กมธ.ยกร่างฯ เผย ให้เสรีภาพสื่อฯเต็มที่ แต่อย่าสร้างความเกลียดชัง พร้อมห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นกิจการสื่อเด็ดขาด
15 ม.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ในวันนี้ กมธ.ได้พิจารณาในภาค 1 หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยมีการปรับแก้ไขในมาตราที่ 16 กำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว อย่างเท่าเทียมกัน และได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รับรองไว้โดย รัฐธรรมนูญหรือโดยกฎหมาย
ขณะที่มาตรา 18 กำหนดให้ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐอย่างเป็นสุข เพียงพอและมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม
สำหรับในส่วนของเสรีภาพของสื่อมวลชนได้เพิ่มเสรีภาพของสื่อมวลชนในมาตรา 20 โดยให้เสรีภาพในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างถูกต้อง รอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคมย่อมได้รับความคุ้มครอง และการสั่งปิดกิจการหรือสั่งห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อ ลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
พร้อมกำหนดให้เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นสื่อไม่ว่าโดยทางตรงและ ทางอ้อมหลายกิจการ ในลักษณะที่อาจจะมีผลเป็นการครอบงำ ผูกขาด ขัดขวางเสรีภาพในการนำเสนอรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นใน กิจการสื่อมวลชนมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นดำเนินการแทน รวมไปถึงรัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด เพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชนไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังได้มีการบัญญัติคำว่า กลุ่มการเมือง ในมาตราที่ 27 กำหนดให้พลเมืองย่อมมีสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของพลเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถี ทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเป็นรายมาตราให้เสร็จทั้ง สิ้น 89 มาตราตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยขณะนี้พิจารณาไปแล้ว 63 มาตรา เหลือการพิจารณาอีก 26 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบททั่วไป และสิทธิเสรีภาพหน้าที่ของพลเมือง โดยในสัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาในภาค 3 ว่าด้วยนิติธรรม ศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น