วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

องค์กรผู้บริโภคยื่น กสท. สอบกรณี SLC ถือหุ้นเนชั่น-แกรมมี่ หวั่น ปชช.ถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

องค์กรผู้บริโภคขอให้ กสท. ตรวจสอบการถือหุ้น SLC หวั่น ประชาชนถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
2 ก.พ. 2558 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้แก่ นางสาวชลดา บุญเกษม นางมณี จิรโชติมงคลกุล พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 3 คน ได้แก่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เพื่อขอให้ตรวจสอบการเข้าถือหุ้นในกิจการสื่อของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์(1988) จำกัด (มหาชน)  หรือ SLC
นางสาวชลดา กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการติดตามสถานการณ์ จากกรณีที่ บ. SLC ได้เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทเครือแกรมมี่  และ บริษัทสื่อเครือเนชั่น โดยที่ บริษัท SLC มีสถานะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ ช่องข่าวสปริงนิวส์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล และได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อย 10 ของบริษัทเครือเนชั่น ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ประเภทหมวดหมู่ข่าวสารเช่นกัน นอกจากนี้ SLC ได้เข้าไปซื้อหุ้น บริษัทเครือแกรมมี่ ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทใหญ่ของบริษัทที่เป็นผู้รับใบอนุญาต ช่องจีเอ็มเอ็ม หมวดหมู่ช่องทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(SD) และช่อง One  หมวดหมู่ช่องทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ในสัดส่วนร้อยละ 1.22 นั้น จากกรณีนี้ เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนมีความกังวลว่า การเข้าถือหุ้นในกิจการสื่อเกินกว่าถึง 3 กลุ่มบริษัท อาจขัดต่อเจตนารมณ์ในการป้องกันครอบงำกิจการ และเรื่องผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ตามที่กำหนดไว้ก่อนการประมูลตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556
ทั้งนี้  ข้อ 7.2 ของประกาศฉบับดังกล่าวฯ กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยการพิจารณาให้เป็นไปตามภาคผนวก ก และ ข แล้วแต่กรณี โดยในภาคผนวก ข ได้บัญญัติ นิยาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมการประมูลนั้น การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในข้อ 8.4 กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละหนึ่งใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ จะเห็นได้ว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 และ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ทั้งสองประกาศได้อ้างอิงฐานกฎหมายในเรื่องการป้องกันการผูกขาดไว้อย่างชัดแจ้งตามที่ปรากฏในมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว กำหนดว่า เพื่อป้องกันมิให้บุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายหรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกันหรือ ครองสิทธิข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเข้าถือหุ้นเกินกว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลที่ตั้งไว้ในกิจการโทรทัศน์ ประเภทหมวดหมู่ข่าวสารสาระถึง 2 ช่อง เป็นการกระทำที่อาจขัดต่อประกาศ กสทช. และข้อกฎหมายในเรื่องการป้องกันการผูกขาด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงขอความร่วมมือมายังหน่วยงานของท่านในฐานะองค์กรกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงตามมาตรา 27 (17) แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการกำหนดลักษณะการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้การกระทำที่ผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน โปรดพิจารณานำความเห็นและข้อกังวลของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหานี้เพิ่มเติม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านในการคุ้มครองการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค และ ขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้
ด้านนางสาวสุภิญญา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 ก.พ. นี้ ทาง กสทช.จะเปิดเวที เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูล รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้หลายๆฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น