วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จาตุรนต์ ชี้กรณี 14 น.ศ. แสดงว่ายังเข้าใจคำว่า "ปรองดอง" ไม่ตรงกัน ระบุไม่ควรปิดกั้นความเห็น


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก 'ความคืบหน้าการปรองดอง กับกรณี 14 นักศึกษา ชี้ถึงขั้นนี้แล้วไม่ควรใช้มาตรการใดๆ ไปจำกัดการแสดงความเห็น แต่ควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นมากขึ้น
3 ก.ค. 2558 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก 'ความคืบหน้าการปรองดอง กับกรณี 14 นักศึกษา ชี้ถึงขั้นนี้แล้วไม่ควรใช้มาตรการใดๆ ไปจำกัดการแสดงความเห็น แต่ควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นมากขึ้น
โดยมีข้อเสนอถึงกระบวนการปรองดองที่มีเสนาธิทหารบกเป็นประธานว่า หากจะทำให้เกิดกระบวนการปรองดองขึ้นได้มีความจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ปรองดอง’ และ ‘กระบวนการปรองดอง’ ให้ตรงกันหรือใกล้เคียงกันเสียก่อน ที่ผ่านมามักมีการอธิบายจากภาครัฐแบบง่ายๆว่า ‘ปรองดอง’ คือทำยังไงก็ได้ให้คนที่ทะเลาะกันเลิกทะเลาะกัน
ส่วน ‘กระบวนการปรองดอง’ ก็มักมีการยกตัวอย่างว่าคือการจัดประชุมหารือ แข่งกีฬาและจัดกิจกรรมบันเทิงรวมกันสัก 4,000-5,000 ครั้งแล้ว ในขณะที่ผู้ทำงานปรองดองที่ไม่ใช่ภาครัฐกลับเห็นต่างอย่างมากคือเห็นว่า ยังไม่ตรงประเด็น จึงจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกมาก
ผู้ที่รับผิดชอบในศูนย์ปรองดองมีความตั้งใจทำงาน แต่ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันและจะต้องรีบแก้ คือ การที่ศูนย์ปรองดองและผู้รับผิดชอบบางคนถูกใช้ให้ไปหาทางทำให้ผู้ที่มักแสดงความเห็นต่างกับภาครัฐแสดงความเห็นให้น้อยลง ซึ่งขัดแย้งต่อหน้าที่ในการปรองดองที่ต้องประสานหลายๆฝ่ายให้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยความไว้วางใจและอย่างเท่าเทียมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง การใช้คนและองค์กรอย่างผิดฝาผิดตัวเช่นนี้นี้จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรองดอง
ทางที่ดีแล้ว มาถึงขั้นนี้ไม่ควรใช้มาตรการใดๆ ไปจำกัดการแสดงความเห็นแตกต่าง แต่ควรส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นมากขึ้นด้วยซ้ำ
หากต้องการให้เกิดการปรองดองขึ้นในสังคมไทยจริง จำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา รีบทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของความขัดแย้งก่อนการรัฐประหาร  ศึกษาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนับแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ รวมทั้งศึกษาว่า สิ่งที่แม่น้ำ 5 สายกำลังทำกันอยู่นี้ จะนำประเทศชาติไปสู่สภาวะอย่างไรแน่ จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารได้หรือไม่
ถ้าไม่มีการศึกษาทำความเข้าใจปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันให้ดี ในอนาคตเราอาจจะต้องประสบปัญหาอย่างเดิมหรือหนักกว่าเดิมก็ได้
พร้อมทั้งกล่าวโยงถึงกรณีนักศึกษา 14 คนว่า  ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษามาบ้างคิดว่า เยาวชนในโลกปัจจุบันควรได้รับการส่งเสริมให้รู้จักคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออกและสนใจทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่วนมหาวิทยาลัยก็ควรมีเสรีภาพทางวิชาการจึงจะสามารถผลิตความรู้และคนที่มีคุณภาพได้ นักศึกษา 14 คนเป็นตัวอย่างของการกล้าคิดกล้าแสดงออกในสิ่งที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ยังได้แสดงถึงความยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อสิ่งที่นักศึกษาเหล่านี้ได้รับกลับกลายเป็นการถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหาร้ายแรงที่มีบทลงโทษสูงถึงขนาดจำคุกรวมกันถึง 10 ปี ทั้งยังต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ขัดกันกับทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับการศึกษาของเยาวชน
ในฐานะที่เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยข้อหาร้ายแรงเพียง เพราะการพูดเสนอให้มีการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ผมเข้าใจดีว่า นักศึกษาที่ถูกคุมขังรวมทั้งญาติมิตรและประชาชนผู้สนใจจะรู้สึกว่า นักศึกษาเหล่านี้กำลังได้รับความไม่เป็นธรรมอย่างไร ยิ่งถ้ามีการบีบคั้นกลั่นแกล้งในเรือนจำ  ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมก็จะยิ่งมีมากขึ้น
“การถูกกล่าวหาว่ามีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองหนุนหลังหรือบงการอยู่ จากประสบการณ์ของผม การที่นักศึกษาที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวถึงขั้นยอมลำบากตามอุดมการณ์เพื่อบ้านเมืองจะถูกจูงจมูกจากใครเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆเลย  แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผม เรื่องจริงเป็นอย่างไรควรจะมีการตรวจสอบและพิสูจน์กันให้ชัดเจนต่อไป ไม่ใช่กล่าวหากันลอยๆ เพราะหากมีแต่การกล่าวหากันลอยๆ ก็จะกลายเป็นการพูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชังเสียเปล่าๆ”
“การที่ผมเป็นผู้ที่ได้รับการขอให้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรองดองและกำลังจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมอยู่ กรณีนักศึกษา 14 คนกำลังจะมีผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและกระบวนการปรองดองไม่น้อยทีเดียว” นายจาตุรนต์กล่าวและว่า มีการศึกษาจำนวนมากพบว่า การที่ความขัดแย้งในสังคมทับถมมากขึ้นเรื่อยๆจนต้องมาหาทางปรองดองกันอยู่นี้ มีสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การใช้กฎหมายโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ขณะนี้ทางการเสนอว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ ขณะเดียวกันก็มีการปฏิเสธว่า การใช้มาตรา 44 นิรโทษนักศึกษา 14 คน ไม่สามารถทำได้ ทั้งๆที่นักศึกษาและผู้สนับสนุนทั้งหลายก็ไม่ได้เสนอให้มีการนิรโทษแต่อย่างใด ควรจะมีการพิจารณาว่า  อย่างไรเป็นไปตามหลักนิติธรรม และอย่างไรไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
คำว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ นั้นฟังดู ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิด แต่ ‘กฎหมาย’ ที่ว่านั้น จะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม คือ มีที่มาที่ชอบธรรมและมีเนื้อหาที่เป็นธรรมด้วย   ต้องไม่ลืมว่า ในระบบปัจจุบัน คสช.และบุคคล คือกฎหมาย จะสั่งอะไรก็เป็นกฎหมายไปหมด การที่เยาวชนนักศึกษาต้องขึ้นศาลทหารจะบอกว่า เป็นไปตามกฎหมายก็ได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายปรกติ  หากเกิดจากคำสั่งคสช.  ดังนั้นคำว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ จึงไม่แน่เสมอไปว่า จะสอดคล้องกับหลักนิติธรรม นอกจากนั้นการตั้งข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ ก็ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย
สำหรับการเสนอให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษนักศึกษาซึ่งทางการก็ได้ปฏิเสธไปแล้วนั้น   ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่ความประสงค์ของนักศึกษาหรือผู้สนับสนุนนักศึกษาแต่อย่างใดเลย หากทำไปก็จะเกิดการตีความที่สับสนวุ่นวายเสียเปล่าๆ
ความจริงการจะปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ทำ ‘กฎหมายให้เป็นกฎหมาย’ ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม คำสั่งอะไรที่ไม่ชอบธรรมก็แก้เสีย ไม่ตั้งข้อหาที่ร้ายแรงเกินกว่าเหตุ ไม่ใช้เวลาสอบสวนให้นานเกินความจำเป็น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องขอฝากขังให้ยืดเยื้อต่อไป ทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องนิรโทษใครแต่อย่างใดเลย
การใช้กฎหมายอย่างสอดคล้องกับหลักนิติธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งและไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น