11 มีนาคม 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เรียกร้องสมาชิกสภานิติบัญญัติของไทยให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย และคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกอย่างเอกฉันท์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และต้องมีการพิจารณาอีกสองวาระก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกอย่างเอกฉันท์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และต้องมีการพิจารณาอีกสองวาระก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งจดหมายถึงทางการไทยแล้ว เพื่อแสดงความกังวลที่มีต่อข้อบทหลายมาตราของร่างพ.ร.บ.ฉบับก่อน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นไปปรับใช้ในเนื้อหา
แต่ทางหน่วยงานยังคงกังวลกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ตามเนื้อหาที่เป็นอยู่ ซึ่งยังคงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมอย่างสงบเกิดขึ้นอย่างถูกกฎหมาย สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าว ในขณะที่สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ของกติกา ICCPR) และการสมาคม (ข้อ 22 ของกติกา ICCPR) ยังคงถูกคุกคาม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งกับการเพิ่มบทลงโทษทางอาญาตามมาตรา 27-35 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กรณีที่บุคคลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการจัดการชุมนุม รวมทั้งการต้องขออนุญาตล่วงหน้าตามข้อกำหนดในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ การเอาผิดทางอาญากับผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม (UN Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) ได้ระบุว่า เราควรสันนิษฐานเป็นเบื้องต้นว่า ผู้ชุมนุมมีเจตนาในการชุมนุมอย่างสงบ[1] ผู้รายงานพิเศษย้ำว่า ไม่ควรกำหนดให้ต้องขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมโดยสงบ[2] อย่างมากที่สุด กรอบกำกับดูแลการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ควรมีลักษณะการให้แจ้งล่วงหน้า โดยไม่ทำให้เป็นภาระ ทั้งนี้โดยมีเหตุผลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิดังกล่าว และสามารถใช้มาตรการเพื่อประกันความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ๆ[3] ผู้รายงานพิเศษมีข้อเสนอแนะว่า การแจ้งล่วงหน้าควรได้รับการพิจารณาอย่างมีสัดส่วนเหมาะสม และควรเป็นข้อกำหนดให้ต้องทำเฉพาะกรณีที่เป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือเฉพาะกรณีที่คาดว่าจะทำให้เกิดเหตุวุ่นวายระดับหนึ่งเท่านั้น[4]
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงกังวลกับการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ รวมทั้งที่ปรากฏในมาตรา 16 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ชุมนุมซึ่งจะต้องไม่ก่อให้เกิด “ความไม่สะดวก” และต้องไม่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างเวลา 18.00 น.-06.00 น. ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการจำกัดการชุมนุมอย่างสงบมากเกินกว่าที่จะกระทำได้ตามกติกา ICCPR ทั้งกฎหมายยังให้อำนาจตำรวจในการห้ามการชุมนุม หากเชื่อว่าจะมีการขัดขวางบริการของภาครัฐ หรือการปิดกั้นการเข้าไปยังสถานที่ตามที่กำหนดโดยนายกรัฐมนตรี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการตัดข้อบัญญัติใด ๆ ที่กำหนดบทลงโทษทางอาญาหรือปกครอง รวมทั้งโทษจำคุกหรือค่าปรับ กรณีที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งว่าจะมีการชุมนุม และให้ตัดข้อบัญญัติใด ๆ ที่เอาผิดกับการกระทำอันเป็นผลมาจากการชุมนุมอย่างสงบทั้งของผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ประท้วง ทั้งนี้โดยคำนึงว่ากรณีที่มีการกระทำความผิดทางอาญาที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ควรมีการนำกฎหมายอาญาทั่วไปมาใช้กับผู้ชุมนุมเช่นเดียวกับพลเรือนคนอื่น ๆ
ทางองค์การเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า โดยให้เหลือเพียงการแจ้งล่วงหน้าในกรณีที่เป็นการจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือกรณีที่คาดว่าจะเกิดความวุ่นวายในระดับหนึ่ง
แม้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะอ้างถึงหลักประกันและข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันไม่ได้ให้หลักประกันเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบแต่อย่างใด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยฟื้นคืนหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ และให้ขจัดอุปสรรคใด ๆ ที่ขัดขวางการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ทั้งนี้รวมถึงถอนการประกาศเลี่ยงสิทธิ์ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยกเลิกคำสั่งของกองทัพและกฎอัยการศึก อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างสงบได้ตามกฎหมาย และถึงแม้จะมีการผ่านร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฉบับนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น