วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทหารห้ามเดินขบวนวันแรงงานที่เชียงใหม่


ทหารสั่งห้ามกลุ่มแรงงานเชียงใหม่เดินรณรงค์วันแรงงาน ระบุเป็นเรื่องอ่อนไหวกลัวกลุ่มอื่นทำตาม ด้านกลุ่มแรงงานปรับกลยุทธ์ส่งตัวแทนแต่ตัดกระดาษวาดรูปคนติดข้อเสนอ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ยื่นข้อเรียกร้องสิบข้อ
 
 
1 พ.ค. 2558 สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่ากลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ต้องเปลี่ยนกำหนดการจากที่วางไว้ว่าจะนำคนจำนวน  100 กว่าคนเดินรณรงค์ประเด็นแรงงานตั้งแต่บริเวณหน้าสวนหลวง ร. 9 จนถึงหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เป็นส่งตัวแทนจำนวน 30 คน ยื่นหนังสือเท่านั้น เนื่องจากทหารไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมเพราะมองว่าเป็นการชุมนุมเกินห้าคน และประเด็นที่รณรงค์เป็นประเด็นอ่อนไหว กลัวกลุ่มอื่นทำตาม
 
ตัวแทนกลุ่มแรงงานเผยว่า “เราได้ขออนุญาตที่มทบ. 33 แต่ทหารไม่อนุญาตเนื่องจากมองว่าเป็นการเดินรณรงค์ที่มีประเด็นอ่อนไหว ล่อแหลม ในสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ  ถ้าเกิดว่าปล่อยให้เดินจะเป็นตัวอย่างให้กลุ่มอื่นๆด้วย เขาเลยไม่ให้เราเดิน”
 
“เขาแจ้งให้เราส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางแทน  ซึ่งเราเอาแค่สามสิบคนเป็นตัวแทนไปยื่นหนังสือ ส่วนคนอื่นๆก็ไปเหมือนกันแต่ไม่ได้ไปด้วยตัวเองแต่จะไปด้วยภาพกระดาษซึ่งเปรียบเหมือนตัวแทนไปยื่นหนังสือด้วยกัน เป็นการรณงค์เชิงสัญลักษณ์”
 
“มันเป็นทางเดียวที่จะแสดงออก เมื่อผู้มีอำนาจไม่ยอมให้เราไป เราต้องใช้วิธีการแบบนี้ เพื่อทำให้เขารู้ว่าถึงแม้จะมีข้อจำกัด มีอุปสรรค แต่เราก็ยินดีที่จะหาทางออก และยืนยันในหลักการของพวกเรา คือ วันที่หนึ่งเป็นวันแรงงาน  มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเรา” ตัวแทนกลุ่มแรงงานกล่าว
 
ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนกลุ่มแรงงานทั้ง 6 กลุ่ม จำนวน 30 คนได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานจังหวัด โดยมีนาย ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ออกมารับหนังสือ และสำรวจดูข้อความรณรงค์รูปคนที่ทางกลุ่มแรงงานจัดทำขึ้น โดยกล่าวสั้นๆว่า คนไทยมีความโอบอ้อมอารีย์ พร้อมรับและอยู่ร่วมกันกับคนประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนี้จะส่งหนังสือแจ้งผลตอบกลับข้อเรียกร้องต่างๆกลับไป
 
ด้านนายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ข้อเสนอแยกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เสนอต่อรัฐบาล และที่เสนอต่อทางจังหวัด ซึ่งคลอบคลุมทั้งสิทธิของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติด้วย
 
“ข้อเรียกร้องหลักๆ คือ ขอให้มีการรับรองสนธิอนุสัญญา 1798 ซึ่งว่าด้วยการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาของ ILO ที่เรามีการรณรงค์กันมาหลายปีแล้ว เนื่องจากถ้ามีการรับรองสัญญาตัวนี้จะทำให้แรงงานมีการรวมกลุ่มกันง่ายขึ้น  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของเขาเอง และนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นได้”
 
อีกเรื่องหนึ่ง คือ อยากให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนเงินส่งกลับ เพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเสียเงินตรงนี้ ซึ่งแทบจะไม่เกิดประโยชน์สำหรับเขา เขาต้องจ่ายเอง และเวลากลับก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้  ตอนนี้เพียงชะลอ แต่ไม่ได้ยกเลิก ซึ่งแรงงานต้องเสีย หนึ่งพันบาททันทีที่เข้าประเทศ ระเบียบ คือ ถ้าจะกลับสามารถยื่นขอคืนได้ แต่ระเบียบตอนยื่นขอคืนซับซ้อนมาก แรงงานบางส่วนที่เคยทดลองยื่นขอ ปรากฏว่าไม่ได้เนื่องจากติดขัดขั้นตอนต่างๆ
 
อีกส่วนหนึ่งก็อยากให้รัฐบาลปรับหรือแก้ไขกฎระเบียบ วิธีการปฏิบัติต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติให้มีความเป็นธรรม และแรงงานเหล่านี้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
ส่วนข้อเสนอต่อทางจังหวัดอยากให้เข้มงวดกวดขันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่นเรื่องประกันสังคมจะดำเนินการอย่างไรให้ชัดเจนกับนายจ้างที่ไม่ยอมพาแรงงานมาจดทะเบียนขึ้นประกันสังคม หรือเรื่องที่มีการเรียกเก็บเงินรายละ 100 บาททุกครั้งที่แรงงานไปรายงานตัว 90 วัน โดยไม่มีเหตุผลรองรับว่าทำไมเรียกเก็บ ทั้งที่ตม.ก็ยืนยันว่าไม่มีการเรียกเก็บ
 
“ข้อเสนอที่คิดว่าสำคัญในระดับจังหวัด คือ เราเสนอให้ทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมาเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคณะกรรมการก็อาจจะประกอบด้วยภาครัฐ องค์กรเอกชน ตัวแทนแรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงาน รวมทั้งตัวแทนนายจ้าง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น