Thu, 2015-06-11 17:01
ประธาน สนช. เตรียมนัดประชุมเพื่อ พิจารณาร่างแก้ไข รธน. ชั่วคราว 2557 18 มิ.ย. 3 วาระรวด พร้อมเผย 3 เนื้อหาหลัก 1.เปิดช่องทางการทำประชามติร่าง รธน. 2.ให้มีการถวายสัตย์ต่อรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ได้ 3.เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง มีสิทธิเป็น สนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ
11 มิ.ย. 2558 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวว่า ขณะนี้ สนช.ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ...จากนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันรับหนังสือ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ดังนั้น สนช.จึงได้กำหนดพิจารณาร่างแก้ไขดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 18 มิ.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมสภาเต็มคณะ พร้อมเชิญตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมพิจารณาด้วย โดยจะพิจารณาภายในวันเดียวแบบ 3 วาระรวด ซึ่งหากสมาชิก สนช. มีข้อเสนอแนะในประเด็นใดสามารถขอมติจาก ครม. และ คสช. ได้เลยโดยไม่เสียเวลาอย่างไรก็ตามหาก ครม.และ คสช.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวต้องยืนร่างเดิมจะแก้ไขไม่ได้ ทั้งนี้การลงมติจะใช้รูปแบบขานชื่อออกเสียงลงคะแนนเป็นรายบุคคล ซึ่งจะต้องมีคะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มี จำนวน 220 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 110 เสียง และหากที่ประชุมเห็นชอบจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อ ไป พร้อมยืนยันด้วยว่า การพิจารณาดังกล่าวจะเปิดกว้างในการอภิปราย ไม่จำกัดเวลา เป็นไปตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งหากไม่เสร็จสิ้นจะมีการ พิจารณาต่อเนื่องในวันถัดไป
พรเพชรกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่างแก้ไขมีทั้งหมด 6 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 7 เป็นการขอปรับแก้ไขถ้อยคำ แต่ตนสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ขอแก้ไขมาตรา 8 (4) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111, 109 ให้มีสิทธิเป็น สนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ด้วย 2. เรื่องการแก้ไขถวายสัตย์ต่อเบื้องพระพักตร์พระมหากษัตริย์ สามารถถวายต่อรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ได้ และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต่อไปนี้ร่างใดก็ตามจะต้องทำประชามติ โดยให้ยึดถือเป็นหลักการ
“ไม่ว่าจะเป็นฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่าน สปช.ก็ต้องไปทำประชามติ หรือถ้าไม่ผ่าน สปช.แล้วมีการตั้งคณะกรรมการ 21 คนขึ้นมาร่างก็ต้องไปทำประชามติเช่นกัน การทำประชามติในร่างแก้ไขที่ระบุว่าให้ทำประชามติเรื่องอื่นๆ ด้วยนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้ถามว่ารัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่ แต่เป็นการให้ สปช.และ สนช.ตั้งคำถาม สมมติตั้งคำถามว่าการที่ให้บัญญัติว่า ส.ว.มาจากการสรรหา ให้มาจากการเลือกตั้งได้ด้วยหรือไม่ เป็นต้น ไม่ได้เกี่ยวกับการต่ออายุรัฐบาล แต่ทั้งนี้คำถามอาจไม่มีก็ได้หากทั้งสองสภาเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละสภา” พรเพชรกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น