วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเตือนให้ตั้งสติก่อนหลงทางร่างรัฐธรรมนูญ


สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปมีข้อเสนอเพื่อตั้งสติร่วมกัน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่บนกรอบคิดว่า “รัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน” และลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง การจัดทำรัฐธรรมนูญต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปด้วยตนเอง ไม่ใช่รอการมีส่วนร่วมตามที่รัฐจัดให้ และประชาชนต้องลงประชามติก่อนประกาศใช้
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปได้เผยแพร่แถลงการณ์ "สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครึ่งทางรัฐธรรมนูญ ตั้งสติก่อนหลงทาง" มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
000
แถลงการณ์สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป
ครึ่งทางรัฐธรรมนูญ ตั้งสติก่อนหลงทาง
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 และ เปิดประชุมสภาประชาชนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอรัฐธรรมนูญประชาชน จากนั้นได้ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันการร่างรัฐธรรมนูญได้มาถึงครึ่งทาง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างแรกแล้วเสร็จ และอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และ คสช.
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ได้วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ บนกรอบคิดว่า รัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน และต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่วางระบบหรือโครงสร้างเพื่อนำไปสู่ “การลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มอำนาจประชาชน”
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปมีข้อเสนอเพื่อตั้งสติร่วมกัน ก่อนหลงทางดังต่อไปนี้

การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่
1.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมระดับตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย การวางแผนการพัฒนา การกำหนดอนาคตตนเอง โดยใช้พื้นที่ท้องถิ่นเป็นหลักไม่ใช่การร่วมรับรู้ข้อมูล เสนอความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และต้องปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินให้ชุมชน ประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยตัดสินใจหลักในการพัฒนาท้องถิ่นของตน
2. ที่มาของวุฒิสมาชิก และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องเชื่อมั่นและไว้วางใจพลเมือง
3.รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองบุคคล กลุ่มองค์กร มี่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ จากการคุกคาม การทำร้ายและการลอบสังหาร รวมทั้งมาตรการหรือกองทุนส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคพลเมือง

การสร้างสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้า
1. ชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่นหรือคนไทยซึ่งไม่มีสถานะบุคคล ซึ่งตั้งถิ่นฐานมาดั้งเดิมต้องได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน และมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนา ไม่ใช่มีสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติหรือรัฐจัดให้
2.รัฐธรรมนูญต้องวางระบบเพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคมสวัสดิการที่เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ
3.การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้า สร้างความเป็นธรรมที่ยั่งยืน
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป สนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบสัดส่วนผสม การให้มีสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง และเสนอให้ปรับปรุงบทบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในส่วนที่ว่าด้วย สิทธิผู้บริโภค สิทธิด้านสาธารณสุข สิทธิแรงงาน การมีส่วนร่วมในทุกระดับของหญิงและชาย สิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม รวมทั้งการปฏิรูประบบการศึกษาก่อนเริ่มดาเนินการโครงการหรือกินกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งได้จัดทำเป็นข้อเสนอในรายละเอียดแล้ว
สำหรับหมวดปฏิรูป เมื่อมีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูป ร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเฉพาะด้านซึ่งมีมากกว่า 7 คณะ ในลักษณะเป็นองค์กรซ้อนองค์กร ควรเป็นหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่จะพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเฉพาะด้านตามความจาเป็น ทั้งนี้ควรให้มีสภาปฏิรูประดับจังหวัด เพื่อเป็นพื้นที่ให้เกิดปฏิบัติการประชาชนปฏิรูปประเทศ
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ยืนยันว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องเป็นองค์กรเฉพาะ ไม่ควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้าสร้างความเป็นธรรม และให้วิธีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่แล้ว
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทบทวนบทบัญญัติ บางประการเช่น “พลเมืองต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือไม่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เป็นปฏิปักษ์ หรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน” เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
ควรทบทวนและตัดคำว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือวิธีการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติที่มีอยู่มากในหลายมาตรา เพราะจะทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีสภาพบังคับ ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายรองบัญญัติ
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ประสงค์จะร่วมพัฒนา รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม นำไปสู่การปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน และมุ่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ
ผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารบ้านเมือง และจัดทำรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้วยตนเอง ไม่ใช่รอการมีส่วนร่วมตามที่รัฐจัดให้ และข้อมูล เนื้อหาในแต่ละช่วงของการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องเปิดเผย ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่ปกปิด ห้ามเผยแพร่ เหมือนที่ผ่านมา
เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงขอเรียกร้องประชาชน ร่วมกันผลักดันให้มีการออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม
ด้วยจิตคารวะ
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป
20 เมษายน 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น