วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

นักวิชาการกัมพูชาวิพากษ์เผด็จการทหารไทย 'เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ประเทศเพื่อนบ้าน'


เดช สก อุดม นักวิชาการกัมพูชาผู้ศึกษาการเมืองไทยกล่าววิจารณ์กรณีการยึดอำนาจล่าสุดและการปกครองแบบเผด็จการในไทยว่าอาจจะส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้ไม่นาน
9 มี.ค. 2558 นักวิชาการกัมพูชาผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารของไทยว่าอาจจะส่งสัญญาณไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งหลายประเทศเพิ่งมีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย
เดช สก อุดม (Deth Sok Udom) นักวิชาการชาวกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยซามานกล่าวผ่านรายงานวิทยุ "อาเซียนคอร์เนอร์" ว่าถ้าหากการปกครองช่วงเผด็จการทหารของไทยยังคงดำรงอยู่ไปจนถึงปีหน้าและหากไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงก่อนรัฐประหารก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า รวมถึงกัมพูชา และประเทศคอมมิวนิสต์อย่างลาว เพราะพวกเขาอาจจะใช้เป็นข้ออ้างในเรื่องความเสี่ยงของประชาธิปไตยและอ้างถึงประโยชน์ของรัฐบาลเผด็จการ
สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาหรือ 'วีโอเอ' รายงานว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามรวมกัน และก่อนหน้านี้เคยเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียนที่เป็นผู้นำในด้านต่างๆ รวมถึงประเด็นประชาธิปไตย แต่ความเป็นผู้นำอาเซียนของไทยก็ถดถอยลงหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 โดยกองทัพไทยซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจมากที่สุดในการเมืองไทย
เดช สก อุดมกล่าวว่าในขณะที่ประเทศอย่างพม่าและกัมพูชาก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอาจจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนัก เดช สก อุดมยังกล่าวอีกว่าประเทศไทยเองดูเหมือนจะไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากการเมืองของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนเลยรวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยจากที่ก่อนหน้านี้เคยถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมาก่อน
ด้าน เยนนี วาฮิด ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย อับดูร์ราห์มัน วาฮิด ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าววีโอเอกัมพูชาว่า อินโดนีเซียอาจจะไม่ใช้สถานะของตนในการแทรกแซงกิจการของไทยโดยตรงแต่จะอยู่ในสถานะเป็นผู้ให้ "แรงบันดาลใจ" แก่ประเทศอาเซียนอื่นๆ มากกว่า
เธอกล่าวด้วยว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและประเด็นความมั่นคงมากกว่าประเด็นอ่อนไหวอย่างการแทรกแซงทางการเมืองของประเทศอื่น
เดช สก อุดมกล่าวอีกว่า ในขณะที่อินโดนีเซียมีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยเร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีนักในระดับโลก และเมื่อมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับโลก อินโดนีเซียก็อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศไทยไม่มากนัก อย่างไรก็ตามนักวิชาการกัมพูชาก็สรุปว่าสภาพการเมืองของไทยจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และกลายเป็นประเด็นที่ต้องจัดการร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น