Thu, 2015-06-11 19:24
transbordernews
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ค้านค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศ ชี้ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท รัฐควรมองคนเป็นคน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศโดยให้ เหตุผลดังนี้ 1. ในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่การประกาศค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งในระยะหลังต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการและเจตนารมณ์ไปอย่างมาก กล่าวคือ ค่าจ้างขั้นต่ำตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กำหนดให้ค่าจ้าง สามารถเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวได้ 4 คน คือ พ่อ แม่ และลูกอีก 2 คน มาเหลือเพียงพอเลี้ยงชีพเฉพาะคนที่ทำงานเพียงคนเดียว และค่าจ้างก็แบ่งเป็นเขตไม่เท่ากัน คือ ปล่อยค่าจ้างลอยตัว หลังสุดในปี 2553 ราคาค่าจ้างมีถึง 32 เขต ทั้งๆ ที่เขตชายแดนจังหวัดติดกันซื้อสิ่งของอุปโภค บริโภค ในราคาที่เท่ากัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำ
2. การปล่อยค่าจ้างให้ลอยตัว ความเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างในระดับท้องถิ่นขึ้นอยู่กับอนุกรรมการค่าจ้าง ประจำจังหวัดที่มีการประชุมกำหนดค่าจ้างร่วมกัน 3 ฝ่าย (ไตรภาคี คือ รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง) ในบางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงาน ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็ใช้วิธีการหาคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไม่กล้าโต้เถียง เป็นอนุกรรมการทำให้บางจังหวัดไม่ได้รับการปรับค่าจ้างติดต่อกันหลายปี ประกอบกับรัฐบาลไม่สนับสนุน ส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ทำให้คนงานไม่มีอำนาจการต่อรอง และอยู่ในสภาพที่ยากลำบากแร้นแค้น
3. การปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัว ทำให้ค่าจ้างมีความแตกต่างกันอย่างมากทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากจังหวัดหรือ เขตที่มีค่าจ้างต่ำไปสู่จังหวัดและเขตที่มีค่าจ้างสูง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างมากมาย เช่น ครอบครัวแตกแยก ปัญหายาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ กระจุกตัวของผู้คนในเมืองใหญ่ เกิดความแออัด เกิดแหล่งเสื่อมโทรม คุณภาพชีวิตตกต่ำลง รัฐต้องลงทุนและใช้ทรัพยากรในโครงการใหญ่ๆ เป็นการบ่อนทำลายธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ทำให้สูญเสียงบประมาณ สูญเสียโอกาสในการพัฒนาคน พัฒนาเรื่องการศึกษา และการบริการสาธารณะที่ดี ในชนบทที่ดินที่รกร้างไม่มีคนหนุ่มสาวทำการเกษตรถูกนายทุนยึดครอง ซึ่งจะเห็นได้จากนายทุนบางคนครอบครองที่ดินเกือบ 1 ล้านไร่ เป็นต้น
4.คำกล่าวอ้างเดิมที่บอกว่าค่าครองชีพในต่างจังหวัดถูกกว่าค่าครองชีพใน กรุงเทพฯ คงไม่จริงเสียแล้ว ดูจากราคาน้ำมัน พลังงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตต่างจังหวัดแพงกว่ากรุงเทพฯ เครื่องอุปโภค บริโภคบวกราคาค่าขนส่งแพงกว่า สินค้าในร้านสะดวกซื้อที่กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยวันนี้เท่ากันทั้ง ประเทศ บางรายการแพงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ
5. ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนซึ่งนับวันจะรุนแรงขึ้น ทั้งในระดับประเทศและสากล การเปิดเสรีทางการค้า การเงิน การลงทุน การบริการ และแรงงานในข้อกำหนดของเขตเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะดำเนินการเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ ซึ่งจะมีความหมายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมจากนี้ไป การแข่งขันที่เข้มข้นจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างมากมาย หากรัฐบาลมองแค่เรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความ เป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนงาน จะทำให้ประเทศไทย คนไทยสูญเสียโอกาสอย่างมาก จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร เมื่อคนไทย แรงงานไทย ถูกเสนอขายค่าจ้างแรงงานในราคาที่ถูกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ประเทศไทยไม่ควรหวังเพียงตลาดการส่งออกในต่างประเทศ และการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติมาลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว การเพิ่มการบริโภคและการเติบโต แข็งแรงด้วยลำแข้งและสติปัญญาของคนในชาติ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมั่นคงกว่าการพึ่งพาต่างประเทศอย่างแน่ นอน
ในแถลงการณ์ของ สรส.ระบุด้วยว่า จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คงเพียงพอที่จะให้รัฐบาล กระทรวงแรงงาน หยุดกระบวนการที่จะเดินหน้าด้วยการปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัวแล้วเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเช่นในอดีต คนที่มาเป็นรัฐบาลก็ต้องศึกษาทบทวนอย่างเข้าใจ มองคนเป็นคน ดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้แต่ต้น คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมและประชาชน ประกอบกับก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการไปแล้วมีผล ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2557 โดยอ้างภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้น คนกลุ่มอื่นทั้งลูกจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติ และควรหามาตรการด้านต่างๆ ช่วยเหลือแก่ เกษตรกรและประชาชนอาชีพอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น SME ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง รัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการนโยบายทางภาษี ทางการเงินได้เหมือนเช่นเดียวกับที่ได้ช่วยเหลือ และให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติขนาดใหญ่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
สรส.ขอแถลงให้ทราบทั่วกันว่าไม่เห็นด้วยกับการปล่อยค่าจ้างลอยตัว จึงขอยืนยันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300บาท เป็น 360 บาทให้เท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด และขอให้รัฐบาล สนับสนุน ส่งเสริมให้คนงานรวมตัวกันด้วยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น