‘นิคม-สมศักดิ์’ แจงละเอียด ปมถอดถอน ชี้ทำไปตามหลักการกฏหมาย หวัง สนช. ให้ความเป็นธรรม ด้านวิชา มหาคุณย้ำ แม้ไม่มีรัฐธรรมนูญ 50 แล้วก็ยังถอดถอนได้ ส่วนพรเพรชระบุ 23 ม.ค. นี้ รู้ผลการถอดถอน
15 ม.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากกรณีพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. โดยวันนี้เป็นขั้นตอนของการซักถาม
ก่อนเริ่มกระบวนการ พรเพชร ได้ย้ำว่า สมาชิก สนช. ไม่สามารถถามเพิ่มเติม จากคำถามของกรรมาธิการซักถามได้อีก พร้อมกับได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะนัดแถลงปิดคดีถอดถอนนิคม และสมศักดิ์ ในวันที่ 21 ม.ค. นี้ เวลา 10.00 น. ขณะที่ 22 ม.ค. จะเป็นวันแถลงปิดคดีถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนในวันที่ 23 ม.ค. จะเป็นวันลงมติถอดถอนทั้ง 2 สำนวน
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนของกรรมาธิการซักถาม โดยได้ถาม ปปช. ซึ่งประเด็นคำถามมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการของปปช. ต่อกรณีการทำหน้าที่ของนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา และสมศักดิ์เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประเด็นที่มา ส.ว.
วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอบข้อซักถามของกรรมาธิการซักถาม โดยย้ำว่าตามประกาศรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังให้อำนาจ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนชี้มูลความผิดได้ แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยุติไปแล้ว และแม้ว่าบุคคลทั้งสองจะพ้นจากตำแหน่งแล้ว แต่ความผิดจะผูกพันกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป ซึ่งสามารถถอดถอนได้ โดยพบว่าการกระทำของนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา และสมศักดิ์ ในฐานะประธานรัฐสภา ได้กระทำการจงใจส่อขัดกับรัฐธรรมนูญ และผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องการไม่รับฟังความเห็นของสมาชิกเสียงข้างน้อย เป็นการรวบรัดตัดสิทธิ์ผู้จะอภิปรายในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในวาระ 2 การกระทำของทั้งสองคน จึงถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่รับฟังอย่างรอบด้านจะส่งผลกระทบต่อการปกครองประเทศครั้งใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด
ทั้งนี้การทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ใช้อำนาจโดยสุจริต ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน รับฟังเสียงข้างน้อย เพื่อให้ความเป็นธรรม แต่การกระทำของทั้งสองกลับตรงข้าม ทั้งนี้นิคมในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่หวังแก้รัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถดำรงตำแหน่งได้เกิน 1 วาระ จึงถือว่านายนิคมมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ขณะที่ในส่วนของสมศักดิ์ นอกจากความผิดที่เหมือนกันกับนายนิคมแล้ว ยังพบว่า มีหลายข้อที่ส่อว่าทำหน้าที่โดยมิชอบ คือ การนำเอาญัตติรองคือญัตติขอปิดประชุม มาใช้กับญัตติหลักคือการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักไม่สามารถทำได้ / การนับเวลากำหนดการแปรญัตติย้อนหลังจนทำให้เหลือเวลาแปรญัตติเพียง 1วัน / การให้ลงมติในวาระ3 ทั้งที่กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง / ส่วนกรณีการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่เสนอโดยอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นฉบับอื่นโดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อรับรอง มาพิจารณาในวาระรับหลักการ ยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนว่าจะเป็นคดีอาญาด้วยหรือไม่
ด้านนิคม อดีตรองประธานรัฐสภา ตอบคำถามกรรมาธิการซักถาม โดยกล่าวว่า ตนไม่ได้ปิดประชุมเพื่อเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการขอปิดประชุมนั้น ได้มีผู้เสนอเป็นญัตติ โดยตนได้ถามในที่ประชุมว่ามีใครเห็นเป็นอื่นหรือไม่ ปรากฎว่าไม่มีผู้เห็นเป็นอื่น ตนจึงสามารถสั่งปิดประชุมได้ตามข้อบังคับการประชุม ส่วนกรณีไม่ให้สมาชิกรัฐสภา 57 คน อภิปรายในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากพบว่า แปรญัตติขัดหลักการจึงขอยืนยันว่า ตนไม่ได้กระทำการขัดต่อข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญตามที่ถูกกล่าวหาพร้อมระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประชาชน และตนไม่ได้คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. มาจาการเลือกตั้งทั้งหมด จะทำให้ตนได้เป็น ส.ว. อีก
ขณะที่สมศักดิ์ อดีตประธานรัฐสภา ตอบคำถามกรรมาธิการซักถาม โดยขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงในข้อหาปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ เพราะร่างดังกล่าวนายอุดมเดชได้มีการแก้ไขในขั้นตอนธุรการ ซึ่งสำนักการประชุมก็ได้ตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขได้ เพราะตนยังไม่ได้ลงนามบรรจุลงระเบียบวาระ ดังนั้นจึงยังแก้ไขร่างได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งต่อมาตนได้ดำเนินการบรรจุลงระเบียบวาระภายใน 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด จึงขอยืนยันว่า ร่างที่เข้าสู่การพิจารณาคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุดมเดช ของแท้อย่างแน่นอน ส่วนที่ไม่ได้ขอให้สมาชิกลงชื่อรับรองฉบับที่แก้ไขใหม่ ตนได้ถามไปยังเจ้าหน้าที่แล้ว ทราบว่า ตามแนวทางปฏิบัติ จะให้ผู้เสนอหลักคือ อุดมเดช เป็นผู้นำเสนอเพื่อขอแก้ หลังจากนั้นก็จะแจ้งให้สมาชิกทราบโดยผ่านคณะกรรมการประสานงานของแต่ละพรรคทราบ เพราะที่ผ่านมาในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ก็ปฏิบัติกันมาเช่นนี้ ตนจึงขอถามกลับไปว่า หากเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เหตุใดจึงไม่ทักท้วง แต่กลับปล่อยมาจนถึงขณะนี้
ส่วนกรณีแปรญัตติ 1 วันนั้น ขอยืนยันว่า ตามข้อบังคับข้อ 96 ให้นับกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ถัดจากวันที่รับหลักการ ซึ่งรัฐสภารับหลักการ 4 เม.ย.56 ดังนั้นครบกำหนดแปรญัตติ 19 เม.ย. 56 ซึ่งถูกต้องและไม่ได้เหลือวันแปรญัตติเพียง 1 วันตามที่ถูกกล่าวหา
ขณะที่การกดบัตรแทนกัน ตนได้ทราบหลังจากที่มีข่าว และได้ตั้งกรรมการตรวจสอบ แล้วตามหน้าที่ประธาน ซึ่งประเด็นกดบัตรแทนเป็นความผิดเฉพาะบุคคลที่ทำ จึงไม่ได้เป็นมูลเหตุให้มาถอดถอนตน ขณะที่ประเด็นการตัดสิทธิ์ผู้อภิปราย 57 คนนั้น มีรายงานว่าแปรญัตติขัดข้อบังคับ กรรมาธิการจึงนำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา ซึ่งตนในฐานะประธานมีสิทธิ์ที่จะวินิจฉัย แต่ตนกลับเปิดให้มีการหารือ ขอให้สิทธิ์ 57 คนได้อภิปรายต่อโดยหารือต่อที่ประชุมกว่า 10 ชั่วโมง และสุดท้ายก็ได้มีการขอมติที่ประชุมตามข้อบังคับ 117 ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมลงมติว่า 57 คน แปรญัตติขัดข้อบังคับ ตนจึงต้องถือตามมตินี้เป็นเด็ดขาด ขอย้ำว่าตนไม่ได้รวบรัดการประชุมเพื่อลงมติ และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีไม่ได้มาร่วมแถลงเปิดคดีนั้น ตนได้ชี้แจงไว้ในเอกสารอย่างละเอียด จึงคิดว่าจะไม่รบกวนเวลาของ สนช. พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิด ที่จะนำไปสู่การถอดถอน ตนมาในวันนี้เพื่อตามหาความยุติธรรม หาก สนช. ให้ความกับตนไม่ได้ ตนก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนได้อีก
ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค. 2558) จะเป็นการประชุมเพื่อซักถาม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปมถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฐานปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น