วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

พาณิชย์คาดปรับตัวเลขส่งออกใหม่ปีนี้ จาก 4% เหลือ1%


22 เม.ย.2558 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับภาคเอกชน ถึงสถานการณ์ส่งออกในปีนี้ว่า ที่ประชุมคุยถึงสถานการณ์ส่งออกทั่วโลกโดยพบว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนักและตัวเลขการส่งออกกว่า 40 ประเทศทั่วโลกก็ติดลบ รวมทั้งประเทศไทย คาดว่าในไตรมาสแรกการส่งออกของไทยจะติดลบ ส่วนตัวเลขการส่งออกทั้งปีก็จะมีการปรับประมาณการใหม่โดยลดลงจาก 4% และคาดว่าจะเหลือไม่ต่ำกว่า 1%
ทั้งนี้ในวันที่ 24 เม.ย. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะหารือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหาร 2.อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 3.ยานยนต์และชิ้นส่วน 4.สิ่งทอ 5.อัญมณีและเครื่องประดับ 6.วัสดุก่อสร้าง 7.สินค้ากลุ่มบริการและสุขภาพ เช่น สปา ร้านอาหาร 8.สินค้าไลฟ์สไตล์ 9.โลจิสติกส์ และ 10.กลุ่มตลาด CLMV โดยจะสรุปตัวเลขการส่งออกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
"หลังจากประชุมกำหนดให้จัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนจากนั้นก็จะเดินทางไปยังประเทศต่างๆ หรือโรดโชว์ เพื่อบุกและขยายตลาดทันทีแม้ว่าเราคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกจะลดลงแต่ก็ไม่ยอมแพ้ยังต้องเดินหน้า" รมว.พาณิชย์ กล่าว
(ที่มา : มติชนออนไลน์, 22 เม.ย.58)
คลังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
22 เม.ย.58 นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ว่า ขณะนี้ได้ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทเอกชน 4 รายในการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเอกสารอีก 11 ราย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ภายในไตรมาสนี้ โดยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้น และลดสัดส่วนหนี้นอกระบบลง
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 22 เม.ย.58)
ครม.เห็นชอบ ตั้งราคาเก็บขยะบ้านละ150บ./เดือน
21 เม.ย.58 นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วย สุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป โดยสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าว คือ การให้อำนาจเทศบาลในการจัดการขยะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์ให้เทศบาลใช้เพื่อจัดเก็บค่าจัดการขยะ ได้ครัวเรือนละ150 บาทต่อเดือน   ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะดังกล่าวได้มีการศึกษาและวิจัยแล้วพบว่า ตามปกติแต่ละครัวเรือนจะสร้างขยะ คนละ 1 ก.ก.ต่อวัน เฉลี่ยให้แต่ละครัวเรือนมีสมาชิก 5 คน แต่ละเดือนจะเท่ากับสร้างขยะ 150 ก.ก. โดยค่ากำจัดขยะเฉลี่ยก.ก.ละ 1 บาท จะเท่ากับเดือนละ 150 บาท ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานกลาง กำหนดไว้เพื่อให้เทศบาลได้มีเกณฑ์อ้างอิงในการจัดเก็บ แต่หากครัวเรือนสามารถลดปริมาณขยะได้น้อยกว่าเกณฑ์ก็อาจจะเสียน้อยกว่าหรือไม่เสียก็ได้
ซึ่งหลักการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้ครัวเรือนตระหนักในการคัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะ เช่น ขวด กระดาษ ซึ่งเป็นขยะประเภทที่สามารถคัดแยกไว้ขายได้ ซึ่งเมื่อสร้างขยะน้อยก็จะไม่เสียค่าจัดการขยะ เป็นต้น โดยการเก็บค่ากำจัดขยะดังกล่าวเนื่องมาจากปัจจุบันปริมาณขยะมีมาก เเละต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการจัดการ จึงจำเป็นต้องจัดเก็บค่ากำจัดขยะเพื่อให้ครัวเรือนต่างๆมีความรับผิดชอบมากขึ้น  นอกจากครัวเรือนต้องรับผิดชอบขยะของครัวเรือนของตนเอง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยมีแนวคิดเก็บค่ากำจัดขยะรวมอยู่ในค่าที่พักวันละ 2 บาทต่อคน และให้สถานประกอบการเป็นผู้นำส่งเทศบาล
(ที่มา : มติชนออนไลน์, 22 เม.ย.58)
คลังเตรียมเสนอแนวทางรักษาวินัยการคลัง
21 เม.ย.58 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กล่าวว่า กรณีนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนช่วยผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ยากไร้ เพราะแนวโน้มระยะยาวคาดว่าจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในสังคม จึงต้องหามาตรการดูแลนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยมอบหมายให้ศึกษาแนวทางการดึงเงินภาษีบาปที่จัดสรรให้กองทุนต่าง ๆ กลับมาบางส่วน เพื่อนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้ในกองทุนช่วยผู้สูงอายุ โดยให้รายงานความคืบหน้ากลับมาภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ แนวทางที่ได้มอบหมายให้ สศค.ดำเนินการคือ ศึกษาเม็ดเงินภาษีที่เก็บจากสุรา และยาสูบที่จัดสรรให้กองทุนต่าง ๆ ทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และกองทุนส่งเสริมกีฬา โดยจัดสรรรายได้มาจากการจัดเก็บ “ภาษีบาป” หรือภาษีจากสุราและยาสูบของกรมสรรพสามิตอัตราร้อยละ 2 มาจัดสรรให้ทั้ง 2 องค์กร ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้พิจารณาดูด้านกฎหมายว่าสามารถจะนำกลับมา หรือจัดสรรให้เท่าที่จำเป็นได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกำลังศึกษาแนวทางการรักษาวินัยการเงินการคลังให้รัดกุมมากขึ้น เพราะหากหน่วยงานใดต้องการนำเงินไปใช้จะมีการยกร่างกฎหมาย เพื่อให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีส่งให้โดยตรง เช่น กองทุนส่งเสริมกีฬา ซึ่งดำเนินการไปแล้วช่วงที่ผ่านมาจากภาษีสรรพสามิต เพื่อต้องการให้การจัดสรรเงินอยู่ในกรอบวิธีงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะมีหน่วยงานออกกฎหมายเพิ่มเพื่อให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีส่งให้ อาจกระทบต่อวินัยการคลังและวิธีงบประมาณได้ จึงเตรียมเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีคลังพิจารณา
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 21 เม.ย.58)
ธปท.คาดจีดีพีทั้งปีขยาย 3.8%
21 เม.ย.58 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2558 ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยในประมาณการล่าสุดเดือนมีนาคม ธปท. คาดว่าจีดีพี ทั้งปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ  3.8
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 21 เม.ย.58)
สศช. ยันเศรษฐกิจรัฐบาลคสช.ดีขึ้น คาดจีดีพีไตรมาสแรกโต 3%
21 เม.ย.58 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงผลงานรอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2557-12 มีนาคม 2558 ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เห็นภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น จากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ติดลบร้อยละ 0.5 ในไตรมาสแรกปี 57 เริ่มกลับมาขยายตัวได้จากการขับเคลื่อนของ 4 เครื่องยนต์หลัก คือ ความเชื่อมั่นของการบริโภคและเกษตรกร ที่ดีขึ้นจากการได้รับเงินค้างจ่ายจากโครงการรับจำนำข้าว ความเชื่อมั่นทางธุรกิจฟื้นตัวขึ้น ความเชื่อด้านการท่องเที่ยว จากการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความเชื่อมั่นการลงทุนภาครัฐ จากการเร่งรัดงบประมาณ การส่งเสริมการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจช่วง 2 เดือนแรกปี 58 (ม.ค.-ก.พ.58) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดย สศช. คาดว่าจีดีพีไตรมาสแรกปี 58 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3 ซึ่งจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พ.ค. 2558 ซึ่ง สศช. เชื่อว่ากลไกลต่างๆ กำลังทำงานตามปกติ เศรษฐกิจจะดีขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.5 ตามเป้าหมาย
นายอาคม กล่าวว่า การท่องเที่ยว การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาครัฐกลับมาขยายครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาความต้องการเทียมในโครงการรถคันแรกเริ่มลดลงตามลำดับ อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านการท่องเที่ยวขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้นักท่องเที่ยว 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.58) ขยายตัวร้อยละ 22.5 ในขณะที่การเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71.9 สูงที่สุดในรอบ 23 เดือน ด้านการใช้จ่าย ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน การลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 123.2
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังคงซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการลดลงของสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย แต่หากหักการส่งออกน้ำมัน และ ทองคำออก การส่งออกไทยติดลบน้อยลง ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี 2 เดือนแรกของปี เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 การว่างงานอยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.9
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 21 เม.ย.58)
ธุรกิจบัณฑิตย์ชี้คนกระเบียดกระเสียน เอสเอ็มอีหายใจระรวย
21 เม.ย.58 นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 428 รายจาก 8 จังหวัด  เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2558  สำรวจวันที่25 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2558
พบว่าเมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้  โดยแบ่งตามขนาดของสถานประกอบการพบว่า  สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (การจ้างงานไม่เกิน 5 คน)  54% ระบุว่า  ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  34% ระบุว่า  ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 12% ระบุว่า มากกว่าที่คาดการณ์ไว้  สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (การจ้างงาน 6 ถึง 50 คน) 44% ระบุว่า  ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  38%  ใกล้เคียงกัน  และอีก 18%  มากกว่าที่คาดการณ์ไว้   และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง (การจ้างงาน 51 ถึง 200 คน)  36% ระบุว่า  ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  47% ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้  และอีก 17% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยยอดขายในไตรมาสที่ 1ปีนี้เปรียบเทียบปีที่แล้วพบว่า รายย่อยขายลดลงประมาณ 32%ขนาดเล็กยอดขายลดลง 24% และผนาดกลางยอดขายลดลง 18%
”เอสเอ็มอีไทยมี 2.8 ล้านราย พบว่า 2 ล้านรายได้รับผลกระทบ และกลุ่มยอดขายลดลงพบว่าสภาพคล่องเหลือ15. วัน ซึ่งน่าเป็นห่วง ซึ่งก็คาดหวังรัฐจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งหากทำได้เร็วก็จะเห็นผลในปลายไตรมาส2. หรือต้นไตรมาส3″ นายเกียรติอนันต์กล่าว
​​ด้านการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2  เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1  พบว่า  สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย  23% คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้น  47%  ใกล้เคียงกัน  30%  แย่ลง  สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง  29%คาดว่าดีขึ้น  49% ใกล้เคียงกัน  22% แย่ลง  และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง  31% คาดว่าดีขึ้น  55%  ใกล้เคียงกัน  14% แย่ลง
สำหรับอุปสรรคสำคัญ 5 อันดับแรกที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจ  ได้แก่  การลดลงของกำลังซื้อในประเทศ  การขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งทุน  กำลังซื้อจากต่างประเทศ  การเกิดภัยแล้ง  และต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่ง ผู้ประกอบการปรับตัวมุ่งไปที่การกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการลดราคา  การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ พัฒนาให้บุคลากรทำงานให้ดีขึ้น  ควบคู่ไปกับการทำตลาดด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค  เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ  ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้เร็วที่สุด
“ในขณะนี้คนกระเบียดกระเสียน ไม่จำเป็นไม่ซื้อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลต่อยอดขายเอสเอ็มอี มีผลทำให้เอสเอ็มอีอยู่ในข่ายเจ็บปวดหายใจระรวย แต่รายย่อยเริ่มหายใจถี่เตรียมจะจากลา การแก้ปัญหาผู้ประกอบการต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดและภาครัฐต้องกำหนดแผนพัฒนาเอสเอ็มอีหากไม่ชัดเจนท้ายสุดไทยก็แข่งขันไม่ได้ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญที่เกิดการจ้างงานมั่นคงยั่งยืน” นายเกียรติอนันต์กล่าว
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 21 เม.ย.58)
บีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุน 3 เดือนแรกเกือบ 800 โครงการ
21 เม.ย.58 นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 บีโอไอพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกปี 2558 (ม.ค.-มี.ค.) บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 793 โครงการ เงินลงทุนรวม 217,560 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการอนุมัติโครงการลงทุนช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่า (โครงการที่ได้รับการอนุมัติช่วง 3 เดือนแรกปี 57 มีมูลค่า 34,650 ล้านบาท)
สำหรับกิจการที่ได้รับการอนุมัติในช่วงไตรมาสแรก กระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค 176 โครงการ เงินลงทุน 60,570 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 98 โครงการ เงินลงทุน 56,130 ล้านบาท เคมีภัณฑ์พลาสติก และกระดาษ 179 โครงการ เงินลงทุน 35,850 ล้านบาท กิจการ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 145 โครงการ เงินลงทุน 29,880 ล้านบาท เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 139 โครงการ เงินลงทุน 19,790 ล้านบาท อุตสาหกรรมเบา 43 โครงการ เงินลงทุน 10,120 ล้านบาท และกิจการกลุ่มแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมุลฐาน 13 โครงการ เงินลงทุน 5,210 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น