วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ผ่ากฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกัมพูชา


ปิยบุตร แสงกนกกุล นำเสนอเพื่อเตรียมวิจัยกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกัมพูชา ประเทศซึ่งผ่านสงครามกลางเมืองที่กินเวลาหลายสิบปี กระทั่งมีการเจรจาสันติภาพและเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 1993 โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าศัตรูทางการเมืองในกัมพูชา สุดท้ายสามารถเจรจาทางการเมืองกันได้ ขณะที่ความท้าทายข้างหน้า ทั้งผลการเลือกตั้งล่าสุด การขึ้นมาของพรรคสงเคราะห์ชาติและมวลชนต่อต้านรัฐบาล จะเป็นปัจจัยกดดันให้รัฐบาลของฮุน เซน ต้องปฏิรูปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้หลังสงครามกลางเมืองเป็นต้นมา การเมืองกัมพูชาจะกลับสู่เสถียรภาพ มีการฟื้นฟูบูรณะประเทศ แต่ยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขณะที่ความท้าทายในอนาคต “เสรีประชาธิปไตย” จะลงหลักปักฐานในกัมพูชาได้หรือไม่ ประชาธิปไตยในกัมพูชาจะบรรลุนิติภาวะได้หรือไม่ และการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างสันติภายใต้กติกาเลือกตั้งหรือไม่
คลิปการนำเสนอหัวข้อ "กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกัมพูชา: จากความขัดแย้งทางการเมืองสู่การสถาปนานิติรัฐ-ประชาธิปไตย" โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

000
29 ม.ค. 2558 – เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็น สำหรับโครงการวิจัยหัวข้อ "กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกัมพูชา: จากความขัดแย้งทางการเมืองสู่การสถาปนานิติรัฐ-ประชาธิปไตย"โดยการนำเสนอดังกล่าวจัดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ปิยบุตรเริ่มนำเสนอว่า โครงการวิจัยนี้เริ่มต้นจากการมีโอกาสได้สนทนากับ รองศาสตราจารย์ วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปรารภว่าในอนาคตควรมีคนช่วยกันเขียนเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องสถาบันการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบ้าง เพราะเราเน้นศึกษาตะวันตกค่อนข้างมาก ผมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ประกอบกับคณะนิติศาสตร์มีโครงการวิจัย ให้อาจารย์คณะทำวิจัย และมีหัวข้อหนึ่งที่คณะเน้นเป็นพิเศษคือกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จึงเริ่มต้นศึกษาประเทศกัมพูชาก่อน
"สำหรับสาเหตุที่สนใจศึกษาประเทศกัมพูชาก่อน เหตุผลข้อแรกคือ หนึ่ง เพราะกัมพูชาเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยตลอด แม้จะเคยกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ก็กลับมาเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อีก จึงมีความน่าสนใจ ว่ามีวิธีการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และหาตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเขาทำอย่างไร
สอง ที่สนใจกัมพูชา เพราะมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองหลายทศวรรษ เรียกว่า 30-40 ปี แต่สุดท้ายก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่บ้าง แม้จะพยายามสถาปนานิติรัฐ ประชาธิปไตย หรือเสรีประชาธิปไตยยังไม่ 100% แต่อยู่ในช่วงพัฒนาการ จึงมีความน่าสนใจ
สาม ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณะชน สังคมไทย มักมองกัมพูชาแง่ลบ ไม่ได้มองในแง่ดูถูกว่าด้อยกว่า แต่มองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ เวลาปลุกกระแสชาตินิยม ก็ต้องมีข้อทะเลาะเบาะแว้งกัมพูชาเสมอ ดังนั้นการทำความรู้จักเขา ในแง่หนึ่งจะสร้างสัมพันธไมตรี มิตรภาพที่ดีต่อไปในอนาคต สามเหตุผลนี้ผมจึงเลือกศึกษากัมพูชาก่อน และในอนาคต ตั้งใจว่าไล่ดูทีละประเทศในอาเซียนในอนาคต
สำหรับขอบเขตการศึกษาของปิยบุตรได้แก่ 1.ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกัมพูชา 2. ศึกษารัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองในปัจจุบันของกัมพูชา 3. ศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและการปฏิบัติของบรรดาสถาบันการเมือง เพื่อพิจารณาว่าความเป็นจริงทางการเมืองที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์และระบบการเมืองที่ออกแบบไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่"
โดยประเด็นที่มีการนำเสนอ ตามทีระบุในเอกสารประกอบการสัมมนามีดังนี้
000
1. ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญกัมพูชาโดยสังเขป
รัฐธรรมนูญ 1947: ราชอาณาจักร ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา (1947-1970)
รัฐธรรมนูญ 1972 : สาธารณรัฐ ระบบประธานาธิบดี (1970-1975)
รัฐธรรมนูญ 1976: ระบอบเขมรแดง (1975-1979)
รัฐธรรมนูญ 1981 : สาธารณรัฐ สังคมนิยม (1979-1989)
รัฐธรรมนูญ 1989: สาธารณรัฐ (1989-1993)
รัฐธรรมนูญ 1993 : ราชอาณาจักร เสรีประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา (1993-ปัจจุบัน)
2. หลักความเป็นราชอาณาจักร กษัตริย์ครองราชย์แต่ไม่ปกครองประเทศ
- นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 1947 กษัตริย์ของกัมพูชาเป็น “กษัตริย์ผู้ถูกเลือกตั้ง” ไม่ใช่ “กษัตริย์ผู้สืบสายโลหิต”
- รัฐธรรมนูญ 1993 มาตรา 10“สถาบันกษัตริย์กัมพูชาเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ถูกเลือกตั้ง กษัตริย์ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อครองราชย์”
- องค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ คือ คณะกรรมการราชบัลลังก์ อันประกอบด้วยกรรมการ 9 คน ได้แก่ ประธานวุฒิสภา ประธานสภาแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายสงฆ์นิกายธรรมยุติและมหานิกาย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และ 2 รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 1 และ 2
- รัฐธรรมนูญ 1993 มาตรา 14 บังคับให้คณะกรรมการราชบัลลังก์เลือกสมาชิกในราชวงศ์อายุอย่างน้อย 30 ปี และสืบสายโลหิตมาจากกษัตริย์องด้วง กษัตริย์นโรดม กษัตริย์สีสวัสดิ์
- รัฐธรรมนูญ 1993 มาตรา 7 วรรคสองบัญญัติว่า “กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐตลอดชีวิต” ราชบัลลังก์จะว่างลงทันทีเมื่อกษัตริย์ตาย และรัฐธรรมนูญก็ไม่อนุญาตให้ตั้งรัชทายาทได้ นั่นหมายความว่า ตำแหน่งประมุขของรัฐจะไม่มีผู้ใดมาปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องวางกระบวนการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นประมุขของรัฐชั่วคราว เพื่อรอให้คณะกรรมการราชบัลลังก์มีมติเลือกตั้งกษัตริย์องค์ใหม่
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 12 กำหนดว่า เมื่อกษัตริย์ตาย ให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวได้ ให้ประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าแทน
- ในกรณีที่กษัตริย์เจ็บป่วยอย่างร้ายแรงจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐได้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 11 กำหนดให้มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่วินิจฉัยว่ากษัตริย์อยู่ในสภาวะเจ็บป่วยอย่างร้ายแรงจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หากเกิดกรณีดังกล่าว ให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวได้ ให้ประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าแทน
- ในรัชสมัยของกษัตริย์สีหนุ ทั้งในช่วงก่อนรัฐประหาร 1970 และในยุคปัจจุบัน พระองค์มักเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลที่จีน การพำนักอาศัยที่เกาหลีเหนือ หรือการเดินทางเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต ทำให้เกิดปัญหาไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ หรือบางกรณี เมื่อกษัตริย์ไม่อยู่ ก็อาจเปิดโอกาสให้รัฐประหาร ดังที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 1970 รัฐธรรมนูญ 1993 ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในมาตรา 30 จึงกำหนดว่า ในกรณีที่กษัตริย์ไม่อยู่ ให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวได้ ให้ประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าแทน
- เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้แล้ว กษัตริย์สีหนุเสด็จไปรักษาพยาบาลและพำนักอาศัยที่จีนบ่อยครั้ง โดยไม่มีการแต่งตั้งให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และปัญหาสุญญากาศทางการเมือง ในปี 1994 จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 28 วรรคสองว่า “ในกรณีเจ็บป่วยและรักษาพยาบาลที่ต่างประเทศ ให้กษัตริย์มอบอำนาจการลงนามในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแก่ประมุขของรัฐชั่วคราว การมอบอำนาจการลงนามดังกล่าวต้องกระทำโดยเร็ว” ว กษัตริย์สีหนุเสด็จไปพำนักอาศัยที่จีนบ่อยครั้ง และไม่มีการแต่งตั้งให้ประธานวุฒิสภาเป
- ประเด็นปัญหาเรื่องการสละราชสมบัติ
- รัฐธรรมนูญ 1993 ไม่กำหนดให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ได้ เพื่อป้องกันกรณีกษัตริย์สละราชบัลลังก์แล้วลงมาเล่นการเมืองเหมือนที่กษัตริย์สีหนุเคยทำมาเมื่อปี 1955 แล้วยกตำแหน่งให้พระราชบิดาเป็นประมุขของรัฐแทน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์เลวร้ายของกัมพูชาที่กษัตริย์ “กระโดดลงมาเล่นการเมือง” ผูกขาดทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประมุขของรัฐ (ผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด)
- กษัตริย์สีหนุตัดสินใจสละราชบัลลังก์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2004 และฮุน เซนยอมผลักดันให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานของคณะกรรมการราชบัลลังก์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2004
- พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานคณะกรรมการราชบัลลังก์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานฯคนที่ 1 และนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานฯคนที่ 2 องค์ประชุมของคณะกรรมการอยู่ที่ 5 คนขึ้นไป และการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งกษัตริย์ให้ใช้มติเสียงข้างมา
- นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังเปิดช่องรับรอง “ย้อนหลัง” การสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุด้วย โดยกำหนดให้คณะกรรมการราชบัลลังก์มีอำนาจในการอนุญาตให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ได้ และกระบวนการเลือกตั้งบุคคลมาเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ให้ดำเนินไปเหมือนกรณีกษัตริย์ตาย เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ คณะกรรมการราชบัลลังก์ก็มีมติอนุญาตให้กษัตริย์สีหนุสละราชบัลลังก์ และดำเนินการเลือกสีหมุนีเป็นกษัตริย์องค์ใหม่
- รัฐธรรมนูญ 1993 ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของ “กษัตริย์” ในฐานะเป็นประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยในมาตรา 7 วรรคแรกบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “กษัตริย์ทรงครองราชย์แต่ไม่ปกครอง” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีความสำคัญและถือเป็นสาระสำคัญของระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ 1993 เพราะเป็นบทบัญญัตินิรันดร (Eternity Clause) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่อาจกระทบกับบทบัญญัติตามมาตรา 7 วรรคแรกได้ ดังที่มาตรา 17 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในมาตรา 7 วรรคแรกที่ว่ากษัตริย์ครองราชย์แต่ไม่ปกครอง ไม่อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้”
- รัฐธรรมนูญ 1993 มาตรา 7 วรรคสาม บัญญัติว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” แต่ได้ยกเลิกบทบัญญัติ “องค์กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ” ซึ่งเคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 1947 ออกไป กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญกัมพูชามีพัฒนาการในแง่ประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ไม่มีบทบัญญัติที่ยกย่องกษัตริย์ให้ดุจดังพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” หมายความว่า กษัตริย์ไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินคดีได้ และกษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบใดในการกระทำที่ตนเองได้ลงนาม เพราะ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบเอง
- เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของกษัตริย์ในการไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนและการไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดี จะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ากษัตริย์ไม่ทรงกระทำการใดตามลำพังแต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ ดังปรากฏให้เห็นจากมาตรา 7 วรรคแรกบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “กษัตริย์ทรงครองราชย์แต่ไม่ปกครอง” ดังนั้น ในกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในเรื่องใด ย่อมหมายความว่า กษัตริย์กระทำการเหล่านั้นตามคำแนะนำและยินยอมขององค์กรผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และความรับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านั้นก็ตกอยู่กับองค์กรผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- อนาคตของสถาบันกษัตริย์กัมพูชา
บทบาทของกษัตริย์สีหมุนี : สัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจของชาติ, ศูนย์กลางของการไกล่เกลี่ย, การไม่แสดงบทบาททางการเมือง คือ การแสดงบทบาททางการเมืองเพื่อรักษาเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์
- ความจงรักภักดีของชาวกัมพูชาที่มีต่อกษัตริย์สีหนุ
- กรณีมีผู้ฉีกพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์สีหนุในช่วงเวลาอาลัยจากการสวรรคตของกษัตริย์สีหนุ
- ประเด็นปัญหาการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แต่งตั้งรัชทายาทประกอบกับสภาพการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน อาจส่งผลให้การชี้ขาดว่าใครจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปตกอยู่ในมือของขั้วการเมืองฝ่ายฮุน เซน

3. ระบบรัฐสภา
การยุบสภาเป็นไปได้ยาก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไปได้ยาก
กระบวนการนิติบัญญัติเสมือนกับสภา “ตรายาง”

4. การเลือกตั้งและพรรคการเมือง
- ผลการเลือกตั้ง 1993 1998 2003 2008 2013
- จากหลายพรรคไปสู่ทวิพรรค (bi party)
- เสียงข้างมากของรัฐบาลจากพรรคการเมืองพรรคเดียว “กินรวบ” ทุกตำแหน่ง
- การขึ้นมาของพรรคสงเคราะห์ชาติ : การชุมนุมประท้วงและเจรจาต่อรอง

5. เสรีประชาธิปไตย : การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และการตรวจสอบอำนาจรัฐ
รับรองสิทธิและเสรีภาพตามมาตรฐานของเสรีประชาธิปไตยในนานาอารยะประเทศ ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบของความตกลงสันติภาพกรุงปารีส และรับอิทธิพลมาจากสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ
- เอกลักษณ์ของความเป็นเขมร
- ในทางปฏิบัติ การรับรองสิทธิและเสรีภาพเป็นเพียง “ตัวอักษร” บนกระดาษ
- ความเป็นอิสระและเป็นกลางของศาล
- การใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการทำลายศัตรูทางการเมือง (ฝ่ายค้าน องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน) : คดีหมิ่นประมาท คดีคอร์รัปชัน คดีก่อกบฏ
- ประสิทธิภาพและความสามารถของศาล
- บุคลากรและงบประมาณ
- การพัฒนาความรู้และวิชาชีพกฎหมาย
- การจ่าย “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” : วัฒนธรรมของคนกัมพูชา
- ศาลและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบอำนาจรัฐ : ศาล “ใบ้”
- ประชาธิปไตยไม่เสรี illiberal democracy

6. วิกฤตการณ์การเมืองและรัฐธรรมนูญ ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญ 1993
รัฐประหารกรกฎาคม 1997 โดยฮุน เซน
- การชิงโจมตีก่อนของฮุน เซน
- การขึ้นเป็นผู้นำเดี่ยวและอำนาจเด็ดขาดของฮุน เซน
- รัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ 2004
- แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อเปิดประชุมสภาลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี
- นโรดม รณฤทธิ์ ยอมเข้าร่วมกับฮุน เซน : การโดดเดี่ยว สม รังสี
- รัฐบาลแห่งการแจกตำแหน่งรัฐมนตรี
- การชุมนุมประท้วงภายหลังการเลือกตั้ง 28 กรกฎาคม 2013
- พลังทางการเมืองกลุ่มใหม่ที่ต่อต้านรัฐบาลฮุน เซน : คนเมือง นักศึกษา นักวิชาการ พระสงฆ์ และคนชั้นกลางกลุ่มใหม่ เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์สงครามกลางเมือง
- การยุติความขัดแย้งและปลดล็อควิกฤติทางการเมืองได้โดยไม่ใช้กระบวนการนอกรัฐธรรมนูญ
- การต่อรองของพรรคสงเคราะห์ชาติ (การได้ที่นั่งรองประธานสภาแห่งชาติ คนที่หนึ่ง, การได้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการประจำสภา 5 จาก 10 คณะ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการต่อต้านการทุจริตด้วย, การตกลงปฏิรูปการเลือกตั้งให้โปร่งใสเที่ยงธรรม, การกำหนดวันเลือกตั้งครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2018)
- พลังต่อต้านฮุน เซน จะถูก “ดูด” เข้าไปเป็นฝ่ายฮุน เซน หรือไม่?

7. บทสรุป
การเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลเข้มแข็ง - สูง
- การพัฒนาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูบูรณะประเทศ - สูง
- สิทธิและเสรีภาพของบุคคล - ตกต่ำ
- ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ - ตกต่ำ
- รัฐบาลฮุน เซน มีแนวโน้มเป็นรัฐบาลอำนาจเข้มและใช้อำนาจเด็ดขาด ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่พรรคการเมืองเดิมได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากต่อเนื่องและระบบการตรวจสอบอำนาจไม่มีประสิทธิภาพ
- ความนิยมของฮุน เซน เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูบูรณะประเทศ การยุติความขัดแย้งของคนในชาติ ชาวกัมพูชาที่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงสงครามกลางเมืองเกือบ 30 ปี จึงมองว่าฮุน เซน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกัมพูชาใหม่
- ความนิยมที่เกิดจากฐานคิดเช่นนี้จะดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่?
- ผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และการขึ้นมาของพรรคสงเคราะห์ชาติและมวลชนต่อต้านรัฐบาลฮุน เซน จะเป็นปัจจัยกดดันให้รัฐบาลของฮุน เซน ต้องปฏิรูปหรือไม่?
- ประชาธิปไตยไม่เสรี
- ความท้าทายในอนาคต
- เสรีประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานในกัมพูชาได้หรือไม่?
- ประชาธิปไตยในกัมพูชาจะบรรลุนิติภาวะได้หรือไม่
- การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างสันติภายใต้กติกาเลือกตั้งหรือไม่?

000
ในช่วงท้ายการนำเสนอ ปิยบุตรกล่าวว่า "จากการดูวิธีใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาในทางการเมือง ของผู้เล่นทางการเมืองในกัมพูชา พบว่า คนที่เป็นศัตรูในทางการเมือง สามารถกลับมาร่วมมือกันได้ตลอดเวลา เช่น สมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ ถูกฮุน เซนจับต้องหนีไปอยู่ปารีส สุดท้ายก็กลับมาเป็นรัฐบาลด้วยกันในปี 2003 สม รังสี กับฮุน เซน ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกันหลายปี สุดท้ายก็สามารถเจรจากันได้ แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาลแต่เป็นฝ่ายค้านก็ตาม ดังนั้นเป็นไปได้ไหมว่า คนที่เคยต่อต้านฮุน เซน พอคุณไปเรื่อยๆ คุณจะถูกดูดเข้าเป็นฝ่ายฮุน เซน หรือไม่
แต่ผมคิดว่าในอนาคตอาจจะยาก เพราะเดี๋ยวนี้การเมืองของกัมพูชาขยับไปมากขึ้น ก็คือว่า ไม่ได้เป็นการเมืองในแง่ที่ เดิมชนชั้นนำทางการเมืองเจรจาบนโต๊ะค่อนข้างมาก จะเห็นได้เลยว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้เป็นกรอบไม่ได้เป็นกติกาเลย ขอให้ชนชั้นนำตั้งโต๊ะตกลงกันได้ การละเมิดรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกคนยินยอมพร้อมใจกันหมด เช่น ตอนเปิดสภาไม่ได้ ก็แก้รัฐธรรมนูญโดยวิธีนอกรัฐธรรมนูญเสีย คราวล่าสุดก็ต่อรองก็ให้สม รังสี กลับมามีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แล้วให้ ส.ส.อีกคนหนึ่งลาออกไป แล้วให้คุณสม รังสีมาเป็น ส.ส. เข้ามาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
กล่าวคือ ขอให้ตกลงกันได้เมื่อไหร่ กติกาต่างๆ พร้อมที่จะแก้ได้หมด พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้หมด ด้านหนึ่งข้อดีมีการเจรจากัน อาจจะเจ็บปวด เสียหาย นองเลือดน้อยหน่อย อาจจะเพราะกัมพูชาผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากมาก ดังนั้นเจรจากันได้ก็ดี แต่ข้อเสียคือ กติกาที่ออกแบบมาร่วมกัน มันถูกละเมิดได้เสมอๆ และในอนาคตมันเป็นไปได้เหมือนกันว่า การเมืองแบบพรรคที่คุณเจรจาต่อรองกันได้ แต่แน่นอนที่สุดเวลาชุมนุมประท้วงมีมวลชนเข้าร่วม การที่คุณเจรจาตกลงกันได้ แต่ถ้ามวลชนไม่เอาด้วยจะเกิดปัญหาอะไรมา
นี่ก็น่าคิดว่า พลังทางสังคมที่ไม่ได้สังกัดพรรคสงเคราะห์ชาติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนหนุ่มสาว เอ็นจีโอต่างๆ จะขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลชุดนี้ได้ต่อไปหรือไม่ เพราะว่าในขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติเจรจาแล้ว แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่ก็ยอมเข้าสู่วิถีรัฐสภาแล้ว
อนาคตของกัมพูชา หลังใช้รัฐธรรมนูญปี 1993 การเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลเข้มแข็ง พัฒนาเศรษฐกิจดี ฟื้นฟูบูรณะประเทศดีหมด แต่สิทธิเสรีภาพบุคคลลดลง การกระจายรายได้ในทางเศรษฐกิจ เรื่องที่ดินมีปัญหา แต่ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ และรัฐบาลพอมาจากการเลือกตั้งนานๆ ก็มีแนวโน้มใช้อำนาจเข้มขึ้นเรื่อยๆ เด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ตัวอย่างล่าสุดคือ ตุรกี ชนะเลือกตั้งหลายครั้งขึ้นก็เริ่มใช้อำนาจมากขึ้น
ความนิยมของฮุน เซน เกิดจากพัฒนาทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ ยุติความขัดแย้งของคนในชาติ บางคนในพนมเปญมองว่า ทะเลาะกันมา 30-40 ปี ตายกันเยอะ อยู่ดีๆ ตานี่ขึ้นมาก็พัฒนาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ มีบทบาทสำคัญในการสร้างกัมพูชาให้เป็นแบบในปัจจุบัน ก็เลยยังพอนิยมยังได้อยู่ ประเด็นคือแต่ความนิยมที่เกิดจากฐานคิดลักษณะนี้จะอยู่ได้ต่อเนื่องไหม พูดง่ายๆ จะหาคะแนนจากเรื่องสมานฉันท์ ยุติความขัดแย้งได้ตลอดเวลาไหม
อย่างล่าสุด ฮุน เซน กล่าวสุนทรพจน์ทำนองว่า ท่านก็เป็นมนุษย์ทั่วไป เป็นนายกรัฐมนตรีหลายปี มีข้อผิดข้อพลาด แต่อย่าลืมสิ่งที่ท่านทำมา ท่านก็พูดเรื่องนี้เหมือนกัน และผลการเลือกตั้งล่าสุด และการขึ้นมาของมวลชนต่อต้านรัฐบาลกลุ่มใหม่ จะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลฮุน เซนปรับตัวเองไหม ถ้ายังไม่ปรับตัว อนาคตจะเป็นอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
การเมืองกัมพูชาปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ายังเป็น "illiberal democracy" คือ เรื่องการเมืองมีเสถียรภาพ มีการเลือกตั้งตามวาระได้ทุกครั้ง แต่อำนาจรัฐยังไม่ถูกตรวจสอบเท่าที่ควร ดังนั้นความท้าทายในอนาคตคือ เสรีประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานได้จริงหรือไม่ ประชาธิปไตยในกัมพูชาจะบรรลุนิติภาวะพอไหม หมายความว่า สามารถเปลี่ยนขั้วในทางการเมือง ขั้วรัฐบาล ได้อย่างสันติ ภายใต้กติการการเลือกตั้ง ถ้าทำได้สักครั้งสองครั้ง ก็แสดงว่ากติการการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้อย่างสันติ."
000
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัตถุประสงค์การวิจัยดังกล่าว ประกอบด้วย 1. เพื่อทราบถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและรัฐธรรมนูญของกัมพูชา ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่ระบอบสมัยรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ระบอบราชาธิปไตย ระบอบสาธารณรัฐ ระบอบของเขมรแดง การค้นหาระบอบที่เหมาะสมภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองของหลายขั้ว จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
2. เพื่อทราบถึงเนื้อหาสาระของกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองของกัมพูชา อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ
3. เพื่อทราบถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติของสถาบันการเมืองต่างๆว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานั้นมีการใช้และปฏิบัติสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
4. เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนานิติรัฐ-ประชาธิปไตยในกัมพูชา
และ 5. เพื่อทำความรู้จักกัมพูชาในมิติด้านระบบกฎหมายและระบบการเมืองการปกครองมากยิ่งขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา และเป็นประโยชน์ต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015
โดยการวิจัย จะใช้วิธีค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลของเอกสาร (Documentary Research) โดยจะค้นคว้าศึกษาจากตำรา หนังสือ วิทยานิพนธ์ งานวิจัย เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ และบทความที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การเมืองการปกครอง และประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของกัมพูชา นอกจากค้นคว้าและศึกษาเอกสารทางวิชาการแล้ว ยังจำเป็นต้องค้นคว้าและศึกษาเอกสารทางราชการ ได้แก่ เอกสารทางการทูต เอกสารทางกฎหมาย เอกสารประกอบการพิจารณากฎหมาย อีกด้วย จากนั้นจะนำมารวบรวมวิเคราะห์และนำเสนอโดยใช้ระเบียบวิธีของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อได้ข้อสรุปว่าระบอบรัฐธรรมนูญของกัมพูชามีลักษณะอย่างไร การดำเนินการของสถาบันการเมืองมีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ และกัมพูชาจะก้าวเดินบนเส้นทางนิติรัฐ-ประชาธิปไตยได้สำเร็จหรือไม่
ทั้งนี้หลังการวิจัยฉบับสมบูรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการนำเสนอและเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น