมากกว่า
อิเนส โปห์ล หัวหน้าบรรณาธิการนิตยสาร 'ดี ทาเกสไซตุง' ซึ่งเป็นสื่อเชิงเสียดสีในเยอรมนีแสดงความคิดเห็นในสื่อของตนเตือนให้ระวังกลุ่มผู้นำทางการเมืองฉวยโอกาสใช้วิกฤติความรุนแรงนี้เป็นเครื่องมือผลักดันเรื่องการปิดกั้นพรมแดนและส่งเสริมแนวคิดเชื้อชาตินิยม เช่นกรณีที่นักการเมืองฝ่ายขวาของเยอรมนีที่ชื่ออเล็กซานเดอร์ เกาแลนด์ เรียกร้องให้เกิดความกลัวต่ออิทธิพลของวัฒนธรรมมุสลิมและให้ปกป้องคุณค่าดังเดิมของชาวคริสต์
โปห์ลระบุอีกว่าจะมีการเผยแพร่รายงานเรื่องการทารุณกรรมของซีไอเอในเยอรมนีภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นรายงานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถหลงไปในทางที่ผิดได้ถ้าหากปกครองด้วยความหวาดกลัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น