วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ซัด รบ.เตรียมลงนาม 'ปฏิญญาอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง' แต่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน


21 เม.ย.2558 นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง คณะทำงาน ASEAN WATCH ให้สัมภาษณ์จากเวทีอาเซียนภาคประชาชน ASEAN PEOPLE FORUM ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า รู้สึกผิดหวังเมื่อทราบข่าวว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN SUMMIT) วันที่ 27-28 เม.ย.นี้ จะมีการรับรองปฏิญาว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Declaration on an People-centerd ASEAN) เพราะอาเซียนมักจะทำตรงข้ามกับคำขวัญนี้มาโดยตลอด ไม่ให้เกียรติ ไม่เห็นหัวประชาชน กิจกรรมการพบกันระหว่างตัวแทนภาคประชาชนกับผู้นำอาเซียน (interface meeting) ก็มีอันต้องล่มแทบทุกปี เพราะท่านผู้นำไม่ยอมรับให้ตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาเข้าพบ
"อย่างปีนี้ ขณะนี้ก็เริ่มมีอย่างน้อยสองประเทศแล้วที่ผู้นำส่งสัญาณมาว่าไม่พอใจกับชื่อตัวแทนภาคประชาชนของประเทศตน ปฏิญญาว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางฉบับนี้ก็อีกเช่นกัน ไม่มีการปรึกษาหารือ ทำลับหลังประชาชน อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะเป็นจริงได้อย่างไร ถ้าผู้นำอาเซียนยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติที่มีต่อประชาชน ก็คงต้องเป็นเวทีคู่ขนาน ทำงานคู่ขนานกันไปเรื่อยๆ"
สุดท้าย คณะทำงาน ASEAN WATCH ให้ข้อมูลว่า เวทีอาเซียนภาคประชาชนปีนี้ ใช้ชื่องานว่า RECLAIMING THE ASEAN COMMUNITY FOR THE PEOPLE ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) เป็นเวทีครั้งสำคัญมาก เพราะเป็นปีที่ 10 ของการจัดงาน ภาคประชาชน 10 ประเทศนับพันคนจะมาร่วมกันทบทวนและทวงถามที่ทางของภาคประชาชนในอาเซียนและหาแนวทางร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อนให้อาเซียนตอบสนองและรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เมื่อวานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีวาระการขอความเห็นต่อร่างเอกสารที่จะรับรองระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 โดยกระทรวงการต่างประเทศ เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่างปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยแนวคิดทางสายกลาง อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังจะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ พร้อมร่างเอกสารรับรอง 2 ฉบับข้างต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศตีความว่าร่างเอกสารทั้งสองฉบับไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนา ไม่มีการลงนามร่วม แต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือจัดหารือรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน 
จากเอกสาร ครม.ระบุว่า เอกสารปฏิญญากัวลาลัมเปอร์มีสาระสำคัญที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมธรรมภิบาล นิติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สร้างเศรษฐกิจทุกภาคส่วน การพัฒนายั่งยืน สนับสนุน SME ส่วนปฏิญญาลังกาวี มีสาระสำคัญ ส่งเสริมแนวทางสายกลาง เสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคง ยึดหลักนิติธรรม แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น