วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

จี้ผู้บริหาร มธ.ปกป้องนักวิชาการ เปิดแคมเปญ ‘ใครๆ ก็เป็นสมศักดิ์เจียมฯ ได้’



26 ก.พ.2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตัวแทนนักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยปกป้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลากรทางวิชาการ หลังสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ถูกให้ออกจากราชการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยลงนามโดยสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ โดยระบุว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงเนื่องจากขาดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยก่อนหน้านี้สมศักดิ์ได้ยื่นเรื่องขอลาปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ แต่ขั้นตอนดำเนินไปอย่างล่าช้า จึงได้ยื่นหนังสือลาออกในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติจนกระทั่งมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการในที่สุด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2557 เกิดเหตุคนร้ายยิงปืนและปาก้อนอิฐเข้าไปในบ้านพักของสมศักดิ์ขณะที่เขาอยู่ภายในบ้าน และต่อมาหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีคำสั่ง คสช.ให้สมศักดิ์ไปรายงานตัว แต่เขาปฏิเสธ ทำให้ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางและถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมศักดิ์เป็นนักวิชาการที่เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112
สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์ มีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยหยุดนำเรื่องวินัยบุคลากรมาใช้อ้างเพื่อลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทางวิชาการและการวิจัยที่แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต และปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของบุคคลากรอย่างเต็มความสามารถ โดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออก และสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ โดยระบุว่าหากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้ อันเนื่องมาจากการแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชน และแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีนักวิชาการ นักเขียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมลงชื่อแนบท้ายราว 160 คน

ภายหลังตัวแทนนักวิชาการและนักศึกษาอ่านแถลงการณ์แล้ว มีการเปิดการรณรงค์ ‘ใครๆ ก็เป็นสมศักดิ์เจียมฯ ได้’ โดยการโรยแป้งฝุ่นสีขาวลงบนศีรษะให้มีสีผมเหมือนกับสีผมของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพื่อสะท้อนว่าทุกคนมีโอกาสที่จะถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศจำนวนมากสนใจมารายงานข่าว และมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย โดยที่ตลอดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายมาสังเกตการณ์ตั้งแต่ก่อน 17.00 น.จนกระทั่งสิ้นสุดกิจกรรม
มติชนออนไลน์รายงานว่า ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน มีการจัดกิจกรรมจุดเทียนส่องแสงสว่างทางวิชาการ ที่ลาน อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยกลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่า ‘ประชาคมคัดค้านคำสั่งไล่ อ.สมศักดิ์ ออกจากราชการ’ โดยจัดกิจกรรม อ่านกลอน อ่านแถลงการณ์ ก่อนจะร่วมจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์ และร้องเพลงเพื่อมวลชน
มีรายงานข่าวถึงความเห็นของสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีการไล่ออกสมศักดิ์ว่า การลงโทษครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่สมศักดิ์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และไม่เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นสถาบันฯ เพราะมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วและเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการตามกฎหมาย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนยันว่าคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีความเห็นว่าสมศักดิ์ละทิ้งการปฏิบัติราชการจริง มหาวิทยาลัยจึงต้องตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง มีผลให้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการในเวลาต่อมา ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวด้วยว่า สมศักดิ์สามารถยืนอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของมหาวิทยาลัยได้ภายใน 30วัน ตามกฎหมาย
................................
แถลงการณ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพ
ของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
อนุสนธิจากกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ โดยที่ ดร.สมศักดิ์ ถูกวิกฤติการณ์ทางการเมืองคุกคามถึงชีวิต จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศและได้ยื่นเรื่องขอลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการไว้ก่อน แต่เมื่อถูกถ่วงเรื่องไว้ จึงได้แสดงความจำนงขอลาออกจากราชการ ดังความปรากฏในสื่อสาธารณะแล้วนั้น
พวกเราเห็นว่า ดร. สมศักดิ์ ควรมีสิทธิอุทธรณ์ และสิทธิอื่นๆ เช่น การลาเพิ่มพูนความรู้ การลากิจ กระทั่งการลาออก รวมไปถึงการต่อสู้คดีความในศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาลทหาร และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการนำข้ออ้างเรื่องวินัยบุคลากร มาใช้เพื่อรวบรัดตัดตอนและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ แม้พวกเรามิได้เห็นว่านักวิชาการควรมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป แต่ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ การแสดงความเห็นวิชาการยิ่งต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้การแสดงความเห็นในประเด็นสำคัญของสังคมสามารถกระทำได้ และถูกตรวจสอบจากสาธารณชน มากกว่าจะโถมทับความเห็นที่แตกต่างด้วยการไล่ออกจากราชการโดยใช้อำนาจแบบเผด็จการ ซึ่งน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ละทิ้งโอกาสที่จะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการปกป้องหลักเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่กลับส่อแสดงความหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการที่แทรกแซงเข้ามาในมหาวิทยาลัย จนละเลยที่จะปกป้องบุคลากรของตน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อความน่าเชื่อถือด้านเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย
ดังนั้น พวกเราผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้แสดงความกล้าหาญทางวิชาการและจริยธรรมอย่างเปิดเผย ดังนี้
1. ในยามที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤติ อันมีสาเหตุมาจากอคติของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ทางการเมือง มหาวิทยาลัยต้องแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัย ซึ่งได้แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต แต่กลายผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงต้องปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคคลากรผู้นั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง
2. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความมั่นคงทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าว ด้วยการรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออก และสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ ทั้งนี้ โดยหลักการสากลแล้วการขอใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่มีผลเป็นโทษในทางวินัย
3. หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้ อันเนื่องมาแต่การแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชน และแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก
พวกเราเชื่อมั่นว่า การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการนั้น จะช่วยให้สังคมได้เข้าใจมิติของวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน สามารถคลี่คลายไปได้ตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นหลักประกันความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อความเจริญงอกงามของประชาชนและประเทศชาติ สืบไป

แถลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558
ณ ลานอนุเสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น