สนช. ลงมติไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ยังไม่ชัดเจนในการเอาผิด
12 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงบ่ายเป็นการลงคะแนนลับถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีต ส.ว. จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 157 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ผลปรากฏว่า คะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงขอจำนวนของสมาชิกสนช. ที่มีอยู่จำนวน 220 คน ดังนั้น จึงถือว่าที่ประชุมสนช. ลงมติไม่ถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงคะแนนถอดถอนเป็นรายบุคคล ที่ได้จำแนกความผิดออกเป็น 4 กลุ่ม ตามข้อกล่าวหา คือ กลุ่มแรก ผู้ที่ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จำนวน 2 คน / กลุ่ม 2 ผู้ที่ลงมติในวาระ 1 2 และ 3 จำนวน 22 คน / กลุ่ม 3 ผู้ที่ลงมติวาระ 1 และวาระ 3 จำนวน 13 คน และกลุ่ม 4 ลงมติในวาระ 1 และ 2 จำนวน 1 คน โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่า
- กลุ่มแรก ภารดี จงสุขธนามณี ได้คะแนนเสียงถอดถอน 35 ไม่ถอดถอน 166 งดออกเสียง 7 พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ได้คะแนนเสียงถอดถอน 35 ไม่ถอดถอน 164 งดออกเสียง 9
- กลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีคะแนนถอดถอนมากที่สุดคือ ประสิทธิ์ โพธสุธน ได้คะแนนเสียงถอดถอน 77 ไม่ถอดถอน 123 งดออกเสียง 8 และผู้ที่มีคะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดของกลุ่มนี้มี 3 คน ได้แก่ สุรศักดิ์ ยนต์ตระกูล สุรชัย ชัยตระกูลทอง และจตุรงค์ ธีระกนก โดยทั้ง3คนได้คะแนนเสียง ถอดถอน 63 ไม่ถอดถอน 119 งดออกเสียง 26
- กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีคะแนนถอดถอนมากที่สุดคือ ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ได้คะแนนเสียงถอดถอน 50 ไม่ถอดถอน 149 งดออกเสียง 8 ขณะที่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดคือ วรวิทย์ บารู ได้คะแนนเสียงถอดถอน 47 ไม่ถอดถอน 157 งดออกเสียง 9
- กลุ่มที่4 วิทยา อินาลา ได้คะแนนเสียงถอดถอน 66 ไม่ถอดถอน 139 งดออกเสียง 3
ทั้งนี้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะส่งมติดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต 38 ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตามจากการลงมติดังกล่าวสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่สามารถเอาผิดถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คนได้ เนื่องจากเห็นว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า อดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสามวาระ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขนั้น ยังไม่ชัดเจนในการเอาผิดได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ได้สิ้นสภาพการบังคับใช้ไปแล้ว อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณากฎหมายที่ผ่านมา ก็เคยมีการขอเปลี่ยนร่างกฎหมายใหม่ แทนฉบับเดิมก่อนที่จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตลอดจนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ว. ลงสมัคร ส.ว.ได้อีกสมัย โดยไม่ต้องเว้นวรรคนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่รู้ว่า อดีต ส.ว.เหล่านี้จะลงสมัคร ส.ว.อีกรอบหรือไม่ และถ้าลงสมัครแล้วจะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น