24 ก.พ.2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่ง (สนช.) ในวันที่ 25 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยชี้ว่า เนื้อหาบางส่วนของของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ในประเด็นเกี่ยวกับนิยามของผู้จัดการชุมนุมที่เปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง, การจำกัดพื้นที่และระยะห่างในการชุมนุม, การวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่, เขตอำนาจศาลที่จะตรวจสอบการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการและเข้าควบคุมการชุมนุม และแนวทางการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ร่วมชุมนุม โดยมีรายละเอียดข้อสังเกต ดังนี้
- 1. นิยามของผู้จัดการชุมนุม หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะและหมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น การให้นิยามเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการชุมนุมในร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเป็นการให้ความหมายเพื่อการตีความอย่างกว้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อการที่ต้องรับผิดหากการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- 2. การจำกัดพื้นที่และระยะห่างในการชุมนุมตามมาตรา 7 ห้ามชุมนุมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ภายในรัศมี 150 เมตร ห้ามชุมนุมในรัฐสภา ทำเนียบ และศาลเว้นแต่จะจัดพื้นที่ไว้เพื่อสำหรับการชุมนุมซึ่งอาจส่งผลให้การชุมนุมไม่บรรลุเป้าหมายของการชุมนุมเพราะในวรรคท้ายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจสามารถสั่งห้ามการชุมนุมในพื้นที่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรแม้เป็นพื้นที่ที่จัดให้ชุมนุมได้
- 3. มาตรา 21 กรณีมีการวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งยกเลิกการชุมได้นั้นหากมีการร้องขอต่อศาลโดยพนักงานผู้ดูแล เห็นว่ากลไกของศาลควรจะนำมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบภายหลังจากมีการชุมนุมมิใช่อยู่ในขั้นตอนการออกคำสั่งเพื่อห้ามการชุมนุม
- 4. เขตอำนาจศาล การกำหนดให้ศาลยุติธรรม มีเขตอำนาจศาลที่จะตรวจสอบการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการและเข้าควบคุมการชุมนุม ในประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ซึ่งตามบทบัญญัติมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางฝ่ายปกครอง เห็นว่าควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองจึงจะเหมาะสม มีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักนิติรัฐมากกว่าการตรวจสอบของศาลยุติธรรม
- 5. ขาดการกำหนดกลไกและแนวทางการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ร่วมชุมนุมและบุคคลอื่น ในกรณีที่มีการชุมนุมมากกว่าหนึ่งกลุ่มและมีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทะหรือความขัดแย้ง ในร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น