วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

วิษณุ เครืองาม กับ ปาฐกถาพิเศษ ‘พระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย’

เปิดปาฐกถา ‘พระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย’ ฉบับเต็ม วิษณุ ชี้ยูเนสโกยกย่อง รัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ผู้ให้การศึกษาประชาธิปไตย และนักสันติวิธี พร้อมเล่าถึงพระราชประวัติว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่ อาภัพอีกพระองค์หนึ่งของประเทศไทย
28 ม.ค. 2558  ที่ สโมสรทหารบก ห้องมัฆวานรังสรรค์ สมาคมสถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดงานปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย” ขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ 120 ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนส่งเสริมค่านิยม เทิดทูน และหวงแหนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรโณ ประธานคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับบแรกกับอนาคตรัฐธรรมนูญไทย” และ วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกาในหัวข้อ “ประวัติของพระผู้ใหกำเนิดประชาธิปไตย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บวรศักดิ์ อุวรรโณ ไม่สามารถเดินทางมาร่วมปาฐกถาครั้งนี้ได้ เนื่องจากติดภารกิจในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วิษณุ เครืองามจึงได้บรรยายแทนในหัวข้อของ บวรศักดิ์ ด้วย โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังปฐากถาครั้งนี้ ประมาณ 400 คน ประกอบด้วย พระคุณเจ้าจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป
วิษณุ เริ่มต้นได้การกล่าวถึง การที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้การยกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบรอบวันพระราชสมภพ 120 ปี โดยให้การยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานให้กับประชาธิปไตยในประเทศไทย และทรงเป็นนักสันติวิธี ซึ่งโดยปกติยูเนสโกไม่เคยยกย่องบุคคลใดในวาระครบรอบ 120 ปี มาก่อน โดยวิษณุได้กล่าวว่า “นี่เป็นบุญญาธิการของ รัชกาลที่ 7มากกว่าที่ได้สำแรงบุญญาภินิหาร จนยูเนสโกยอมรับ”
วิษณุได้บรรยายให้เห็นถึงประเด็นสำคัญในหัวข้อ “ประวัติของพระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย” โดยแยกออกเป็น 4 ประเด็นคือ
1.รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นกษัตรย์ที่อาภัพพระองค์หนึ่งของประเทศไทย การได้ขึ้นครองราชสมบัติของพระองค์นั้นถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นโอรสพระองค์สุดท้ายของรัชกาลที่ 5 ที่ประสูติจากสมเด็จเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) นั่นหมายความว่าพระองค์มีพี่ชายอีก 6 พระองค์ที่รอขึ้นครองราชย์สืบต่อจาก รัชกาลที่ 6 แต่ถึงที่สุดพระองค์ก็ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็น รัชกาลที่ 7 เนื่องจากพระเชษฐาของพระทรงสวรรคตเสียก่อน และด้วยการที่พระองค์ทรงเป็นน้องคนชายคนสุดท้าย จึงมีความลำบากในการบริหารข้าการแผ่นดิน เพราะขาดผู้ที่จะค่อยช่วยสนองพระราชประสงค์ ทั้งนี้หลังจากขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 7 ทรงอยู่ในราชสมบัติต่อไป 9 ปี พระมหากษัตริย์พระองค์สิ้นสุดการครองราชย์ด้วยการสวรรคต แต่รัชกาลที่7 จบลงด้วยการสละราชสมบัติ แล้วขณะสละราชสมบัติทรงประทับที่ประเทศอังกฤษ และประทับต่อไปจนสวรรคต ทรงพระเจ้าแผ่นดินเพียงไม่กี่พระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องสละราชสมบัติ ไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยความตาย
2.รัชกาลที่ 7 ทรงทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมอย่างมาก ทรงเริ่มให้มีพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นพระองค์แรก ตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตมาค้นคว้าวิชาการต่างๆ ทรงนำกีฬากอล์ฟมาเผยแพร่ในไทย ทรงเริ่มเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก และรัชสมัยของพระองค์นั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ได้มีการยุบกรมศิลปะต่างๆ โดยพระองค์ให้เอามารวมกันเป็นกรมใหม่แล้วใช้เงินส่วนพระองค์เลี้ยงดูส่งเสริมศิลปินในสมัยนั้น อีกทั้งทรงออกกฏหมายสำคัญอีกสองฉบับคือ  กฏหมายที่ให้ชายไทยมีภรรยาได้คนเดียว และทรงริเริ่มเป็บแบบอย่าง โดยการมีพระชายาเพียงพระองค์เดียว และกฏหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยให้ยกเลิกเลิกระบบการเข้าเป็นข้าราชแบบเดิม แล้วให้มีการสอบคัดเลือกแทน
3.รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้วางรากฐานประชาธิปไตย โดยได้มีการริเริ่มให้มีกฎหมายเทศบาล เพื่อเป็นพื้นฐานให้ราษฏรได้เข้าใจในระบอบการปกครง ที่ราษฏรสามารถดูแล และปกครองตนเองได้ แต่ข้าราชการในสมัยนั้นยังไม่มีใครเข้าใจในการปกครองแบบเทศบาลจึงได้มีการ ส่งคนไปดูงานในต่างประเทศ แต่เมื่อกลับมาก็ยังไม่ได้เริ่มออกกฏหมาย เนื่องจากอ้างว่ามีภาระงานที่ต้องทำอีกมาก ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงมีแนวคิกที่จะให้ประเทศมี รัฐธรรมนูญ แต่เวลานั้นมีความเห็นไปในทางที่ ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่สมควร จึงระงับไว้ เพราะทรงเห็นว่า ควรมุ่งไปในเรื่องเทศบาล ให้การศึกษาราษฏรก่อน แต่มีปฏิบัติการของบุคคลคณะหนึ่งแทรกเข้ามาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน
4.รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นนักสันติวิธี ในขณะที่คณะราษฏรยึดอำนาจจากพระองค์ พระองค์ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล คณะราษฏรได้ส่งผู้แทนมาเชิญพระองค์ไปเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ รู้แล้วว่าจะมาเชิญกลับ กรุงเทพฯ จึงได้เรียกประชุม เจ้านายที่อยู่ที่หัวหิน ได้ความคิดแตกเป็นสามพวก พวกหนึ่งบอกให้สู้ ทหารตามหัวเมืองรอฟังคำสั่งอยู่  พวกที่สอง บอกให้ถอยหนีไปทางใต้แล้วค่อยคิดกลับมาสู้ใหม่ และพวกสามบอกให้ยอมแพ้ ในที่สุดตัดสินพระทัยเสด็จกลับกรุงเทพ โดยได้กล่าวเสมอว่า ทรงยอมแพ้เพียงคนเดียวแล้วให้คนอื่นรอดและสงบ ดีกว่าชนะแล้วให้คนอื่นสูญเสียและตาย
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีรายพระนาม และรายนามบุคคลสำคัญของโลก ที่เป็นชาวไทย และได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ทั้งหมด 25 คน ประกอบด้วย
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2505เนื่องในโอกาสฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2506เนื่องในโอกาสฉลองประสูติครบ 100 พรรษา
3. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2511เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 200 พรรษา
4. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2524เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษา
5.สุนทรภู่ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2529เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 200 ปี
6. พระยาอนุมานราชธน ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2531เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
7. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2533เนื่องในโอกาสฉลองประสูติครบ 200 พรรษา
8. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2534เนื่องในโอกาสฉลองประสูติครบ 100 พรรษา
9. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2535เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษา
10. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2543เนื่องในโอกาสสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
11. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2543เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษา
12. ปรีดี พนมยงค์ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2543เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
13. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2546เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 150 พรรษา
14. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2546เนื่องในโอกาสฉลองชาติกาลครบ 100 ปี
15. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2547เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 200 พรรษา
16. กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2548เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
17.พุทธทาสภิกขุ ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2549เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
18. พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2550เนื่องในโอกาสฉลองประสูติครบ 200 พรรษา
19. เอื้อ สุนทรสนานได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
20. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 
ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2554เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
21. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2555เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 150 พรรษา
22. หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ 
ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2555เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี
23. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2556เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 120 พรรษา
24. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการยกย่องเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2557เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 150 พรรษา
25. หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยาจะได้รับการยกย่องในวันที่ 7 มิ.ย. 2558เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี

ประชาไทถอดความ ปาฐกถาพิเศษ โดย วิษณุ เครืองาม หัวข้อ 'ประวัติพระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย' ฉบับเต็ม
รัชกาลที่ 7 กับการยกย่องของยูเนสโก
รัชกาลที่ 7 มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยก็มีข้อถกเถียงว่า มีหลายคนที่เป็นผู้ให้กำเนิด จนไม่รู้ว่าถึงที่สุดใครเป็นหมอตำแย ใครเป็นผู้ในกำเนิดกันแน่ ย้อนกลับไป 2556 ยูเนสโก้ได้มีมติยกย่องให้รัชกาลที่ 7 เป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานดีเด่นของโลก ไม่ใช่เพียงของไทย ยูเนสโกยกย่องรัชกาลที่ 7 ในหลายด้าน แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเมืองการปกครอง ยูเนสโกพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครอง และจะไม่ยกย่องใครในด้านการเมืองการปกครองอย่างเดียว จะเน้นที่การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เรื่องการเมืองการปกครองโดยอาจแทรกเข้ามาโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสามส่วน นั้น แต่เป็นที่น่าแปลกว่าเวลาที่ยูเนสโกยกย่องรัชกาลที่ 7 ในด้านต่างๆ คำพรรณนาเกียรติคุณมีประโยคหนึ่งที่ระบุถึงการเป็นผู้วางรากฐานการให้การ ศึกษาระบอบประชาธิปไตย และระบุว่า ทรงเป็นนักสันติวิธี คำนี้มีความสำคัญมาก เราคนไทย เมื่อเอ่ยถึงรัชกาลที่ 7เชื่อว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านน้อยมาก จริงๆ ในบรรดาพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 9 รัชกาล เชื่อว่า คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับ รัชกาลที่ 7น้อยที่สุด เช่นเดียวกันกับ รัชกาลที่ 3 ทั้งที่พระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาลนี้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ พระองค์อื่น
สุนทรภู่ รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ยูเนสโกก็เคยยกย่องแล้ว โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะไม่ยกย่องคนที่ยังมีชีวิต และจะยกย่องเมื่อครบรอบตัวเลขกลมๆ ที่เป็น 0 เช่น 100 150 200 250 300 ปี ดังนั้น เมื่อตอนที่รัฐบาลไทยเสนอพระนาม รัชกาลที่ 7 ไปยังยูเนสโก ในปี  2556 เพื่อให้ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ยูเนสโกถามประโยคแรกว่าวาระครบกี่ปี เราบอก ครบ 120 ปี ประโยคแรกที่ยูเนสโกบอกว่าคือ โน ไม่เคยประกาศยกย่องใครครบ 120 ปี แต่ก็อาศัยความสามารถของทีมงานไทยที่เจรจาจนทำให้ยูเนสโกเคลิ้มตาม รู้ไหมว่าเอเชียถือว่าหนึ่งรอบมีสิบสองปี เพราะฉะนั้น 120 ปีก็ตรงกับ 10 รอบ ปรากฏว่าเมื่อเราเดินสายทำความเข้าใจยูเนสโกอาจจะไม่เข้าใจ แต่พม่าเข้าใจ จีนเข้าใจ เวียดนามเข้าใจ ลาวเข้าใจ เขมรเข้าใจ อินเดีย ลังกายังเข้าใจ เมื่อเข้าใจมากๆ ยูเนสโกจึงต้อยอมลดราวาศอกกฎเกณฑ์ซึ่งไม่เคยผ่อนปรนให้กับประเทศใดในโลกเลย แต่ผ่อนปรนให้กับประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นต่อไปที่ถือหลักปีนักษัตรแบบเดียวกัน นี่เป็นบุญญาธิการของ รัชกาลที่ 7มากกว่าที่ได้สำแดงบุญญาภินิหาร จนยูเนสโกยอมรับ ประกาศให้วาระที่มีพระบรมราชสมภพครบ 120 ปี เป็นวาระอันควรเฉลิมฉลองได้เป็นพิเศษ และประกาศพระนามพระองค์ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ปีนั้น รัฐบาลไทยไม่ได้เสนอพระนาม รัชกาลที่ 7ไปพระองค์เดียว เราเสนอไปอีกสองชื่อเผื่อเหลือเผื่อขาด เพราะเป็นโอกาสที่ครบรอบเหมือนๆ กัน อีกสองท่านครบ 150 ปี และครบ 100 ปี เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ยูเนสโกดูแล้วเห็นควรให้ประกาศบุคคลทั้งสามเป็นบุคคลสำคัญของโลกในเวลาเดียว กัน อีกสองคือ สมเด็จพระราชชนนีของรัชกาลที่ 7สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และ หม่อมงามจิตร บูรฉัตร นักสังคมสงเคราะห์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
ถ้าพูดถึงเฉพาะครอบ ครัวของ รัชกาลที่ 7นั้น ร 5 ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญไปแล้ว ต่อมายกย่องแม่และลูกอีก จึงเป็นบุคคลสำคัญของโลกทั้งสามพระองค์
รัชกาลที่ 7 ถ้าถามคนในรุ่นปัจจุบัน ก็คงตอบว่าสำคัญเพราะเป็นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 บางคนอาจมีความรู้ขึ้นอีกนิดว่า พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่ถ้าถามให้ลึกลงไปอีกอาจตอบไม่ถูก ความจริงรัชกาลที่ 7 ทรงยิ่งใหญ่กว่าสองเรื่องที่เราเข้าใจ  พระองค์มีจุดเด่น 4 ประการ คือ 1.ทรงเป็นกษัตริย์ที่อาภัพพระองค์หนึ่งของไทย  2.ทรงมีบทบาทสำคัญมากในการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม 3.ทรงมีบทบาทสำคัญมากในการวางรากฐานในระบอบประชาธิปไตย อาจไม่ถึงขนาดให้กำเนิด แต่ทรงวางรากฐานแน่ 3.ทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นนักสันติวิธี
พระผู้เปลี่ยนความอาภัพให้เป็นโอกาส
การที่ทรงอาภัพไม่ใช่ความยิ่ง ใหญ่ แต่เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และจะเข้าใจพระองค์ท่านมากขึ้น อาภัพนั้นเป็นวิกฤตแต่ทรงใช้วิกฤตนั้นเป็นโอกาสที่จะทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม วางรากฐานระบอบประชาธิปไตย และเป็นนักสันติวิธี จนผมยังนึกว่าถ้าพระองค์ไม่ทรงอาภัพหลายอย่างคงไม่เกิดขึ้น ท่านจำไว้ วิกฤตหากปล่อยให้เป็นวิกฤตก็จะเป็นวิกฤตตลอดไป แต่ถ้าเราใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้เป็นอันมาก ดังที่ รัชกาลที่ 7 ใช้วิกฤตนั้นเป็นประโยชน์มาแล้ว
รัชกาลที่ 7เป็นพระราชโอรถของ รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีพระมเหสีเทวีหลายพระองค์ มีการจัดลำดับชั้นไว้ต่างๆ กัน ในบรรดาพระมเหสีเทวีของ รัชกาลที่ 5 มีพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามเดิมว่า พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินินาถ ซึ่งเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย ทรงไว้วางพระราชหฤทัยว่าพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีทรงมีพระปรีชาสามารถ “คำว่า นาถ แปลว่าที่พึ่ง” ถ้าเติมท้ายพระบรมราชินีองค์ไหนเท่ากับใช้พระราชอำนาจแทนพระมหากษัตริย์ได้ รัชกาลปัจจุบันมีสมเด็จพระบรมราชีนี ครั้งปี 2499 พระเจ้าอยู่หัวออกผนวช 15 วัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นผู้แทนพระองค์ และได้เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของไทย ย้อนกลับไป พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี มีพระโอรสธิดากับรัชกาลที่ 5 รวม 9 พระองค์ หญิง 2 ชาย 7 ทั้งเจ็ดอยู่ในข่ายเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ทั้งนั้น ในเจ็ดพระองค์ พระองค์หนึ่งได้ขึ้นเป็น รัชกาลที่ 6ต่อจาก รัชกาลที่ 5 คือ พระมงกุฏเกล้า เหลือที่เป็นชายอยู่อีก 6 พระองค์ รัชกาลที่ 7 เป็นโอรสพระองค์สุดท้ายของ รัชกาลที่ 5 ที่ประสูติจากสมเด็จเสาวภาผ่องศรี แปลว่าท่านมีพี่อีกเยอะ และรัชกาลที่ 5 มีพระมเหสีเทวีเยอะมาก ลูกท่านรวมทุกท้อง รวม 77 พระองค์ ในจำนวนทั้งหมด รัชกาลที่ 7เป็นลูกองค์ที่ 76 แปลว่ามีน้องอีกหนึ่งซึ่งเป็นคนละแม่ แต่เป็นหญิงและสิ้นพระชนม์เสียก่อนตั้งแต่หลังคลอด ดังนั้น ท่านจึงเป็นลูกคนสุดท้ายของทุกท้องรวมกันของ รัชกาลที่ 5 อีกด้วย เริ่มต้นก็อาภัพแล้ว เพราะไม่มีน้อง
อาภัพข้อที่สองคือ พระสุขภาพท่านไม่ดีมาตั้งแต่ประสูติ ประชวรบ่อย เมื่อโกนจุกแล้วก็เสด็จไปเรียนต่อที่อังกฤษ จนเจริญพระชนมายุสูงขึ้นก็เลือกเรียนวิชาทหาร ด้วยเหตุผลว่าจะได้ออกกำลังกายมากดีต่อพระสุขภาพ จนเรียนจบพี่ชายเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พระบิดาสวรรคตแล้ว ท่านไปหาพระเจ้าจอร์จขอร่วมรบกับกองทัพอังกฤษ พระเจ้าจอร์จตกใจ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสยามยังไม่อนุญาต พระองค์ท่านก็ยังไม่สามารถอนุญาตให้เข้าร่วมรบกับเยอรมันได้ ปรากฏว่า รัชกาลที่ 6 ไม่อนุญาตและเรียกตัวกลับสยาม แล้วก็มารับราชการในกองทัพไทย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายร้อย จนกระทั่งสงครามโลกผ่านไป ก็ต้องกลับไปรักษาพระองค์ที่ฝรั่งเศสแล้วศึกษาวิชาทหารต่อ ต่อมาก็เสด็จกลับประเทศไทย
สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช ประชาธิปก หมายถึงการเป็นผู้ปกครองประชาชน ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกที่ตั้งชื่อให้ลูกอย่างนี้ เพราะถ้าเรียกใครแบบนี้เหมือนส่งสัญญาณว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งที่ตอนนั้นไม่มีทางเลยเพราะเป็นน้องคนเล็ก เมื่อตอนกลับจากอังกฤษไปบวชที่วัดบวร เจ้าอาวาสก็แนะนำให้ท่านบวชนานๆ เป็นพระสังฆราชดีกว่า สึกไปคงไม่มีวันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเพราะพี่ชายยังมีอีกเยอะ สมเด็จฯ ก็กราบทูลพระอุปัชฌาว่า ต้องสึกเพราะรักผู้หญิงคนหนึ่ง ต้องสึกไปแต่งงาน จากนั้นก็สึกไปแต่งงานกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งก็เป็นญาติท่าน และเป็นพระมเหสีคู่ชีวิตจนพลัดพรากจากกันไป
ผมได้กล่าวว่าพระนามเดิม พระองค์ท่าน คำว่า เดช หลายคนเขียน เดช ซึ่งหมายถึงอำนาจ แต่บังเอิญเมื่อตอนที่พ่อท่านตั้งชื่อให้ท่าน ไม่ได้ตั้งใจให้แปลเดชว่าอำนาจ แต่ต้องการให้แปลว่า ลูกศร จึงสะกดว่า เดชน์ ดังนั้น ตราประจำรัชกาลที่ 7จึงเป็นลูกศรสามดอกวางพาดกัน ต่อมาก็ทรงกรม คือเลื่อนชั้นเป็น กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทำเนียมเจ้านายทรงกรม มีตั้งแต่อยุธยา เวลาตั้งชื่อกรมก็ตั้งชื่อเทวดาเข้าไว้ แต่ รัชกาลที่ 5 ไม่ตั้งตามชื่อเทวดา แต่ตั้งตามชื่อจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสำคัญ จึงมี กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หรือแม้แต่จังหวัดนครสวรรค์ ก็มี กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผมนับไว้มีประมาณ 20 กว่าจังหวัด  ถึงคิวสมเด็จฯ ก็เลือก กรมขุนสุโขทัย และตามด้วยสร้อย “ธรรมราชา” คือ ราชาที่มีธรรมะ ซึ่งสอดคล้องกับคติสุโขทัย เมื่อพูดถึงตรงนี้ เมื่อเรามีมหาวิทยาลัยเปิด ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยเพื่ออิงกับพระนามของรัชกาลที่ 7
ความอาภัพของรัชกาลที่ 7อยู่ตรงที่ว่า สมัย รัชกาลที่ 6 ท่านมีฐานะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ มีพี่อยู่อีกเยอะ พี่ผู้ชายอีก 5 พระองค์ ท่านไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และไม่มีใครคาดคิดด้วย ท่านไม่ได้อยู่ในฐานะรัชทายาท ทำไมราชสมบัติจึงมาตกถึงท่านได้ ตอบว่า เพราะพี่ชายท่าน ทยอยสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าตรีเพชรรุจธำรง สิ้นตั้งแต่อายุน้อย อีกพระองค์สิ้นพระชนม์อายุเยอะแล้วโดยประกาศให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็น รัชทายาท และพระองค์มีลูกคนเดียวคือ พระองค์เจ้าจุล จักรพงษ์ มีลูกคนเดียวคือ คุณหญิงนริศา มีลูกคนเดียวคือ ฮิวโก้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ท่านบุญน้อย ท่านทิวงคตเสียก่อน รัชกาลที่ 6 ถัดมาเจ้าฟ้าชายสิริราชกพุฒพันธ์ ก็มีพระชนมายุเพียง 3 พรรษาก็สิ้น ยังมีพี่ชายอีกสององค์ ทั้งสองก็สิ้นพระชมน์ในเวลาต่อมา ฉะนั้น ปี 2467 และ 2468 ลูกของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเหลือสองพระองค์เท่านั้น คือ รัชกาลที่ 6 และ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชสมบัติจึงตกอยู่แก่พระองค์ แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะ รัชกาลที่ 6 มีพระมเหสีเทวีแล้ว ทรงอภิเสกสมรสกับผู้หญิงธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ตั้งขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี และทรงพระครรภ์ หากประสูติมาเป็นชายก็จะเป็น รัชกาลที่ 7 ทันที่ เว้นแต่ไม่มีลูกหรือเป็นหญิง ขณะนั้น รัชกาลที่ 6 ประชวรใกล้สวรรคต 24 พ.ย.2468 พระนางเจ้าสุวัฒนาประสูติพระราชธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ วันต่อมา 25 พ.ย. รัชกาลที่ 6 สวรรคต ราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็น รัชกาลที่ 7 ท่านอยู่ในราชสมบัติต่อไป 9 ปี พระองค์อื่นจบลงด้วยการสวรรคต แต่รัชกาลที่ 7 จบลงด้วยการสละราชสมบัติ แล้วขณะสละราชสมบัติก็ประทับที่ประเทศอังกฤษและประทับต่อไปจนสวรรคต ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพียงไม่กี่พระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องสละราช สมบัติ ไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยความตาย
ความอาภัพต่อมาคือ เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวที่เสด็จสวรรคตในต่างแดน ถ้าจะมีก็มีก็สมัยอยุธยาคือพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร สละราชสมบัติให้พระเจ้าเอกทัศน์ โดนพม่านำไปเป็นเชลยที่พม่าและเสด็จสวรรคตที่นั่น ความอาภัพของ รัชกาลที่ 7นั้นตอนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน 9  ปี ไม่มีน้องไว้ช่วยราชการ และไม่มีลูก คนไม่มีน้องไม่มีลูก มีแต่พี่ มีแต่อา มีแต่ผู้ใหญ่กว่านั้น จึงมีความลำบากในการเป็นผู้ปกครอง คนเรามีอะไรต้องมีตัวช่วย ผมถือว่าความยิ่งใหญ่ของ รัชกาลที่ 5 และเป็นความโชคดีของพระองค์ท่านและคนไทยด้วย คือ มีน้องเยอะและมีลูกเยอะ แต่รัชกาลที่ 7 ต้องอยู่ในฐานะที่เกรงใจผู้ใหญ่อยู่ไม่ใช่น้อย และหากดูจากราชประวัติ รัชกาลที่ 7 คิดทำอะไรหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ จนไม่น่าเชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เราบอกว่าอยู่เหนือกฎหมาย บางทีสั่งอะไรก็ไม่มีใครทำตาม เมื่อครั้ง กรุงเทพฯ จะอายุครบ 50 ปี ปี 2475 ท่านคิดคืนความสุขแก่ประชาชน คิดสร้างสะพานเชื่อมกรุงเทพฯ กับฝั่งธนฯ ปรากฏมีผู้คัดค้านเป็นจำนวนมาก หาว่าฝั่งธนฯ เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน สร้างสะพานไปลงตรงนั้นทำไม ท่านว่าแล้วจะให้ของขวัญอะไรแก่ประชาชน เจ้านายพวกหนึ่งให้สร้างวัด ท่านว่าวัดเยอะแล้ว พวกสองให้สร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 หน้าวัดสุทัศน์ ท่านเห็นว่าเป็นตลาด การรื้อตลาดทำให้พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อน อีกพวกเสนอให้สร้างศาลยุติธรรม ก็ไม่โปรด ถ้าสร้างสะพานความเจริญจะไปถึงฝั่งธนฯ รัฐบาลในเวลานั้นกราบบังคมทูลว่า ไม่มีเงิน ท่านจึงควักออกเองส่วนหนึ่ง แล้วเรี่ยไรอีกส่วน ได้เงินเกือบ 4 ล้านสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าได้ ท่านเคยรับสั่งอย่างน้อยพระทัยว่า ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินทำไมคิดทำอะไรไม่ได้ ที่สำคัญมากคือ ท่านดำริว่า วันหนึ่งประเทศสยามคงต้องปกครองแบบประชาธิปไตย แทนที่รอให้ประชาธิปไตยวิ่งเข้ามาหา เราเตรียมเสียก่อน ว่าแล้วก็โปรดให้ยกร่างกฏหมายเทศบาลขึ้น เพื่อให้คนในท้องถิ่นรู้จักเลือกกันเองมาเป็นผู้ปกครองเสียก่อน คิดบัญชี บริหารตลาด ท่าเรือ ทำกันเองในท้องถิ่นเป็นก็จะทำสูงขึ้นในระดับชาติ ทรงเรียกว่า ประชาภิบาล ซึ่งเรารู้จักในวันนี้ว่า เทศบาล
ทรงรับสั่ง ให้ทำกฏหมายให้ หายไปนานไม่ทำ จนต้องมีจดหมายทวง เจ้าหน้าที่จึงตอบว่า ทำไม่เป็นเพราะไม่เคยมี ท่านรับสั่งว่าจะส่งทีมไปดูงานต่างประเทศ ส่งไปดูงานอินโดนีเซีย กลับมาก็ยังทำไม่ได้ ไม่มีเวลา รัฐบาลให้ทำกฏหมายอื่นอีกหลายฉบับ ท่านก็ทรงมีจดหมายฉบับสุดท้าย ผมคิดว่าน่าซีรอกซ์แจกติดทุกบ้าน พระเจ้าแผ่นดินเป็นคนเขียน ข้าพเจ้าหวังว่าคงจะได้ทันเห็นมีการออกกฏหมายเทศบาล จัดให้มีการเลือกตั้ง ราษฎรปกครองตนเองก่อนที่ข้าพเจ้าจะหามีชีวิตไม่ สุดท้ายไม่นาน ประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจึงมีการปกครองระดับสูงไล่ลงมาหาเทศบาล แทนที่จะเป็นเทศบาลไล่ไประดับชาติ อะไรจะถูกจะผิดไม่เป็นไร เรื่องมันเกิดไปแล้ว แต่สรุปได้ว่า รัชกาลที่ 7 ทรงอาภัพ
พระผู้ทำนุบำรงศิลปะวัฒนธรรม
ทรงทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมอย่างมาก หลายคนไม่รู้ รัชกาลที่ 7เป็นนักเรียนนอก โปรดเพลงฝรั่งเล่นแผ่นเสียง แม้ไม่ถนัดแต่ท่านก็พยายามส่งเสริมความเป็นไทย รัชกาลที่ 7 เริ่มให้มีพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นพระองค์แรก ตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตมาค้นคว้าวิชาการต่างๆ รัชกาลที่ 7 นำกีฬากอล์ฟมาเผยแพร่ในไทย ท่านโปรดมากเช่นเดียวกับพระชายา 24 มิ.ย.2475 เปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะทรงกอล์ฟอยู่กลางสนามที่ประจวบศีรีขันธ์  ได้รับโทรเลขว่ากรุงเทพฯ มีการยึดอำนาจ นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักถ่ายรูป ที่จริงทรงสร้างภาพยนตร์ด้วย เรื่อง แหวนวิเศษ ถ่ายเองเขียนบทเอง และท่านยังทรงแต่งเพลงไทยขึ้น อย่างน้อยเรารู้จัก 3 เพลง คือ เพลงราตรีประดับดาว, เขมรลออองค์ และคลื่นกระทบฝั่ง  ทรงริเริ่มประเพณีแต่งหนังสือประกวดในวันวิสาขบูชา ให้เยาวชนมีหนังสือธรรมะดีๆ อ่านทุกปี ที่ยังทำกันจนเดี๋ยวนี้ เริ่มเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก ในสมัยนั้นเศรษฐกิจตกต่ำนั้น ได้มีการยุบกรมศิลปะต่างๆ พระองค์ให้เอามารวมกันเป็นกรมใหม่แล้วใช้เงินส่วนพระองค์เลี้ยงดูส่งเสริม ศิลปินเหล่านั้น ทำให้สืบทอดมาได้จนทุกวันนี้ โขน ละคร ฟ้อนรำ ระบำ หนัง ที่เล่นมาอยู่ทุกวันนี้ สืบทอดมาจากที่ รัชกาลที่ 7 เก็บตกครูมารวมกันไว้ทั้งนั้น หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และทรงออกกฏหมายสำคัญอีกสองฉบับคือ กฏหมายที่ให้ชายไทยมีเมียได้คนเดียว และทรงริเริ่มเป็บแบบอย่างมีพระชายาเพียงพระองค์เดียว และกฏหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยให้ยกเลิกเลิกระบบการเข้าเป็นข้าราชแบบเดิม แล้วให้มีการสอบคัดเลือกแทน
พระผู้วางรากฐานประชาธิปไตย
ทรงวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย ได้เรียนแล้วว่าท่านริเริ่มให้มีกฎหมายเทศบาล เพียงแต่เขาไม่ทำให้ท่าน จนเปลี่ยนแปลงการปคกรองจึงออกทีหลัง นอกจเหนือจากนั้น ท่านคิดจะให้มีรัฐธรรมนูญแล้วสองครั้ง ครั้งแรกตอนเป็นพระเจ้าแผ่นดินยังไม่ทันถึงปี มีฝรั่งคนหนึ่งคือ พระยากัลยาณไมตรี หรือดร.ฟรานซิส บี.แซร์ รัชกาลที่ 7 ได้ให้ช่วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง อยู่มาอีก 3-4 ปี ทรงให้คนมีความรู้สมัยนั้นไปร่างอีกฉบับ เพื่อเปรียบเทียบกัน ทรงปรึกษากับที่ปรึกษาเพื่อพิจารณานำออกมาใช้ แต่เวลานั้นมีความเห็นว่าไม่ถึงเวลา ยังไม่สมควร จึงระงับไว้ เพราะเห็ว่าควรมุ่งไปในเรื่องเทศบาล เพื่อให้การศึกษาคนเสียก่อน แต่มีปฏิบัติการของบุคคลคณะหนึ่งแทรกเข้ามาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เสียก่อน ก็ต้องถือว่าท่านเป็นคนวางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย เวลาท่านเสด็จจังหวัดไหนก็รับสั่งเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ การทำอย่างนั้นมันใช้เวลา คนที่เขาใจร้อนก็ต้องคิดไปไกลกว่านั้นและเร็วกว่านั้น ถึงที่สุด ด้วยกระแสสำคัญสี่กระแสก็ไม่อาจต้านทานการเปลี่ยแปลงการปกครองได้คือ 1.กระแสต่างประเทศที่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเยอะ 2.กระแสเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลแทบจะไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการ ประชาชนยากจน คนว่างงานเยอะ 3.ข้าราชการกดขี่ข่มเหง คนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม จึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมที่จะให้พระเจ้าอยู่หัวรับผิดชอบพระองค์เดียว หลายหัวดีกว่าหัวเดียว จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คณะราษฎร เขาคิดเรื่องนี้กันตั้งแต่เรียนเมืองนอกพอกลับเมืองไทยก็หาพรรคพวก แล้วเช้ามืด 24 มิ.ย.ก็ยึดอำนาจ วิธียึดก็ไม่ยากเอารถถังเข้ายึดลานพระบรมรูปทรงม้า แจ้งพวกทหารว่า เรียกประชุมซ้อมรบ รับฟังโอวาท ก็แห่กันมาหมด พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ขึ้นอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจ คนก็ไชโยโห่ร้อง อะไรที่เปลี่ยนแปลงดีทั้งนั้น ผมเชื่อว่าคนก็เอาดอกไม้ไปเสียบปลายกระบอกปืนเหมือนกัน หลังจากก็มีการส่งผู้แทนเฝ้า รัชกาลที่ 7 ที่หัวหิน ขอให้เสด็จกลับกรุงเทพ มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินภายใต้กฏหมายที่จะร่างต่อไป
พระผู้เป็นนักสันติวิธี
สุดท้ายคือ ความเป็นนักสันติวิธี อย่าลืมว่า ตอนประทับที่หัวหิน ที่กรุงเทพเกิดการยึดอำนาจ เวลานั้นเจ้านายสำคัญที่อยู่กรุงเทพฯ ที่ รัชกาลที่ 7 ไว้วางพระทัยมากที่สุดคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ท่านมีอำนาจมาก คณะราษฎรส่งกำลังไปคุมตัวท่านจากวังบางขุนพรหมไปควบคุมไว้พระที่นั่งอนันต สมาคม เพื่อเป็นตัวประกัน แล้วส่งคนไปเฝ้ารัชกาลที่ 7 ให้เสด็จกลับมาเป็นพระเจ้าผ่านดินภายใต้กฏหมายที่จะร่าง ถ้าไม่กลับ ก็จะหาพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นต่อไป
ถ้าคนที่ส่งสารถูกทำร้าย คณะราษฎรก็จะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับคนที่ถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน รัชกาลที่ 7 รู้แล้วว่าจะมาเชิญกลับกรุงเทพฯ จึงได้เรียกประชุม เจ้านายที่อยู่หัวหิน แต่ความคิดแตกเป็นสามพวก พวกหนึ่งบอกให้สู้ ทหารตามหัวเมืองรอฟังคำสั่งอยู่  พวกที่สอง บอกให้ถอยหนีไปทางใต้แล้วค่อยคิดกลับมาสู้ใหม่ พวกสาม บอกให้ยอมแพ้ ในที่สุดตัดสินพระทัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ ถามว่าจริงๆ เป็นการเสื่อมพระเกียรติยศหรือไม่ ก็น่าจะมีส่วน แต่เลือกทางนี้เพราะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วว่า ถ้าตัดสินใจสู้คนที่ตายคือคนไทย ทหาร คนที่จงรักภักดี ไม่ทรงปรารถนาจะเห็นการนองเลือดเกิดขึ้น ถ้ายอมเสื่อมพระบรมเดชานุภาพเสด็จกลับเพียงพระองค์เดียว ก็ไม่ต้องมีคนตาย ต้องถือว่าเป็นความใจเด็ดของท่าน มีคนพยายามบิดเบือดช่วงเวลานี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 7 อ่อนแอ ผมถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ ชนะใจตนเองได้ ถ้าท่านลุแก่อำนาจ เตรียมมาสู้ ลี้ภัยต่างแดนแล้วกลับมาสู้ หรือสู้จากหัวหิน ประวัติศาสตร์ไทยจะเปลี่ยนหมด ประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น การที่รัชกาลที่ 7 ยอมเสด็จกลับทุกอย่างจบลง เผลอๆ คณะราษฎรเองก็ไม่นึกว่าท่านจะกล้าเสด็จกลับ พระนางเจ้ารำไพพรรณี เขียนในเวลาต่อมาว่า ที่ตัดสินใจไม่กลับทางเรือเพราะกลัวถูกยิงทิ้งทะเล หน้าสิ่วหน้าขวาน ท่านจึงเสด็จกลับด้วยรถไฟพระที่นั่ง รัฐบาลก็ยอม เมื่อรถไฟพระที่นั่งถึงกรุงเทพฯ เวลาเที่ยงคืน สถานีจิตรลดา แทบไม่มีคนรับเสด็จ เพราะทุกคนกลัวคณะราษฎรกันหมด วันที่ 26 คณะราษฎรเข้าเฝ้า ถวายรัฐธรรมนูญฉบับแรก พระราชบัญญัติ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 ท่านขอเก็บไว้อ่าน เซ็นทันทีไม่ได้ รุ่งขึ้นอ่านเสร็จก็พระราชทานคืน ลงพระปรมาภิไธย ท่านเติมคำว่าฉบับชั่วคราวต่อท้าย ให้สมกับที่คณะราษฎรกราบบังคับทูลว่าจะมีฉบับถาวรยกร่างอีก คือวันที่ 27 มิ.ย.
การที่ยอมกลับจากหัวหิน การที่ยอมลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับแรก การที่แสดงความร่วมมืออย่างดีกับคณะราษฎรในเวลาต่อมา ทั้งหมดคือ สันติวิธี ท่านเชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกับคณะราษฎรได้ วันที่คณะราษฎรเข้าเฝ้า รับสั่งชัดเจนว่าท่านคิดก่อนแล้ว เพียงแต่อาจจะคิดช้า จุดหมายปลายทางตรงกันแม้วิธีการจะต่างกัน แต่สิ่งที่ รัชกาลที่ 7 โทมนัสที่สุด คือ การที่วันยึดอำนาจมีการแจกใบปลิวโจมตีพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างรุนแรง เช่น ราชวงศ์จักรีปกครองมา 150 ปีไม่ทำประโยชน์อะไรแก่ประเทศเลย ท่านถามว่าใครเป็นคนร่าง คิดว่าไม่ได้ทำอะเลยจริงๆ เหรอ บางข้อคณะราษฎรก็ตอบไม่ได้ บางข้อก็ไม่ยอมตอบ เวลาต่อมาคณะราษฎรก็ขอเข้าเฝ้าขออภัยโทษที่ได้จ้วงจาบเจ้านายอย่างรุนแรง ท่านก็ให้อภัยโทษและให้ความร่วมมือ
สถานการณ์หลังเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระเจ้าแผ่นดินไม่สู้จะดีนัก อาจมีคนยุ อาจมีความเข้าใจผิด บาดหมางกันจนกระทั่งในที่สุดเหตุการณ์รุนแรงก็เกิดขึ้น รัชกาลที่ 7 ตกอยู่ในฐานะลำบากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะมีเจ้านายบางองค์ถูกเนรเทศ ไปอยู่เมืองนอก บางองค์ก็ลี้ภัยไปต่างประเทศ เจ้านายที่อยู่ในประเทศก็อยู่ด้วยความระวังและลำบาก ทั้งหมดเป็นแรงกดดัน รัชกาลที่ 7 ทั้งนั้นว่าไม่สามารถปกป้องพระราชวงศ์ได้ ท่านอยู่ระหว่างรัฐบาลกับพวกเจ้า อำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ การวางพระองค์จึงลำบาก พวกเจ้าไม่น้อยมองว่าท่านเข้าข้างรัฐบาล รัฐบาลก็ว่าท่านอยู่ฝ่ายพวกเจ้า ขณะเดียวกันพระสุขภาพก็ทรุดลงเป็นลำดับ มีปัญหาพระเนตร พระหทัย พระทนต์ ตลอดเวลาก็มีแต่พระราชินีที่อยู่เคียงข้างท่านตลอด ในที่สุดก็มาถึงเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่าฟางเส้นสุดท้าย ระเบิดลงตูมทุกอย่างพินาศหมด
ก่อนถึงเรื่องนั้น เมื่อก่อนเรายังไม่เรียกรัฐธรรมนูญฉบับแรก ว่ารัฐธรรมนูญ แต่เรียกว่า พระราชบัญญัติการปกครองสยาม รัฐบาลยังเรียกคณะกรรมการราษฎร นายกฯ ยังเรียกว่า ประธานคณะกรรมการราษฎร ยังไม่รู้จักศัพท์ที่ใช้วันนี้เลย รัฐมนตรีก็เรียกกรรมการราษฎร ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีพระยามโนปกรณ์ เป็นประธาน ใช้เวลา 6 เดือนร่างเสร็จ เรียกชื่อว่า รัฐธรรมนูญ เพราะตอนนั้นมีคนบอกว่ากฎหมายสูงสุดอย่างไปเรียก พรราชบัญญัติ เป็นการใช้คำว่า รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก รัชกาลที่ 7ทรงตื่นเต้นกับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาก เพราะพระราชทานแนวความคิดหลายประการแม้เขารับบ้างไม่รับบ้าง ท่านให้ดูฤกษ์ที่ดี เจ้าอาวาสวัดสระเกษตอนนั้น โหรใหญ่ บอกว่าวันที่ 10 ธ.ค. รัชกาลที่ 7 ลงทุนซ้อมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และให้ถ่ายภาพยนตร์เก็บเอาไว้ จึงมีหนังพระราชพิธีให้ดูถึงเดี๋ยวนี้ พอถึงวันที่ 10 ธ.ค.ก็พระราชทานที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ประธานสภาในเวลานั้นคือ เจ้าพระยาพิชัยญาติ เข้ารับพระราชทานรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ฉบับถาวรฉบับแรก คนดูฤกษ์เก่งจริง มีอายุยืนนานสืบมาถึง 14 ปี วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ร่างอยู่ฉบับที่ 21 ทั้งหมดไม่มีฉบับไหนยาวนานเกินฉบับนั้น
ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ ทุกอย่างเหมือนระเบิด ปี 2476 เกิดการยึดอำนาจขึ้นอีกครั้ง โดยกองทหารจากโคราช เคลื่อนเข้ามายึดกรุงเทพฯ ที่บางเขน เราเรียกว่า กบฏบวรเดช นำโดย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบรวรเดช เคยเป็นเสนาบดีกลาโหม เป็นคนที่ทหารรักมาก ท่านนำทหารจากโคราชเคลื่อนขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ ยึดบางเขนได้ ต่อสู้กับรัฐบาล ที่สำคัญ คณะกบฏบวรเดชประกาศว่า ยึดอำนาจครั้งนี้เพื่อถวายคืนรัชกาลที่ 7 ขณะนั้น รัชกาลที่ 7อยู่หัวหิน รัฐบาลก็ตกใจกราบบังคมเชิญกลับกรุงเทพฯ เพื่อให้คณะกบฏเห็นว่าอยู่ข้างรัฐบาล แต่พระองค์ต้องการเป็นกลาง ไม่เป็นตัวประกันให้ฝ่ายใด ว่าแล้วก็นั่งเรือเล็กไปจังหวัดสงขลา เป็นเรือที่ไม่เคยออกทะเลลึก เรียกว่าเสี่ยงอันตรายมาก ลอยอยู่กลางอ่าวไทยไม่นาน ก็มีเรือใหญ่มาถึงแล้วส่งเสด็จที่สงขลา ประทับที่สงขลา 40 กว่าวันจึงเสด็จกลับ หลวงพิบูลย์สงครามมปราบกบฏ สองฝ่ายตายเยอะ สมรภูมิที่ต่อสู้ต่อมาเมื่อชนะศึก รัฐบาลก็สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ บางเขน มีพานรัฐธรรมนูญเล็กๆ ซึ่งเป็นการรบครั้งใหญ่เรียกว่าสงครามกลางเมืองที่คนไทยตายมากที่สุดครั้ง หนึ่ง ฝ่ายกบฏถอยหนีกลับโคราช พระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีเข้าเขมร เสร็จแล้วรัฐบาลก็ตั้งศาลพิเศษไล่ล่าพวกกบฏ ประหารก็เยอะ ปล่อยเกาะตะรุเตาก็เยอะ ขังก็เยอะ เป็นศาลทหารพิเศษ ม้วนเดียวจบ ในที่สุด รัชกาลที่ 7 ได้ขอให้รัฐบาลปรองดอง ใครไม่เกี่ยว ปลายเหตุถูกเกณฑ์มาควรจะยกเว้นโทษ อย่าเหมาเข่งรุนแรงเสมอกัน วันหนึ่งได้รับสั่งกับรัฐบาลว่า ต้องไปรักษาพระเนตร แล้วก็เสด็จออกจากประเทศไปรักษาในต่างประเทศ ไม่มีใครคิดว่า ณ เดือนมกราคมในปีนั้น เมื่อได้มีพระราชดำรัสทางวิทยุอำลาประชาชนชาวไทย ว่าจะไปรักษาตาที่ต่างประเทศ จะเป็นคั้งสุดท้ายที่ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ รักษาพระเนตรเสร็จก็ไม่เสด็จกลับ รัฐบาลส่งคนไปเฝ้า ก็ทรงมีบันทึกให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน เมื่อรัฐบาลไม่สามารถสนองได้ ก็มีโทรเลขมาทรงสละราชสมบัติ ในปี 2477 เป็นที่มาของประโยคสำคัญ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎร โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
พระชะตาของ รัชกาลที่ 7 ไม่หมดเพียงแค่นั้น จากนั้น รัฐบาลฟ้อง รัชกาลที่ 7เป็นจำเลยในศาลหลายคดี หาว่าท่านเอาทรัพย์ของหลวงไปใช้บ้าง รัชกาลที่ 7 ต้องออกทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างทนายมาสู้คดีในศาลไทย เป็นการดีที่ รัชกาลที่ 7 ไม่ได้อยู่จนถึงวันที่ศาลตัดสิน เพราะศาลตัดสินให้ท่านแพ้คดี และให้ท่านชดใช้ค่าเสียหายแค่รัฐบาลไทยหลายล้านบาท เมื่อไม่สามารถชดใช้ได้จึงยึดวังสุโขทัยอันเป็นที่ประทับ วันที่ 30 พ.ค.2484 ขณะนั้นสงครามโลกเริ่มเกิดแล้ว และพระองค์ทรงประทับอยู่อังกฤษ เช้าตรู่วันที่อากาศแจ่มใส พระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงมีพระราชดำริว่าน่าจะเสด็จเข้าไปในเมืองดูบ้านพักที่ เคยอยู่ เสด็จโดยลำพัง รัชกาลที่ 7 ยังอยู่ที่ประทับ ภาพสุดท้ายที่พระองค์เจ้ารำไพพรรณีเห็น คือ รัชกาลที่ 7ทรงพระภูษากางเกงแพร เสื้อคอกลม อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ที่เก้าอี้โยก ยังรับสั่งว่า หากมีดอกไม้งามๆ เช่น ทิวลิปก็ให้เก็บมาด้วย เมื่อพระองค์เจ้ารำไพพรรณีเข้าลอนดอน ตำรวจโบกให้หยุดรถและแจ้งว่ามีโทรศัพท์แจ้งว่ามีเหตุร้ายให้กลับที่ประทับ เมื่อกลับถึงที่พักจึงทราบว่า รัชกาลที่ 7สวรรคตแล้ว ขณะนั้นอยู่ระหว่างสงคราม รัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตให้ตั้งศพ สวดศพ ไม่มีพระบรมโกฐ ไม่มีพระพิธีธรรม ไม่มีพระมาสวด ในที่สุดเตรียมงานศพเพียงสองสามวัน แล้วเชิญใส่หีบไม้เพื่อไปถวายพระเพลิงที่สุสานเล็กๆ ของชาวจีน มีผู้มาร่วมในงานพระบรมศพไม่กี่คน เพราะข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ไม่กล้ามา อย่าลืมว่าวันนั้นคดีความยังค้างอยู่ในศาล กลัวรัฐบาลจะหวาดระแวง งานพระบรมศพเงียบเหงา เงียบจนกระทั่งฝรั่งที่มาร่วมงานเป็นเจ้าหน้าที่ยังถามว่าทำไมงานนี้มัน เงียบนัก แล้วเลยคว้าเอาไวโอลินมาสีให้เป็นของแถม ขณะที่พระบรมศพค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปในเตาแล้วเพลิงก็ลุกขึ้น เป็นอันสิ้นสุดวาระสุดท้ายของพระมหากษัตริย์ผู้วางรากฐานของระบอบ ประชาธิปไตย อีกหลายปีจึงมีการเชิญพระบรมอัฐิ และเชิญขึ้นสู่พระบรมพิมานเคียงคู่กับกษัตริย์ในอดีตอย่างสมเกียรติ ส่วนพระอังคารก็นำไปไว้ใต้ฐานพระประธานวัดราชบพิตร คู่กับ รัชกาลที่ 5
ทั้ง หมดเพื่อประมวลลงสู่ประโยคสำคัญว่า รัชกาลที่ 7 เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกยกย่อง โดยเน้นตรงประโยคสำคัญ ชีวิตของพระองค์ใช้สันติธรรมเป็นเครื่องนำทางตลอด ไม่ฮึกไม่เหิมจะต่อสู้แม้มีโอกาสทำได้ แต่ไม่ทรงปรารถนาจะเห็นความตาย การนองเลือดเกิดขึ้น
ประโยคสำคัญที่รับสั่งเสมอคือ ทรงยอมแพ้เพียงคนเดียวแล้วให้คนอื่นรอดและสงบ ดีกว่าชนะแล้วให้คนอื่นสูญเสียและตาย แค่นี้คือความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์พระองค์นี้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น