โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ยัน ไม่มีการสืบทอดอำนาจ แค่สานต่อการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ชี้เนื้อหาเรื่องการการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีอายุ 5 ปี แต่ต่ออายุได้อีก 5 ปี ผ่านประชามติ
12 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ได้ชี้แจงความคืบหน้าการยกร่าง รธน. ต่อที่ประชุม สนช. เกี่ยวกับภาพรวมหลักประกันของการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ว่า ประเด็นนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ไม่เคยมีใน รธน.ฉบับใดมาก่อน ซึ่งใน รธน.ฉบับใหม่นี้ ได้บัญญัติไว้ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รวมทั้งสิ้น 21 มาตรา
ถือเป็น 2 ใน 4 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือ หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข เพราะสาเหตุที่แท้จริงที่ของความขัดแย้งในประเทศที่ผ่านมาเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตามเนื้อหาการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนี้จะมีอายุการบังคับ ใช้อยู่ชั่วคราวเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยหากมีการบังคับใช้ต่อไปต้องมีการทำประชามติ โดยประชาชนทั้งประเทศ และสามารถต่ออายุได้อีกไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาดำเนินการเกี่ยวกับการ ปฏิรูปประเทศเป็นการเฉพาะ พร้อมย้ำว่า ไม่มีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรีตามปกติแต่อย่างใด เป็นเพียงการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปประเทศ ที่ไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบรัฐสภาในสถานการณ์ปกติได้เท่านั้น เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
คำนูณ กล่าวด้วยว่า หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้อย่างเป็นทางการ สนช.จะมีภารกิจที่หนักมากในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) ประกอบ รธน. และร่าง พ.ร.บ.ที่จำเป็น รวมทั้งสิ้น 27 ฉบับ พร้อมยืนยันว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช. และ กมธ.ยกร่าง รธน. ไม่มีการอยู่ต่อเพื่อสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด แต่เป็นการอยู่เพื่อทำงานหนักอย่างยิ่ง เพื่อให้การบังคับใช้ รธน.บรรลุผลตามเจตนารมณ์เท่านั้น
จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่วาระการลงมติกระบวนการถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งขั้นตอนการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับ ข้อ 157 สำหรับรูปแบบการลงมติจะใช้วิธีเข้าคูหาลงคะแนนลับ โดยสมาชิก สนช. จะได้รับบัตรคนละ 4 ใบ แบ่งออกเป็น 4 สี คือ สีส้ม สีเขียว สีขาว และฟ้า เพื่อออกเสียงตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มฐานความผิด แต่ละฐานความผิดประกอบด้วยอดีต ส.ว. จำนวนกลุ่มละ 22 คน 13 คน 2 คน และ 1 คน ทั้งนี้จะมีการขานชื่อให้สมาชิกมารับบัตรทีละคน คนละ 4 ใบ โดยสมาชิก สนช. จะลงคะแนนกาบัตรในคราวเดียวกัน 4 ใบ และหย่อนบัตรลงในกล่องตามสีของบัตร คาดกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ผู้ที่ถูกถอดถอนจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ คือ 132 เสียง โดยผู้ที่ถูกถอดถอนจะถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี และหากเป็นสมาชิก สนช. หรือสมาชิก สปช.จะต้องสิ้นสภาพการดำรงตำแหน่งดังกล่าวทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น