เทวฤทธิ์ มณีฉาย สัมภาษณ์/เรียบเรียง
สัมภาษณ์ ‘แมน-ตาม’ ผู้ถูกรวบกิจกรรมรำลึก1ปีรัฐประหาร จากที่เคยไล่ทักษิณ ประท้วงสมัคร ค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จนล่าสุดถูกหาว่า ‘รับเงินทักษิณมาป่วนคสช.’ ชวนทำความรู้จักตัวตนกิจกรรมที่เขาทำและค่ำคืนวันถูกจับ
หลังจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นักศึกษาและประชาชน ร่วมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าสลายกิจกรรม พร้อมควบคุมตัวกว่า 30 คน ไปที่ สน.ปทุมวัน ข้ามคืน (
อ่านรายละเอียด) รวมทั้งที่ขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่ออกมาจัดกิจกรรม “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภอ.เมืองขอนแก่น พร้อมถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยเงินดังกล่าวได้จากการระดมเงินกัน(
อ่านรายละเอียด) นอกจากนี้ในช่วงสายของวันเดียวกันการจัดกิจกรรมเสวนา 1 ปี รัฐประหารของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยุติ พร้อมเชิญตัวผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมไปที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ตั้งข้อหา (
อ่านรายละเอียด)
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กก็มีการนำรูปของนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเหล่านั้นมาเผยแพร่ พร้อมระบุชื่อรวมทั้งเฟซบุ๊กของแต่ละคน เช่น เพจ ‘
กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ นอกจากนี้เพจสนับสนุนรัฐบาลทหารหลายเพจ เช่น ทหารปฏิรูปประเทศ เพจรวมมิตรการเมือง ฯลฯ ยังมีการกล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมว่าบุคคลเหล่านั้นรับจ้างมาป่วน เป็นควายแดง รับเงินทักษิณ รวมไปถึงการตัดต่อภาพข้อความที่บุคคลเหล่านั้นถือในกิจกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริงผู้ชุมนุมในวันนั้นหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังมีประชาชนผู้ที่เรียนจบแล้ว รวมทั้งไม่ได้มีกลุ่มความคิดทางการเมืองฝั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีความหลากหลายอยู่มาก ประชาไทจึงชวนมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการเข้าไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น โดยเริ่มจาก ปกรณ์ อารีกุล หรือ ‘แมน’ ผู้ที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งประเด็นการศึกษาที่เป็นธรรม ประเด็นการปฏิรูปที่ดิน ประเด็นแรงงาน ฯลฯ และ ธิวัชร์ ดําแก้ว หรือ ‘ตาม’ กรรมการกลุ่ม YPD สองเพื่อนสนิทวัยเบญจเพส ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว โดย ‘แมน’ ออกมาทำกิจกรรมทางสังคมเต็มตัว ขณะที่ ‘ตาม’ เรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
‘แมน’ และ ‘ตาม’ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมและเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2551 โดยแมน อยู่มหาวิทยาลัยบูรพา ขณะที่ ‘ตาม’ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2551 ทั้งคู่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กินนอนอยู่ในทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น หลังจากนั้นได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มแรงงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง กลุ่มชาวบ้านเรื่องที่ดินทำกิน และกลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
สำหรับการเมืองก่อนรัฐประหารปี 2557 นั้น ทั้งคู่เคยร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ขณะที่ ‘แมน’ เห็นว่าควรมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 และควรหยุดการเคลื่อนไหวที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา แต่ ‘ตาม’ เห็นว่ารัฐบาลขณะนั้นควรมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่มากกว่าการยุบสภา จึงเคลื่อนไหวต่อมาอีก อย่างไรก็ตามทั้งคู่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเหมือนกัน
จากนี้ประชาไทจะชวนมาทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของทั้งคู่ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของทั้งคู่ เข้าใจเหตุที่พวกเขาร่วมกิจกรรมดังกล่าว บรรยากาศก่อนเจ้าหน้าที่เข้าสลายกิจกรรม และกระบวนการกักตัวที่ สน.ปทุมวัน รวมทั้งภาพฝันของสังคมในอุดมคติของเขา และมุมมองต่อขบวนการนักศึกษา
00000
ตาม (ซ้าย) แมน (ขวา)
“เด็กใต้ก็โตมากับคำว่า “ลูกแม่ถ้วน ชวนหลีกภัย” มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่โตมา แต่ด้วยความสนใจทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ทำให้เราอาจจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ ทำให้เราถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลาตั้งแต่มัธยม คือมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ต้องถูกเสมอ” แมน กล่าว
ตัวตนและการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมก่อนหน้านี้ทั้งคู่คืออะไร?
แมน : ผมกับตามรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา พอมาเรียนมหาวิทยาลัยก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรม
ตาม : ตอนแรกจะเรียนมหาวิทยาลัยบูรพาทั้งคู่ โดยไม่คิดว่าจะติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมจะไปเปิดร้านกาแฟกับแมนที่ม.บูรพา แต่เมื่อติดธรรมศาสตร์ จึงเลือกเรียนที่นี่ แมนจะเข้าทำกิจกรรมก่อนผม เพราะตอนเข้าธรรมศาสตร์เทอมแรกยังอกหักกับมหาวิทยาลัยนี้อยู่ จากที่รู้สึกว่าไม่มีใครสนใจทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างที่คิดไว้เลย เพราะมีภาพฝันว่าเข้ามาจะได้ทำกิจกรรมทางการเมือง จึงไปปลูกผักเลี้ยงหมู ทำปุ๋ยอยู่ที่โรงขยะหลังมหาวิทยาลัย ฝั่งสะพานสูง จนแมนได้ไปทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แมน : ผมเรียน พัฒนาชุมชน ม.บูรพา ซึ่งเป็นภาควิชาที่ค่อนข้างให้เราออกไปเรียนรู้ข้างนอกห้องเรียน เมื่อมีกิจกรรมที่องค์กรเอ็นจีโอจัด อาจารย์ก็ชวนไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น เมื่อไปร่วมก็ได้รู้จักกับบรรดานักกิจกรรม จึงได้ชวน ‘ตาม’ ไปร่วมด้วย ในปีที่ผมเข้ามาเรียนปี 1 นั้น เป็นปี 2551 ที่พันธมิตรฯ กำลังก่อหวอดเตรียมเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลสมัคร ขณะนั้น
ตาม : วันที่เราจะขึ้นมาเรียนเปิดเทอมปี 1 เป็นวันที่เขาเริ่มรวมตัวที่สนามหลวง เพื่อเคลื่อนขบวนมาสะพานสะพานมัฆวานฯ
แมน : ด้วยความที่เราเป็นเด็กใต้ก็โตมากับนายหัวชวน กับคำว่า “ลูกแม่ถ้วน ชวนหลีกภัย” (พูดพร้อมกัน) มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่โตมา แต่ด้วยความสนใจทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ทำให้เราอาจจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ ทำให้เราถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลาตั้งแต่มัธยม คือมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ต้องถูกเสมอ
ตาม : หลักกว่านั้นคือตอน ม.3 ผม ไปรื้อบ้านตัวเองเจอหนังสือของ สุพจน์ ด่านตระกูล จึงได้เอามาอ่านกับแมน จำได้เป็นหนังสือ เรื่อง POTATO เรื่องเหตุเกิดที่ศิริราช พอเราเริ่มอ่านแล้วทำไมเริ่มคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ
แมน : จังหวะช่วง ม.ปลาย ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือ เรียนรู้ความคิดประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่กระแสหลัก กระแสที่ตรวจสอบกระแสหลัก ส่งผลให้มีการวิพากษ์ภายในตัวเองทั้งคู่
ตาม : ผมก็ไปเจอหนังสือที่บ้าน จากการที่พ่อเคยเป็นนักกิจกรรมรุ่นหลังปี 19 ที่บ้านตอนอ่านสมัย ม.5 คือ “วิวัฒนาการของสังคม” ของ เดชา รัตตโยธิน
แมน : เมื่อมาเรียนก็ทำให้มีความคาดหวังบวกกับพื้นฐานทัศนคติ ความคิดทางการเมืองที่คิดว่ามันมีการเห็นต่างได้ หรือว่าความคิดแบบต่างๆ สำหรับคนที่หลากหลายนั้นมันมีอยู่จริง และไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดที่คนคิดไม่เหมือนกัน
ตาม : แต่เราก็มาเจอกับสถานการณ์ที่คิดว่ารุ่นอื่นจะไม่เจอเหมือนรุ่นผม คือรุ่นผมปี 51 ที่เกิดบาดแผลจากปี 49 มาแล้ว ที่นักกิจกรรมทางสังคมแตกความคิดกันหลากหลายความคิด ทำให้เราเติบโตจากการได้ฟังคนทุกด้านทะเราะกัน จึงรู้สึกว่ารุ่นนี้มันเป็นอะไรที่เติบโตมากับความขัดแย้งหนักๆ เพราะปี 1 ก็ปี 51 พอปี 2 ก็ปี 52 แล้ว พอปี 3 หนักเข้าไปอีกเพราะปี 53
ตอนปี 51 ทำไมถึงได้ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ?
ตาม : สำหรับผมเองก็คือตั้งแต่ ม.4 ซึ่งตอนนั้นปี 48 และตอนนั้น สนธิ ลิ้มทองกุล ไปพูดที่ มอ.หาดใหญ่ ผมเลิกเรียนเสร็จก็ได้ฟังสนธิ พูดที่นั้น จึงทำให้ติดตามสมัยนั้นที่มีการไล่ทักษิณ บวกกับส่วนตัวที่ได้ศึกษาจึงไม่ชอบวิธีการบริหารแบบทักษิณ หรือต่อๆ ก็ไม่ได้นึกจะชอบ เหมือนที่โดนกล่าวหา(รับเงินทักษิณในโซเชียลเน็ตเวิร์ก)
แสดงว่ามองเห็นปัญหาการบริหารในแบบรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ก่อนปี 49 และมาถึงปี 51 ที่เป็นรัฐบาลสมัคร ด้วยใช่ไหม?
ตาม : ใช่ครับ ตอน ม.5 ซึ่งมีการรัฐประหาร 49 ซึ่งคนรุ่นพวกเราที่เกิดปี 2533 นั้น ก็จะทัน แต่ยังไม่รู้เรื่องต่อเหตุการณ์ปี 35 ยังไม่รู้ประสีประสาว่ารัฐประหารคืออะไร เราก็เริ่มศึกษา ตอนนั้นรู้สึกว่าเริ่มได้รับความคิดที่เป็นความใหม่ เหมือนกับไม่ใช่กระแสเดียวแล้ว ในตอนปี 49 ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จักพี่ๆที่เป็นนักกิจกรรม ทำให้ได้แค่อาจจากหนังสือ แล้วรู้สึกว่าเราอ่านหนังสือ “ฟ้าเดียวกัน” เรารู้ว่าเขาด่าทักษิณมาโดยตลอด เขาวิจารณ์นโยบาย แต่ภายหลังมีการต้านรัฐประหาร เราจึงได้เรียนรู้ว่ามันมีอะไรที่อ่านยากๆ ที่เรายังไม่เข้าใจอีก
“เราก็ไม่ชอบทักษิณ เราไม่เคยชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ใช่ในความรู้สึกแบบที่คนเกลียดทักษิณว่าเลว แต่เรารู้สึกว่าวิธีการบริหารแบบทักษิณมันไม่ได้ เมื่อเกิดพันธมิตรฯ วันที่ยึดทำเนียบ ผมกับตาม ก็อยู่ตรงนั้น” แมน กล่าว
ภาพแมนและตามขณะร่วมชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับกลุ่มพัธมิตรฯ ปี 51
หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยเริ่มทีการทำกิจกรรมทางสังคม กับกลุ่มนักศึกษา แรงงาน และชาวบ้านได้อย่างไร?
แมน : พอเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่ หนึ่ง เราก็ไม่ชอบทักษิณ เราไม่เคยชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ใช่ในความรู้สึกแบบที่คนเกลียดทักษิณว่าเลว แต่เรารู้สึกว่าวิธีการบริหารแบบทักษิณมันไม่ได้ เมื่อเกิดพันธมิตรฯ วันที่ยึดทำเนียบ ผมกับตาม ก็อยู่ตรงนั้น ซึ่งขณะที่ไปถึงเขายึดกันเสร็จแล้ว แต่การยึดทำเนียบ ความรู้สึกตอนนั้นมันเหมือนเป็นการยึดทั้งรัฐบาล คือตอนนี้ถ้านักศึกษายึดทั้งรัฐบาลได้มันคงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เมื่อไปและเข้าไปอยู่ในม็อบก็ด้วยความรู้สึกที่อยากเห็นของจริง อยากไปดูว่ามันเป็นอย่างไร ไปอยู่หลังจาก 7 ตุลา แต่เหตุการณ์ 7 ตุลา นั้น เราไม่ได้อยู่ เพราะเป็นช่วงสอบ
ตาม : วันที่ 7 ตุลา 51 นั้นเป็นวันสุดท้ายของการสอบ และเมื่อสอบเสร็จเราก็ย้ายไปกินนอนอยู่ที่ทำเนียบ 1 เดือนเต็มๆ สำหรับผม แต่แมนจะมากกว่า
แมน : เพราะว่าหลังจากนั้นผมก็ดรอปเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าดรอปเพราะพันธมิตรฯ แต่ด้วยเหตุผลอย่าอื่น ประเด็นคือผมกับตามก็คุยกันว่า วันแรกที่พันธมิตรยึดสุวรรณภูมินั้นเรารู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นด้วย และรู้สึกว่าตอนนั้นเรื่องที่เราอยากรู้มันเหมือนกับรู้หมดแล้ว จึงคิดว่าออกดีกว่า เป็นความรู้สึกเบื่อม็อบ ยังจำวันที่ได้เลยว่าเป็นวันที่ 28 พ.ย. เพราะว่าหลังจากนั้นก็มีการประกาศการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ซึ่งประกาศครั้งสุดท้ายมาหลายครั้งแล้ว
“ความรู้สึกที่ผมออกมาจากม็อบตอนนั้นเพราะต้องไปเรียน บวกกับมันเกิดคำถามว่าอะไรคือชัยชนะของม็อบ สมติว่าถ้าผมโตขึ้นจากม็อบๆหนึ่งแล้วจุดไหนคือทางลงหรือข้อเรียกร้องหรืออะไรที่ดีต่อสังคม จึงเริ่มตั้งคำถาม” ตาม กล่าว
ภาพแมนและตาม (คนที่ 2-3จากขวา) ขณะร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน 25 พค. 2555
แล้วกิจกรรมทางสังคมที่เราไปร่วมมามีอะไรบ้าง?
ตาม : หลังจากปี 1 ที่เข้าไปอยู่ที่ทำเนียบ หลังจากนั้นถึงได้มาสัมผัสกับภาคประชาชนจริงๆ
แมน : ได้รู้จักกับผู้ที่ร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ฯ จึงรู้ว่ามีคนที่ทำงาน
ตาม : รวมทั้งชุดความเชื่อชุดหนึ่งที่เราไม่ต้องสังกัดกลุ่มความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่เขามองอะไรที่เป็นหลัก เช่น เรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เขามองเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องความไม่เท่าเทียม ผมก็เลยขยับไปเรียนรู้อีกขั้น
แมน : ผมรู้สึกอกหักจากปี 51 จากพันธมิตร จึงพยายามหาที่ที่ทางที่หากเราอยากทำให้สังคมดีขึ้น เราต้องใช้ชีวิตแบบไหน ทำอะไรแบบไหน ดังนั้นการได้เจอกับพี่ๆ ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งข้อดีคือมันมีทั้งเอ็นจีโอที่เป็นฝั่งเหลืองฝั่งแดง ผมกับตามได้ไปแจกใบปลิวร่วมกับคนงานตั้งแต่ปี 51 ที่รังสิต ในขณะเดียวกันรุ่งขึ้นก็มีงานปีใหม่ที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เราก็ไปร่วมด้วย
คือเอาเป็นประเด็นร่วม แต่ไม่ว่ากลุ่มแรงงานจะสังกัดฝั่งการเมืองไหน แต่ว่ามีเป้าหมายคือให้สังคมดีขึ้น เมื่อสักครู่แมนบอกว่า “อยากให้สังคมดีขึ้น” สิ่งที่เรียกว่าสังคมดีขึ้นของทั้ง 2 คนนี้เป็นอย่างไร?
ตาม : อันดับแรกตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่ชอบหนีโรงเรียน ชอบไปส่องพระ เมื่อได้เห็นโลกกลางคืนเรารู้สึกว่ามันมีอะไรแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็น เช่น คนนอนอยู่ตามสะพานลอย หรือมีแม้กระทั่งเด็กมาขอเงินไปดมกาว ซึ่งหากผมอยู่บ้านพ่อแม่คงไม่ปล่อยให้ผมไปเจออะไรแบบนั้น ถ้าผมไม่หนีออกมา และเราตั้งคำถามว่าแล้วสังคมที่ดีคืออะไร เริ่มทำความเข้าใจว่าจริงๆ สิทธิทางการเมืองเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจมันเหลื่อมล้ำ มันก็จะก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้น มันไม่ได้จนเพราะว่านโยบายรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลเดียวหรอก
“เมื่อได้เจอกับพี่ๆ ที่เคลื่อนไหวเอ็นจีโอ เราได้สัมผัสกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียม ที่ดินหรือเงินหรือทุนที่ไม่ได้รับ เราจึงได้เริ่มขยับสเต็ปขึ้นมาอีกสเต็ป แล้วก็เริ่มหาแนวทางของตัวเอง ผมกับแมนก็ไม่ได้มีแนวทางแบบเดียวกัน และเชื่อว่าคนในโลกนี้ถ้าหากถามสังคมที่ดีงามคืออะไร นิยามพันล้านคนก็เป็นพันล้านนิยามเหมือนกัน” ตาม กล่าว
เมื่อขึ้นปี 2 ก็ได้ไปรู้จักกับกลุ่ม YPD ที่มีแนวคิดแบบซ้ายกลาง เป็นแบบปฏิรูปไม่ได้สังคมนิยมยึดอำนาจรัฐเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ จึงเริ่มศึกษาแนวคิดนี้เลย ซึ่งเวลาที่เข้ามาใหม่ๆนั้นมีการพูดถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พูดถึงรัฐสวัสดิการ จึงได้ศึกษาหาความรู้จึงชอบและตอนปี 2 ได้ไปร่วมงานที่ต่างประเทศจากนั้นกลับมาก็สนใจมากยิ่งขึ้น บวกกับมีกลุ่มศึกษาจึงได้ร่วมเข้าศึกษา ทำให้ปริญญาโทมาเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองเนื่องจากสนใจเรื่องสังคมนิยมในยุโรป เป็นโมเดลอาจจะทำได้ในประเทศไทยหรือไม่ไม่รู้ แต่โลกทัศน์ของผมคือมีประชาธิปไตยและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย
ทั้งคู่นั้นเคลื่อนประเด็นแรงงาน เรื่องคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อยากให้เล่าว่าเป็นมาอย่างไร?
ตาม : ความต่างระหว่างผมกับแมนนั้นคือ เมื่อออกจากม็อบพันธมิตรฯ แล้ว แมนจะเดินทาง ส่วนผมไม่เดินทาง การเดินทางคือดรอปเรียนแล้วไปทำค่ายอาสา
แมน : หลังจากดรอปเรียนได้ไปทุกที่ทีมีปัญหาทาสังคม มีค่ายกิจกรรม
ตาม : พอผมกลับไปเรียนก็อ่านหนังสือ เพราะรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่รู้อะไร ส่วนทีไม่ไปเดินทางเพราะว่าผมไม่กล้าดรอปเรียน แต่ก็ไม่ได้เรียน 100% เพราะได้ไปร่วมกับแมนบ้างในบางครั้ง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนกันตลอด
การที่ได้ไปเดินทางนั้นได้พบกับอะไรบ้าง?
แมน : พอเดินทางก็ได้คำตอบ แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด คำถามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ได้คือวิธีการที่จะตอบคำถามบางคำถาม ต่อให้เรามีคำตอบ แต่ถ้าคนอื่นไม่มีคำตอบหรือว่าเราไม่ฟังคำตอบคนอื่นนั้น คำถามมันก็จะตอบไม่ได้ ปัญหามันก็จะแก้ไม่ได้ จึงคิดว่าต้องกลับมาเรียน ซึ่งเป็นการหักล้างคำทำนายของพี่ๆหลายคนว่าเมื่อดรอปแล้วจะเรียนไม่จบแน่
ตาม : ผมก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะว่าไปศึกษาประวัติศาสตร์ก็เห็นว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็มีการกดปราบนักศึกษา และมีนักศึกษาตั้งขึ้นมาใหม่จนกลายเป็น สนนท. ปี 26 หรือ 28 นี่ และเห็นว่า สนนท. มีบทบาทนำในเหตุการณ์ปี 35 จึงคิดว่าถ้าหากเราจะสนใจเรื่องการเมืองเราต้องไปทำงานใน สนนท.
แมน : ในตอนนั้น สนนท.จัดกิจกรรมอะไรเราก็ไปหมด พอมีสมัชชาก็ไปร่วม ซึ่งทั้งคู่ต่างถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการ สนนท. และได้เป็นกรรมการพร้อมกัน
ตาม : แมน เป็นกรรมการข้อมูล ส่วนผมเป็นกรรมการภาคกลาง ยังจำได้ว่าตอนสมัชชาบนแพที่กาญจนบุรี พอขากลับจากสมัชชาก็ไปม็อบคนงานไทรอัมพ์ฯ ที่บางพลี
(อ่านรายละเอียด : การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ)
แมน : พอมาเป็น สนนท. ก็ได้มารู้จักกับนักศึกษากลุ่มต่างๆ ตอนที่เป็นนั้นผมก็เป็นสโมสรนักศึกษาของคณะที่ ม.บูรพา จึงคิดว่าต้องมีกลุ่มที่ทำงาน จึงร่วมกับเพื่อนๆตั้งกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา ขึ้นมา ทำกิจกรรมที่จะพานักศึกษาเพื่อไปสัมผัสกับความเป็นจริง ปัญหาจริงๆของชาวบ้าน เพื่อที่จะเอาเรื่องนี้เป็นฐานในการวิเคราะห์ว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร
ตาม : YPD สำหรับผมให้เครดิตว่าเป็นองค์กรที่ให้แนวคิด แต่เมื่อถึงขั้นปฏิบัติการมันเกิดจากการที่ผมจัดกลุ่มคุยในคณะ จึงกลายเป็นกลุ่มสะพานสูง ธรรมศาสตร์ ขึ้นมา และรู้จักกับพี่ที่ ม.เกษตร ก็มีกลุ่มเสรีนนทรี เมื่อเคลื่อนไหวร่วมกันก็กลายเป็นเครือข่ายนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ขึ้นมา
แมน : ส่วนที่ ม.รามฯ ก็มีซุ้มลาดยาว ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นซุ้มเหมราช ซึ่งพี่บอย ธัชพงศ์ แกดํา (ที่อยู่ในซุ้มนี้ และถูกจับในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย) ก็เคยร่วมกันตั้งแต่ปี 51 ที่ทำเนียบเช่นกัน
ทำไมถึงทำเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ?
แมน : พอแต่ละคนไปทำกลุ่มกิจกรรมของตัวเอง และได้มาเจอกันก็คุยกันจึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนจากวงสังสรรค์ที่คุยกัน น่าจะพาน้องพาเพื่อนมาเจอกัน เพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง รวมทั้งในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นกลุ่มนักศึกษาเป็นช่วงที่มีการจัดเสวนาหรือทำงานทางความคิดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีกลุ่มที่ลงพื้นที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการจัดเสวนามีปัญหา แต่คิดว่าน่าจะมีบรรยากาศของการแอ็คชั่นด้วย รวมทั้งผมได้ไปฝึกงานร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชน(FOP) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มแรงงาน เกษตรกร ชาวนา เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงให้แต่ละกลุ่มมาทำงานกัน
มีการร่วมจัดขบวนล้อการเมืองในวันกรรมกรสากล ความพิเศษคือพวกเรามีอิสระทางความคิดเพราะการล้อการเมืองนั้นเราล้อทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งล้อในเชิงนโยบายและผลงาน
พอมีเรื่อง ม.นอกระบบ จากที่กลุ่มต่างๆค่อนข้างมีรูปธรรมในการเคลื่อนไหว มีทักษะในการเคลื่อนไหวจึงเข้าไปช่วยจัดการกับประเด็นคัดค้าน ม.นอกระบบ
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมันไปขัดกับภาพฝันอุดมคติของทั้งคู่อย่างไร?
“การศึกษานั้นผมมองว่ามันเป็นสิทธิที่ประชาชนเข้าถึงให้โดยที่รัฐจัดให้ เราเชื่อว่าคนเป็นทรัพยากรของประเทศที่สำคัญที่สุด หากประเทศไหนให้คนเข้าถึงการศึกษาเราก็จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจึงเป็นการกันคนส่วนหนึ่งไม่ให้เข้าถึงการศึกษา แต่ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่หมายถึงว่าใครก็ตามไม่ว่าเขาจะยากจนขนาดไหน ถ้าเขาอยากเรียนเรียนได้ต้องได้เรียน” แมน กล่าว
มันมีโมเดลแบบในสแกนดิเนเวียที่ตามศึกษาด้วยใช่หรือไม่ กับระบบการศึกษาที่เป็นธรรม?
ตาม : พอเราจับประเด็นเรื่อง ม.นอกระบบ ผมก็ไปดูประเทศอื่นๆ เขาดูอย่างไร แนวคิดผมก็คือทั้งระบบ หมายถึงการศึกษาตั้งแต่เด็กๆ ก็เห็นบางประเทศขนาดมีลูกเขายังจ้างให้มีลูก ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของประชากร แต่ผมว่าการที่คนถ้ายังเชื่อตามวิทยาศาสตร์อยู่นั้นมนุษย์ทุกอย่างมันโตและพัฒนาได้หมดแต่สมองมันแค่ 5 ขวบ คราวนี้การได้รับการศึกษาที่จุดสตาร์ทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราให้ทุกคนสตาร์ทจากจุดเดียวกันก็คิดว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับ แต่ถ้าให้บ้านที่รวยสตาร์ทได้ไกลกว่า ขณะที่บ้านคนจนสตาร์ทได้ถอยหลังกว่า มันก็จะผลิตซ้ำความยากจนเหมือนเดิม
จึงมองว่าในกลุ่มแรงงานนั้นมีศูนย์เด็กเล็กไหม เพื่อสร้างเด็กให้มีพัฒนาการให้เท่ากับลูกคนรวย แต่ไม่ได้บอกว่าให้เท่าทุกอย่าง แต่สิ่งที่ควรจะได้นั้นควรมีมาตรฐานเท่ากัน จากที่ได้ไปสัมผัสกลุ่มแรงงานจะพบปัญหาค่าแรงไม่พอ ทำให้ต้องควง 2 กะ แล้วถ้ามีลูกขึ้นมาอีกใครจะเป็นคนดูแลลูก นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐก็ควรมีงบประมาณดูศูนย์เด็กเล็ก
ดังนั้นผมจึงมองทั้งระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี รวมทั้งมองที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยที่รัฐควรให้งบสนับสนุน จึงร่วมกับกลุ่มที่คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพราะในสังคมนี้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมันยกระดับชีวิตคนด้วย เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ยากจนที่เรียนมาถึง ม.6 แล้ว อีกนิดหนึ่งเขาจะได้เรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้นถ้าเขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน จึงได้เป็นพันธมิตรเคลื่อนไหวเรื่องคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกัน
“ถ้าเราให้ทุกคนสตาร์ทจากจุดเดียวกันก็คิดว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับ แต่ถ้าให้บ้านที่รวยสตาร์ทได้ไกลกว่า ขณะที่บ้านคนจนสตาร์ทได้ถอยหลังกว่า มันก็จะผลิตซ้ำความยากจนเหมือนเดิม” ตาม กล่าว
เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ตั้งแต่ช่วงสายที่กลุ่ม YPD จัด และช่วงเย็นถึงค่ำที่หน้าหอศิลป์ฯ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมทั้ง 2 คนถึงไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น?
ตาม : ผมเป็นกรรมการ YPD ได้คุยกันภายในกลุ่มว่า 1 ปี ไม่ไหวแล้วรัฐประหาร ถ้าเรามองไปทุกเรื่องแม้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องว่าใครจะมาได้อำนาจ แต่ชาวบ้านโดนอะไรบ้าง ม.นอกระบบ หันไปมอง สนช.ก็ผ่านทีละ 4 มหาวิทยาลัย โดยมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั่งพิจารณาใน สนช. ด้วย เรื่องสิทธิเสรีภาพจะจัดหรือพูดอะไรก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ตระหนักมา 1 ปีแล้ว ซึ่งยอมรับว่าผมยังช้ากว่าแมน จริงๆก็ไม่ใช่เป็นการให้โอกาส คสช.หรอก เพราะตั้งแต่วันรัฐประหารวันแรกผมก็ออกแถลงการณ์ของ YPD คัดค้านรัฐประหาร เพราะมองว่าการรัฐประหารมันจะเป็นการสร้างปัญหาระยะยาว โดยหลักการเราก็ค้านรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเท่าที่แมนเคลื่อนไหว แต่เมื่อเวลามันครบ 1 ปีแล้ว เราหันมองย้อนกลับไปจึงคิดว่าไม่ได้ 1 ปีที่ผ่านมาสิทธิชุมชนของชาวบ้านก็ถูกไล่รื้อโดยแผนแม่บทป่าไม้ของกระทรวงทรัพย์ฯ สิทธิเสรีภาพในการพูดก็ไม่มี เป็นต้น
จึงอยากจัดเสวนาและเชิญคนรุ่นพวกผม มาคุยกันทุกฝั่งฝ่าย ก็แอบน้อยใจเพราะตอนเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา ในขณะที่แมนนั้นหยุดแล้ว แต่ผมยังรู้สึกเอนเอียงอยู่ ในใจผมคิดว่า “มึงจะไม่รับผิดชอบเลยหรอ มึงจะยุบสภาหนีอย่างงี้หรอ” ผม รู้สึกอย่างนี้ผมก็พูดตรงๆ แต่มันไม่ถึงกับต้องมารัฐประหาร จึงคิดว่ามันไม่ได้ เพราะเราต้องการทำให้ประชาธิปไตยมันดีขึ้น แต่เรากลับเอาอะไรที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยมาจัดการกับปัญหามันก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา
ตอนนั้นมีโมเดลไหมว่าถ้าไม่รัฐประหาร จะทำอย่างไร รัฐบาลรับผิดชอบ?
ตาม : จริงๆผมเป็นคนโลกสวยมาก ผมคิดว่าเดี๋ยวยิ่งลักษณ์จะต้องลาออก แล้วก็แถลงอะไรสักอย่างว่าจะหยุดพักทางการเมือง ให้ตรวจสอบคดี คิดว่าเมื่อคนกดดันมากๆ ก็เป็นอย่างนั้น
คือมองว่าถ้าเขายังอยู่ในอำนาจ กระบวนการในการรับผิดชอบและการดำเนินคดีมันจะดำเนินการไม่ได้ใช่ไหม?
“มองว่ากระบวนการรับผิดชอบทางการเมืองมันจะไม่เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับการตีปิงปองตบไปตบมา แต่ผมก็ไม่ได้ต้องการการรัฐประหาร ผมเคลื่อนไหวเพราะผมอยากกดดันเขา ซึ่งตอนนั้นผมกับแมนก็จะเถียงกันตลอด ไม่ใช่ว่าความเห็นเราจะตรงกัน แต่สิ่งที่เราตรงกันคือรัฐประหารนั้นมันไม่ได้แก้ไขอะไร มันกลับสร้างปัญหา เพราะเราก็เห็นแล้วว่าปี 2549 สร้างอะไร” ตาม กล่าว
ตาม : โมเดลในหัวผมที่คิดมาตลอดก็คือจริงๆ ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 ประชาธิปไตยจะพัฒนามาก เสื้อเหลืองก็จะไม่โดนด่า เสื้อแดงก็ไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากรัฐประหาร ความชอบธรรมในการล้มทักษิณจะสูงมาก การเปลี่ยนแปลงจากปริมาณมวลชนที่มาชุมนุมจะกลายเป็นคุณภาพจากการที่ขอมีส่วนเรียกร้อง โมเดลของผม ผมคิดว่าจริงๆ ปัญหาหลักที่อยู่แกนกลางซึ่งไม่ว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยพูด ประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยพูด หรือทหารเข้ามาก็ไม่เคยทำก็คือทำไมอำนาจของประชาชนในพรรคการเมืองถึงไม่มี และทำไมการที่ประชาชนตั้งพรรคการเมืองของตัวเองถึงไม่โต อันนี้มันอยู่ในใจผมมาก เพราะผมเคยไปเห็นประเทศในยุโรป เขาก็แบ่งแยกกันชัดเจนระหว่างพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคฝ่ายขวากับพรรคฝ่ายซ้าย ผมกลับมาดูในเมืองไทยพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร และประชาธิปัตย์มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร ชื่อ Democrat แต่อนุรักษ์นิยม มันก็เกิดความสับสน กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งคู่ ชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นบล็อกรวมกัน
ปัญหาของผมมี 2 อย่าง คือ หนึ่ง พวกผู้มีอำนาจไม่ค่อยพูด เรื่องพวกนี้ และ สอง คือคนอย่างเราๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนพูดแต่ทำไมมันไม่เกิดขึ้นจริง จึงเป็นคำถามอยู่ในใจตลอด
“พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร และประชาธิปัตย์มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร ชื่อDemocrat แต่อนุรักษ์นิยม มันก็เกิดความสับสน กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งคู่ ชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นบล็อกรวมกัน” ตาม กล่าว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม YPD ในช่วงสายวันที่ 22 พ.ค.เป็นอย่างไร?
ตาม : เขาเชิญตัว ขึ้นรถตำรวจไป สน.ชนะสงคราม โดยที่เจ้าหน้าที่เขาไม่ให้อยู่ตรงนั้น(อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) แรกเริ่มคือ ผมจะจัดเสวนา ซึ่งจัดให้ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แต่เช้าวันนั้นมูลนิธิ14 ตุลา เจ้าหน้าที่โทรมาบอกผมว่าเจ้าหน้าที่โทรมาบอกผมว่าทหารมาขอร้องให้ปิดมูลนิธิ ไม่ให้เปิดและจัดเสวนา ผมก็เลยยืนยันว่าเราจะจัด จึงไปนั่งคุยกันที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พอไปถึงตำรวจและนักข่าวก็มา จึงเจรจาก่อน และระหว่างที่เจรจาจึงได้บอกให้เลขา YPD อ่านแถลงการณ์ พออ่านจบผมก็เริ่มต้นชวนพูดเสวนาโดยผมเริ่มพูดเป็นคนแรก แต่พูดยังไม่ถึงนาที เจ้าหน้าที่ก็มาจูงแขนไปทั้งหมดเลย ขึ้นรถไป สน.ชนะสงคราม
ไปทำอะไรบ้าง?
ตาม : ตอนแรกเขาก็บอกว่าทำไม่ได้นะ มันผิดกฎหมาย เราก็พยายามถามว่าผิดก็หมายอะไร เจ้าหน้าที่ก็อ้างถึงประกาศ คสช. ที่ไม่ให้จัดกิจกรรมอะไรแบบนี้ ถ้าจัดก็ต้องมาขออนุญาตก่อน มีการสอบสวน แต่ไม่มีการตั้งคดี โดยอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวมันสุ่มเสียง ผมก็เลยบอกไปว่าถ้าพี่ให้จัดกิจกรรมข้างใน(ห้องประชุมตามที่ว่างไว้) ที่มันก็ปิดและไม่สร้างความเดือดร้อน แต่เมื่อที่มันปิดก็ต้องออกมาข้างนอก จึงถามกลับไปว่าแล้วพี่ไปปิดทำไม เพราะผมก็แค่จะพูดว่าที่ผ่านมา 1 ปี รัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง เพราะรัฐบาลก็ยังแถลงผลงานได้ แล้วทำไมผมจะแถลงสิ่งที่ผมเห็นมาในรอบ 1 ปี ไม่ได้ แค่จะทำแค่นั้น ถ้าพี่(เจ้าหน้าที่)ไม่มีปิดผม ผมก็คิดว่าไม่มีคนมาฟังหรอก ก็มีแค่พวกนักศึกษาที่สนใจเท่านั้นล่ะที่มาฟัง แต่เมื่อให้เราออกมาข้างหน้าอนุสรณ์สถาน พออกมาข้างหน้าก็พาเราไป สน.อีก
สุดท้ายเมื่อพอไป สน.แล้วก็มีการสอบสวน และขอจดชื่อที่อยู่และดูบัตรประชาชน และปล่อยตัว
แล้วไปที่หน้าหอศิลป์ฯ ได้อย่างไร?
ตาม : หลังจากนั้นกินข้าวเสร็จ ทราบเรื่องว่ามีการจัดกิจกรรมที่หอศิลป์ฯ จึงเห็นว่าเป็นทางกลับบ้านพอดี จึงมากันหมด พอไปถึงก็เห็นว่าตำรวจมาเยอะมาก ซึ่งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์มีคนแค่ประมาณ 20 คน แค่คล้องแขนแล้วดูนาฬิกา 3 นาที แต่จุดมันเริ่มจากแต่เริ่มคล้องแขน ซึ่งผมนั่งอยู่ด้วยนั้น ก็มีน้องคนหนึ่งโดนจับตัวไป
พื้นที่หน้าหอศิลป์ฯ ตอนนั้นตำรวจกั้นรั้วโดยรอบ มีพื้นที่เพียง 3-4 เมตร ที่ให้เราได้ทำกิจกรรม เราก็อยู่นอกรั้ว แต่ตำรวจข้ามรั้วมาดึงเอาผู้ที่ทำกิจกรรมไป 1 คน แต่ด้วยความที่คล้องแขน พอถูกจับไป 1 คนมันก็ต้องลุกขึ้นทำให้รั้วพัง
“ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ตราบใดที่เราใส่ใจที่กระบวนการแก้ปัญหา แม้เป้าหมายหรือคำตอบมันจะช้าหน่อย แต่ว่ามันเป็นต้นทุนที่ถูก แล้วมันช้าได้มันรอได้ ผมยืนยันว่ามันต้องมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.” แมน กล่าว
แล้วแมนมาหน้าหอศิลป์ฯวันนั้นได้อย่างไร?
แมน : วันที่ 22 พ.ค.นั้นทั้งวันผมทำงานตามปกติ และได้คุยกับเพื่อนๆ ด้วยว่า หลังจากนั้นไปร่วมกิจกรรมที่หอศิลป์ฯ เพราะผมไม่ได้เห็นด้วยกับการเข้ามาคืนความสุขอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพราะผมพูดอยู่บ่อยๆว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ตราบใดที่เราใส่ใจที่กระบวนการแก้ปัญหา แม้เป้าหมายหรือคำตอบมันจะช้าหน่อย แต่ว่ามันเป็นต้นทุนที่ถูก แล้วมันช้าได้มันรอได้ ผมยืนยันว่ามันต้องมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.นะ แต่มันอาจจะไม่ดีที่สุด อาจไม่จบก็ได้ แต่ว่าต้นทุนที่สังคมจะเสียไปน้อยกว่า พอเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.ปีที่แล้วจึงแสดงออกตลอดเวลาว่าไม่เห็นด้วย และคิดว่าอยู่ในจุดยืนที่จะไม่ร่วมกับการปฏิรูปประเทศแบบนี้
ช่วงปลายปีที่แล้วผมก็ถูกปรับทัศนคติไปแล้วครั้งหนึ่ง เพราะว่าจัดงานทอล์คโชว์ เกี่ยวกับปัญหาที่ดิน (อ่านรายละเอียด :
ทหารคุมตัว ผู้จัดทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต หลังยืนแถลงข่าวเงียบ) เราพยายามที่จะทำให้ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้ จึงพยายามจะจัดงานดังกล่าว ตอนนั้นเขาก็ไม่ให้จัดด้วยเหตุผลที่ไม่สบายใจกับแขกรับเชิญบางคน แต่เราก็ยืนยันว่าเราไม่ยอมถอดแขกรับเชิญคนนั้น เขาก็เลยไม่ให้จัด จึงแถลงข่าวว่า คสช.ไม่ให้จัด ก็เลยถูกปรับทัศนคติ
หลังจากนั้นในเชิงของการเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่าเราน่าจะทำงานเชิงเนื้อหาข้อมูล เนื่องจากแม้เราไม่เอา คสช. แต่ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งยังแฮปปี้กับการคืนความสุข มันอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จะยิ่งไปสร้างการปะทะ จึงทำแนวนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงปัจจุบัน พยายามทำงานกับคนที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันตลอด
ดังนั้นวันที่ 22 พ.ค.นั้น ผมจึงไปด้วยความรู้สึกว่าไปถ่ายรูป แล้วก็น้องๆจัดกันก็รู้จักตามเวทีต่างๆ ทั้งค่ายอาสา กิจกรรม ซึ่งก็ไม่ได้รู้จักเฉพาะมุมที่เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น
แสดงว่าผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้นมีคนที่หลากหลายทางความคิดใช่ไหม?
แมน : ใช่ และตอนที่ผมไปถึงหน้าหอศิลป์ฯ เริ่มมีการดันกันแล้ว ผมก็วิ่งลงจากตุ๊กตุ๊กเพื่อมาถ่าย สุดท้ายการดันกันนั้นมาจบตรงที่ผู้ชุมนุมเริ่มตกถนนและชนตอหม้อบีทีเอส
ตาม : ตอนนั้นก็พยายามเจรจาว่าเจ้าหน้าที่ถอยหน่อยไหม แล้วจะให้น้องถอย เพราะตอนนั้นเป็นกิจกรรมที่น้องเขาคิดและไม่มีแกนนำ คนที่คอยประสานงานนั้นถูกจับไปแล้ว ตอนนั้นจึงคิดกันเฉพาะหน้า ซึ่งผมกับเพื่อนเป็นรุ่นพี่ที่เคยทำงานกิจกรรมแบบนี้มาแล้ว จึงบอกว่าเดี๋ยวมันจะเกิดการปะทะ ซึ่งหลังจากนั้นภาพมันก็ตัด ผมจำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ จำได้เพียงว่าเมื่อมีการล้อมนักศึกษาที่นั่งคุยกันแล้วก็เกิดความวุ่นวายมาก
แมน : ก่อนที่จะล้อมเป็นบรรยากาศที่เริ่มนิ่ง ตำรวจก็เข้าไปในแนวรั้ว นักศึกษาก็อยู่ข้างนอก ผมก็ไม่รู้สึกว่าหากจะมีการจับกุมผมจะต้องถูกจับเลย เพราะผมไม่ได้ลงไปนั่ง เป็นเหมือนประชาชนที่ยกมือถือมาถ่ายรูป ขณะนั้นคิดว่าน้องน่าจะหมดแรงจึงเดินไปซื้อน้ำมาแพ็คหนึ่งและเดินเข้าไปให้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อาจรู้สึกว่าคนนี้เป็นคนส่งน้ำ แต่ส่งน้ำแล้วก็เดินออกมา
ระหว่างนั้นก็อัพรูป (ขึ้นเฟซบุ๊ก)ไปเรื่อยๆ มีนักข่าวเห็นเขาก็โทรมาถามว่าอยู่ที่หอศิลป์ฯหรือเปล่าจะขอสัมภาษณ์บรรยากาศสดๆว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ขณะนั้นผมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้สัมภาษณ์ได้ จึงเดินไปหาพี่บอล (ภาคีไนย์) หนึ่งในผู้ที่ถูกจับในเหตุการณ์นี้เช่นกัน ขณะนั้นพี่บอลก็โวยกลับมาว่าจะให้สัมภาษณ์ได้อย่างไร เพราะกำลังวุ่นอยู่ เพราะขณะนั้นนั่งทำกิจกรรมอยู่ด้วย
ช็อตต่อมาน้องก็ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และต่อด้วยเพลงเพื่อมวลชน ผมก็เข้าไปถ่ายวิดีโอ ตำรวจก็ค่อยๆล้อมเข้ามา จากนั้นมีช่วงที่น้องเขาหยุดร้อง ผมก็ตะโกนว่าร้องต่อๆ เรายืนยันว่าเรามาอย่างสงบ จนพอเริ่มสุดเสียงผมก็เริ่มร้องต่อด้วย
แนวที่ตำรวจล้อมขณะนั้น ผมก็ยืนสุดขอบคนสุดท้ายที่นั่ง ถ้าเขาดันมาขณะนั้นแล้วผมเดินผมก็จะเหยียบน้อง ตอนนั้นก็เลยแข็งตัวเอง แต่ก็ล้มไป เมื่อล้มโดยสัญชาติญาณของเขาก็จะจับคนในวง ตอนนั้นเขาก็ข้ามผมไป บางคนก็เหยียบผมบ้าง เราก็เอามือมาปิดหัว แต่ขณะนั้นได้ยินเสียงตำรวจพูดอยู่ว่า “ระวังเหยียบ เหยียบแล้วบาดเจ็บเดี๋ยวตาย” อะไรประมาณนี้ ตอนนั้นผมหรี่ตามมองก็เห็นรองเท้าคอมแบทข้ามไปเรื่อยๆ ช็อตที่รู้สึกว่าดีใจเพราะว่ามีคนดึงขึ้นมา ขณะนั้นก็คิดว่านึกว่าเป็นเพื่อนๆกันที่มาพยุงขึ้น แต่พอลืมตามาไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่คิดว่าเป็นทหารด้วย เพราะขณะนั้นเขาไม่ได้ใส่เครื่องแบบ
นอกเครื่องแบบก็ดึงผมเข้าไปในแนวรั้ว และพาผมเข้าไปในหอศิลป์ฯ ตอนนั้นผมก็จะกลับบ้าน แต่เขาไม่ให้กลับบอกว่าให้คุยกันก่อน จากนั้นก็ถูกนำตัวเข้าไปในรถตู้ สน.ปทุมวันฯ ซึ่งมีผู้ที่ถูกจับมาก่อนหน้ารออยู่แล้ว
ผมคิดว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าจะมีการปิดหอศิลป์ฯ คนที่ปิดคือเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจในแง่ที่เขาทำหน้าที่จับเพราะได้รับคำสั่งมาก็ยังโอเคที่แต่งเครื่องแบบ เราอยู่ในกิจกรรมเคลื่อนไหวก็เข้าใจว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่ที่มันเกินกว่าเหตุ
โดย แมนและตาม ได้สรุปประเด็นที่มองว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอยู่ 5 ประเด็น ดังนี้
- ประเด็นที่ 1 การจับกุมนี้มันไม่ใช่การเชิญอย่างปกติ แต่มันเป็นการเข้าชาร์จ ฉุดกระชากลาก
- ประเด็นที่ 2 คนที่มาชาร์จ ถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกจับกุมด้วยตำรวจหญิง แต่ว่าผู้ชายหลายคนถูกชาร์จโดยนอกเครื่องแบบ ซึ่งเราเห็นว่าค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะในเหตุการณ์ถ้ามีคนนอกมาผสมโรงด้วย ในที่สุดแล้วเวลาที่เราบอกว่ามีการทำร้ายร่างกายจากคนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ตำรวจก็อ้างได้ว่าไม่ใช่ตำรวจ
- ประเด็นที่ 3 แม้แต่การควบคุมฝูงชน ตำรวจไม่ควรทำอย่างนี้ เพราะเราก็เห็นชัดๆ ว่าคนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ แต่วิ่งผ่านแนวตำรวจมาชาร์จผู้ชุมนุมได้มันผิดปกติ
- ประเด็นที่ 4 ช่วงหลังที่มีการควบคุมตัวอีกชุดมันไม่ใช่ความพยายามของนักศึกษาที่จะเข้าไปยังแนวของตำรวจ แต่เป็นการนั่งนิ่งๆ อยู่นอกแนวที่ตำรวจกั้นแล้ว ตำรวจเป็นฝ่ายเข้ามาเคลียร์ และเป็นช่วงเวลาที่มืดแล้ว ซึ่งเป็นยามวิกาลการควบคุมฝูงชนยามวิกาลนั้นผิดหลัก
- ประเด็นที่ 5 การสั่งการ เป็นการสั่งการที่เหมือนกับการเคลียร์ให้นิ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการเคลียร์ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ แต่ว่าสำหรับประชาชนมันไม่เหมือนกัน ทั้งที่ช็อตหลังร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธามันไม่มีอะไรแล้ว ถ้าร้องเพลงจบแล้ก็อาจจะกลับกันแล้ว หรืออาจจะไปเยี่ยมเพื่อนที่ สน.ปทุมวัน พอเจ้าหน้าที่ตัดสินใจแบบนั้น ตัวเลข 37 คนก็เลยออกมา
ช่วงนั้นไม่มีการสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่หรือ?
แมน : เจ้าหน้าที่เขาเจรจาให้หยุด และเชิญไปที่ สน.ปทุมวันทั้งหมด ส่วนผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปล่อยเพื่อนออกมาก่อน บนหลักการที่ว่าถ้าจะมีการจับกุมใครสักคนต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตอนนี้ไม่มีกฎอัยการศึกแล้ว ถ้าจะบอกว่าเป็นการแสดงออกที่ขัดคำสั่งของคสช. ก็ต้องบอกว่าขัดอย่างไร แต่ไม่มีการแจ้งว่าขัดอย่างไร ทำให้การเจรจาไม่เป็นผล เมื่อถึง สน.ปทุมวัน มีการคุมตัวตั้งแต่ 19.00-24.00 น. ก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
ภาพแมนขณะถูกคุมตัวที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58
แล้วมีภาพของคนที่เจ็บป่วยในระหว่างที่มีการควบคุมตัวนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร?
แมน : พอถูกคุมตัวไปแล้ว สิ่งที่เห็นก็คือมีน้องที่เจ็บเพราะถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างจับกุม พอไปถึง สน.ปทุมวัน ก็มีน้องนัชชชา กองอุดม ก็นั่งอยู่ที่พื้นและอาเจียนอยู่ตลอดเวลานั่นคือภาพที่ผมเห็น คนที่ไปก่อนก็พยายามจะบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าขอให้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือเรียกหมอ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้และเขาตัดสินใจไม่ได้ เขาบอกว่าต้องให้นายมาตัดสินใจ จนกระทั่งน้องนอนอยู่บนพื้นในห้องสอบสวนเป็นเวลาน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง กว่าจะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยรับไปโรงพยาบาล
เรื่องเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ผิดหลักการเคารพในสิทธิมนุษยชน เพราะ หนึ่ง น้องเขาไม่ใช่ผู้ต้องหา เรายังไม่ถูกแจ้งข้อหาเลย แล้วทำไมไม่มีการที่รักษาพยาบาล โรม เลือดไหลออกจากหูในระหว่างการจับกุม น้องผู้หญิงอีกคนก็มีแผลถลอก เจ้าหน้าที่ไม่มีความพยายามที่จะปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความพยายามที่จะทำข้อมูลส่วนตัว เราไปถึงผมกับตามก็เป็นคนเรียนจบแล้ว ซึ่งในเหตุการณ์ตอนนั้นเราพยายามจำกัดตัวเองไม่ให้เข้าไปมีบทบาทนำนักศึกษา พูดกับเพื่อนๆ ที่ถูกจับซึ่งเรียนจบกันแล้วว่าเราจะไม่ไม่นำ แต่ให้น้องตัดสินใจกันเอง ไม่ว่าน้องจะตัดสินอย่างไรเราก็พร้อมที่จะทำตาม
มีการแบ่งห้องคุมตัว 3 ห้อง ห้องที่ผมอยู่นั้นมี 21 คนในตอนแรก ตอนแรกไม่มีการสอบและไม่มีการสอบตลอดทั้งคืน เราก็ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าถ้าเจ้าหน้าที่จะทำประวัติหรือเอาชื่ออะไรจากเราก็ขอให้แจ้งข้อกล่าวหาว่าเราทำผิดในเรื่องอะไร เพราะเรารู้สึกว่าเข้าหน้าที่ทำผิดที่พาเรามาอยู่ที่นี่ ก็ไม่มีการแจ้ง ในระหว่างนั้นก็เป็นแค่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำประวัติ แต่เราก็ปฏิเสธทุกครั้ง ซึ่งเขาก็เคารพในสิทธิของเราว่าไม่ทำก็ไม่ทำ
ถึงช่วงดึกก็มีข้อเสนอมาจากทหารว่าอยากให้เราเซ็นต์ในใบว่าเรามาเคลื่อนไหวและจะไม่ทำแบบนี้อีก เราก็ปฏิเสธ เพราะข้อเสนอของเราคือปล่อยตัวพวกเราโดยไม่มีเงื่อนไข และให้กลุ่มดาวดินที่ ม.ขอนแก่น ได้รับการประกันตัว เพราะกลุ่มนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว
และมีข้อเสนอด้วยว่าขอทำประวัติ ขอสอบ ซึ่งคนที่เขาต้องการจริงๆนั้นมีแค่ 9 คน ส่วนที่เหลือก็จะปล่อย เราก็บอกเขาไปว่าแล้ว 9 คนนั้นผิดอะไร ถ้าผิดเพราะว่าวันนี้มาเคลื่อนไหวและละเมิดมาตรา 44 ถ้าเช่นนั้นทุกคนก็ผิดด้วย จึงมีการประสานงานกันว่าทั้ง 3 ห้อง ยอมที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 37 คน
แล้วสุดท้ายถูกปล่อยตัวได้อย่างไร?
ตาม : ตอนปล่อยตัวออกมาตอนนั้นพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ตอน 6 โมงเช้า
แมน : ไม่มีการตั้งข้อหา หรือ ณ จนถึงวันนี้(25 พ.ค.58) ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือตามไปที่บ้าน มีเพียงการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และให้เขียนกำกับว่าจะไม่เคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นการเซ็นชื่อรับรอง
หลังจากนั้นในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการนำรูปนักศึกษา ผู้ที่ร่วมกิจกรรมในวันนั้น ไปเสียบประจาน บอกว่าเป็นควายแดงบ้าง รับเงินทักษิณมาป่วนบ้าง รวมไปถึงตัดต่อภาพว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?
“หลายคนเองก็เคยออกไปร่วมกับพี่ๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณก็ว่าได้ ออกไปชุมนุมประท้วงมาตลอด หลายคนประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หนักกว่าคนที่มาด่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะใช้คำว่าขอความเป็นธรรม” แมน ฝากถึงผู้ที่ไล่ล่าแม่มดอยู่
ตาม : ผมน้อยใจนะ(หัวเราะ) ไปเคลื่อนไหวหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทำไมต้องผลักผมไปเป็นอีกฝ่ายด้วย แต่ว่าผมก็ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับเขาอยู่แล้วนะ
ผมว่าวุฒิภาวะทางสังคมของเราคนไทยมันอาจจะชีวัดได้จากประเด็นเหล่านี้ หลายคนเขาอาจจะเชียร์ทหารในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผมก็โอเคในหลักการของคุณ แต่หลักการของผมผมก็มี ผมแค่จะไปนั่งดูนาฬิกาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่านี่ปีหนึ่งแล้วนะ เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เหมือนที่คุณเห็นด้วย คือความเห็นด้วยกับความไม่เห็นด้วยมันก็คือความเห็นเหมือนกัน ซึ่งทุกคนก็ควรจะมี แล้วสิ่งที่เราทำ ตอนนี้มันไม่มีกฎอัยการศึกแล้วนะ มันไม่รู้จะผิดข้อไหน แล้วผมก็ไม่ได้ไปปิดถนน ไม่ใช่การชุมนุม เพราะผมก็เห็นคนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด กับคนแค่ 30 คนดูนาฬิกา แล้วอยู่นอกรั้วที่ตำรวจกั้นโซนไว้ด้วย ผมว่ามันไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น
ตาม สาธิตท่าที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันนั้น
ผมตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นปฏิบัติการทางข่าวสารมากกว่า เป็นการจุดเพื่อทำลายเครดิตของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหว และเป็นการป้องปราม เป็นปฏิบัติการ ปจว. ถ้าเขาจะอยู่ในอำนาจนานๆ เขาก็ต้องสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายต่อต้าน
แต่สิ่งที่ผมกังวล ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วถ้ามันดำรงอยู่ก็เป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีความรุนแรงก็ไม่มี แต่ถ้าเกิดมีการปฏิบัติการแบบนี้(เสียบประจาน) มันเท่ากับการยุยงปลุกปั่นนะ ถ้าวันดีคืนดี เขาเห็นหน้าผมและเห็นผมเดินอยู่ตามถนนเห็นผมแล้วเข้ามาทำร้าย ใครจะรับผิดชอบ
“ผมนี่เสื้อแดงยังบอกว่าผมเป็นเสื้อเหลืองเลย เสื้อเหลืองก็จะบอกว่าผมเป็นเสื้อแดง แต่เรามีความคิดอิสระของเรา ประเด็นนี้เราเอา ประเด็นนี้เราไม่เอา โลกนี้มันต้องเลือกอย่างเดียวเป็นเซตเหมือน KFC หรือไง ผมอยากกินไก่ อยากกินนักเกตผมก็ซื้อแยก อยากเลือกแบบบุ๊ฟเฟ่ ไม่ใช่ต้องสเตอริโอไทป์ ผมเป็นมนุษย์ที่มีความคิดอิสระ มีวิจารญาณของผม” ตาม กล่าว
ตาม : ที่มันยิ่งกว่านั้นพอไปอ่านความคิดเห็นที่เขาเสียบประจาน เช่น “จำหน้าพวกนี้ไว้นะ ไปสมัครงานที่ไหนอย่าไปรับ มันไม่มีความคิด” รู้ซึ้งเลย
แมน : ถ้าคลิป(บทสัมภาษณ์)นี้ได้มีโอกาสให้แอดมินเพจหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ก็น่าจะเห็นตั้งแต่ต้นว่าเราเป็นใครมาจากไหน โอเคที่บางช่วงบางตอนที่เราไปร่วมการรำลึกเห็นการผู้เสียชีวิตที่ราชประสงค์ก็เพราะเรารู้สึกว่าไม่น่าจะสูญเสียอะไรแบบนี้ โอเคผมอาจเป็นเหลืองหรือแดงเป็นเรื่องที่ใครๆก็มองได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องเรียกร้องให้เกิดการทำความเข้าใจก็คือพวกผมยินดีที่จะตอบทุกคำถาม เวลาคุณถามว่าไปเคลื่อนไหวทำไม? ต้องการอะไร? วันนี้ไม่มีความสุขหรอ? ก็คุยกัน ตอนนี้ใน inbox (ทางเฟซบุ๊ก)ก็เริ่มมีตั้งคำถามเข้ามาบ้าง ผมก็เริ่มตอบด้วยประโยคเริ่มต้นว่า “ขอบคุณที่ทักมานะครับ” แล้วก็พยายามอธิบาย
โอเคพี่ๆเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามได้ เราก็มีสิทธิที่จะตอบ จริงๆแล้วถ้าการเคลื่อนไหวที่หอศิลป์ฯวันนั้นยอมให้ทำทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โอเคถ้าเขาเห็นว่าเราผิดก็แจ้งข้อกล่าวหาเราเราก็พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการที่บ้านเมืองเป็นอยู่ เราไม่ได้บอกว่าเราไม่ผิด เราไม่ได้บอกว่าเราอยู่เหนือกฎหมาย นี่คือสิ่งที่อยากจะสื่อสารกับคนที่อาจจะเห็นไม่ตรงกับเรา ผมคิดว่าผมพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เพียงแต่อย่าเริ่มต้นประโยคพูดคุยด้วยการด่ากันเป็นควาย รับเงิน หรือว่าไม่อะไรทำหรืออย่างไร? แบบนั้นก็ได้ถ้าเป็นความรู้สึกอารม เราก็ไปห้ามใครเขาไม่ได้ แต่ก็ควรถามเราบ้าง
ตาม : ผมจะโทษคนที่ปลุกปั่น คุณไม่ควรทำอะไรแบบนี้ เพราะคุณไม่รู้ว่าผลของมันนั้นคนตายขึ้นมาจะทำอย่างไร คุณก็ไม่ได้รับผิดชอบ ดังนั้นการปลุกปั่นยุยงจึงเป็นสิ่งที่ต้องประณาม จะเห็นได้ว่าผมกับแมนก็ไม่ได้ความคิดที่จะตรงกันไปทุกเรื่อง แล้วผมเชื่อว่าคนมีพัฒนาการทางความคิด เราค่อยๆใช้เวลาพูดจาหารือกัน ทำความเข้าใจกัน ดีกว่ามองแบบเหมารวม แล้วก็บอกว่าคนพวกนี้ต้องเป็นแบบนี้ ถ้ามันต้านรัฐประหารมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันต้องตาย มันต้องรับเงิน นี่ไม่ใช่เหตุใช่ผลแล้ว
แมน : ผมเสนอให้พี่ๆ ที่ตามมาจากเพจที่เสียบประจานนั้นให้ไปดูประวัติของทุกคน คือบางคนมีด้านที่อีกด้านหนึ่งที่คุณอาจจะไม่รู้ พวกผมวันๆไม่ได้จะนั่งคิดว่าจะต่อต้าน คสช. อย่างไงนะ หลายคนเองก็เคยออกไปร่วมกับพี่ๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณก็ว่าได้ ออกไปชุมนุมประท้วงมาตลอด หลายคนประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หนักกว่าคนที่มาด่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะใช้คำว่าขอความเป็นธรรม
ตาม : ขอความเป็นธรรมให้น้องๆด้วย พวกผมไม่เป็นไรก็โตระดับหนึ่ง แต่ผมชอบที่จะเห็นคนแสดงออกทางความคิด ผมคิดว่าน้องเขาเริ่มที่จะคิด และการไปบอกว่าคนพวกนี้คิดแบบนี้ผิด คุณมีสิทธิอะไรมาพูดอย่างนั้น
แมน : มุมที่น่ารักที่สุดสำหรับผมในค่ำคืนนั้น น้องโรม รังสิมันต์ เอาหนังสือเข้าไปอ่านอยู่ให้ห้องสอบสวน อ่านหนังสือเตรียมสอบ ผมว่ามันน่ารักดี นี่ล่ะมันคือนักศึกษา
“สิ่งที่ผมว่าน่ารักก็คือพี่ๆหลายคนโดนจับวันนั้น เขาก็เคลื่อนไหวกับอีกฝั่งทางการเมือง หรือพูดง่ายๆคือฝั่งที่ต่อต้านคุณยิ่งลักษณ์ กับฝั่งที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ เคยทะเราะกัน ด่ากัน แต่วันนั้นเขาถูกจับด้วยกันแล้วเขาก็ช่วยกัน เขาอยู่ด้วยกัน คิดกัน ช่วยกัน ถ้าเกลียดกันจริงๆ ผมว่ามี 9 คนที่เจ้าหน้าที่ต้องการดำเนินคดี ที่เหลือก็ปล่อยตัว ผมว่าถ้าเกลียดกันจริงๆ เขาคงเลือกให้ 9 คน โดดเดี่ยวโดนจับไป แล้วที่เหลือโดนปล่อยก็ได้ คิดว่านี่เป็นสปิริตที่เห็นได้ยากและมีค่า” ตาม กล่าว
แมน : ในมุมของผลเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เป็นการทำกิจกรรมปกติ แต่ว่าอย่าทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นปีศาจในสังคม
ตาม : ความไม่สงบนี่มันไม่ได้เกิดจากเราหรอก ความไม่สงบมันเกิดจากการที่คุณให้สิทธิคนบางกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน อันนั้นเป็นเชื้อไฟของความขัดแย้ง มันไม่ใช่การแสดงออกทางเสรีภาพที่จะทำให้สังคมขัดแย้ง แต่เมื่อไหร่ที่คุณให้อะไรกับคนในสังคมไม่เท่ากัน เช่น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรืออำนาจทางการเมือง วันนั้นล่ะเขาจะลุกขึ้นมาต่อต้าน
ทั้งคู่ผ่านกระบวนการกิจกรรมนักศึกษามาตั้งแต่เรียน และขณะนี้มีการพูดถึงวาทกรรมว่าด้วย “พลังของนักศึกษา” ในมุมมองของทั้งคู่คิดว่ามันจะเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่ ไม่ว่าเปลี่ยนไปในทางที่สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น มีประชาธิปไตยมากขึ้น?
ตาม : ผมจะมองในเชิงความจริงที่ดำรงอยู่และมองเห็นได้ เรื่องจริงที่สุดคือนักศึกษามันเป็นวัยที่ไม่ต้องทำการผลิต ไม่ต้องทำงาน ว่างงาน และไม่มีภาระที่จะรับผิดชอบ มีหน้าที่ให้เรียนหนังสือ แต่การที่จะให้เรียนหนังสือผมว่าเป็นการบอนไซกลไกการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของสังคม แต่ด้วยความที่เขาเป็นวัยที่แสวงหา ผมว่าในประวัติศาสตร์โลกนี้คนแก่หรือที่เปลี่ยนแปลงสังคม มันมีแต่วัยนี้ทั้งนั้น และการไปบอนไซเขามันมีแต่ทำให้สังคมไม่ไปข้างหน้า ผมก็เลยมองว่ามันเป็นสัจจะธรรมของโลกที่ยังไงคนรุ่นนี้ในวัยนี้จะเป็นกำลังสำคัญ เพียงแต่ขออย่าให้ผู้ใหญ่ในสังคมอย่าไปบอนไซไปทำลายเด็ก ทำลายจินตนาการ ไปทำลายเสรีภาพของเด็ก ผมเชื่อว่าสังคมไหนที่เด็กถูกทำอย่างนั้นจากผู้ใหญ่ ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่ประเทศชาติจะมีอนาคต
แมน : ช่วง 2-3 ปีมานี้มักถูกถามเรื่องคนรุ่นใหม่ ผมก็ต้องบอกว่าผมเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ พลังของนักศึกษา และเล็กหรือใหญ่มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่มันยังมีปฏิบัติการ การกระทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ วันนี้ผมไปจังหวัดไหนที่มีมหาวิทยาลัยผมก็ยังมีข้าวฟรีกินสังสรรค์ คนพวกนั้นและน้องของเพื่อนก็ยังมีอยู่ ผมเชื่อว่าคนใน 37 คนจากหอศิลป์ฯ เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่เขาพร้อมที่เดินไปข้างหน้าได้ แม้ว่าคนที่เดินไปด้วยกันจะไม่เห็นด้วยกันทั้งหมด และในสถานการณ์ตอนนี้ที่ยังมีคนที่กำลังล่าแม่มดน้องๆ ก็อยากให้ลองคุยกับเขาดีๆ ผมเชื่อว่า 37 คนนี้จะแลกเปลี่ยนและคุยกันอย่างมีเหตุผล เพราะที่ผ่านมาเราถูกเบ้าหลอมมาแบบนี้ที่ให้ยอมรับความต่างได้
ตาม : แต่ในเงื่อนไขที่ว่าคนที่กำลังล่าแม่มดอยู่นี่ต้องคุยกับเราด้วย อย่าเปิดฉากมาด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์เรา ไม่ว่าจะด่าเป็นควายบ้าง เป็นสลิ่มบ้าง ฉันมันเป็นคนนะ มาคุยกัน อยากรู้อยากฟังเหตุผลทำไมไม่มีความสุขหรอ คสช.มาเป็นรัฐบาลมาแล้วมึงขี้ไม่ออกหรอ อย่างนี่มาคุยแล้วรับฟังกันก็พร้อมจะคุย