วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

องค์กรสิทธิ ตปท. จี้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักศึกษา-เคารพกติการะหว่างประเทศ


โครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชี้การควบคุมตัวนักศึกษา 14 คน และการข่มขู่ คุกคามทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นการละเมิดสิทธิรุนแรง เรียกร้องให้เขียนจดหมายถึงทางการไทยให้ปล่อยตัวนักศึกษา-เคารพกติการะหว่างประเทศ
 
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมาโครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OMCT) ออกข้อเรียกร้องเร่งด่วน (Urgent Appeal) เกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการและคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการข่มขู่ คุกคามทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้เขียนจดหมายถึงทางการไทยให้ปล่อยตัวนักศึกษาเคารพกติการะหว่างประเทศ
 
ประเทศไทย: การควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการข่มขู่และคุกคามทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กรณี น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ
 
การรณรงค์เร่งด่วน – โครงการ The Observatory
URGENT APPEAL - THE OBSERVATORY
THA 002 / 0715 / OBS 055
การคุกคาม / การควบคุมตัวโดยพลการ /
การคุกคามกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทย
2 กรกฎาคม 2558
 
โครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) เป็นโครงการร่วมของสมาคมต่อต้านการทรมานโลก (World Organization Against Torture - OMCT) และ สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights - FIDH) ขอให้ท่านกรุณาปฏิบัติการเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยดังต่อไปนี้
 
ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์
 
โครงการ Observatory ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่ามีการควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ [i] ได้แก่ นายรังสิมันต์ โรม นายวสันต์ เสกสิทธิ์ นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นายพายุ บุญโสภณ นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นายรัฐพล ศุภโสภณ นายศุภชัย ภูคลองพลอย นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นายสุวิชา พิทังกร นายปกรณ์ อารีกุล นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายพรชัย ยวนยี และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว และการข่มขู่และคุกคาม น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริทนายความสิทธิมนุษยชนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [ii] น.ส. ศิริกาญจน์ยังเป็นหนึ่งในคณะทนายซึ่งเป็นตัวแทนของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว14 คน           
   
ตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนักเคลื่อนไหวทั้ง 14 คนตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ พวกเขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (‘ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง') หากศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง นักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดปี นอกจากนั้น ยังอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากพบว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558  
         
เวลาเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 27 มิถุนายน 2558 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ฝากขังนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนเป็นเวลา 12 วัน (สามารถขยายระยะเวลาการฝากขังได้ไม่เกิน 48 วันโดยต้องมีการขอต่อศาลทุก 12 วัน) ชายทั้ง 13 คนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 7 กรกฎาคม ศาลทหารกรุงเทพจะพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลาการฝากขังหรือปล่อยตัวไป  
           
น.ส.ศิริกาญจน์และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ อีกเจ็ดคนที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่และให้ความช่วยเหลือนักศึกษาทั้ง 14 คนในฐานะทนายความ ณ สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังและศาลทหารกรุงเทพ   
           
ภายหลังการพิจารณาคดีเสร็จไม่นาน เจ้าพนักงานตำรวจกว่าสิบนายที่บริเวณศาลทหารกรุงเทพรวมทั้ง พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ขอเข้าตรวจค้นรถยนต์ของ น.ส.ศิริกาญจน์ เพื่อค้นหาโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คน เมื่อ น.ส.ศิริกาญจน์ปฏิเสธไม่ให้ค้นรถเนื่องจากตำรวจไม่มีหมายศาล และยังมีกฎหมายคุ้มครองเป็นพิเศษต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความและการรักษาความลับของลูกความ แต่ตำรวจได้ทำการล็อกล้อรถของ น.ส.ศิริกาญจน์โดยพลการ และยังนำกระดาษขนาด A4 และใช้กระดาษกาวปิดผนึกบริเวณที่จับประตูรถทั้งสี่ด้าน และนำแผงเหล็กมากั้นรอบคันรถ กลุ่มทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเกรงว่าจะมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของ ๆ ลูกความรวมทั้งคอมพิวเตอร์และแฟ้มเอกสารของทนายความออกจากในรถ พวกเขาจึงตัดสินใจพักค้างคืนในบริเวณนั้นเพื่อเฝ้ารถ
 
เวลา 12.45 น.ของวันเดียวกัน น.ส.ศิริกาญจน์ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเอาผิดกับเจ้าพนักงานในฐานะ 'ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ' ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่มีการยึดรถยนต์ของเธอไว้อย่างผิดกฎหมาย ยังไม่ทันที่ตำรวจจะรับแจ้งความ ตำรวจอีกทีมหนึ่งได้มาถึงบริเวณที่จอดรถตอน 15.30 น.พร้อมกับหมายค้นจากศาลและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำการตรวจค้นรถ  
            
เมื่อมีการแสดงหมายค้น น.ส.ศิริกาญจน์จึงยินยอมเปิดรถยนต์ สิ่งของที่พบในรถประกอบด้วยแฟ้มเอกสารของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของทนายความ และสิ่งของที่เป็นสมบัติของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวรวมทั้งโทรศัพท์มือถือห้าเครื่องที่เป็นของนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ได้ยึดเอาไว้ ระหว่างที่การตรวจค้นยังไม่สิ้นสุด ตำรวจนายหนึ่งได้นำโทรศัพท์มือถือห้าเครื่องออกไปจากที่เกิดเหตุ อีก 15 นาทีต่อมา ตำรวจได้นำโทรศัพท์มือถือทั้งห้าเครื่องกลับมาและนำบรรจุในซองพร้อมกับปิดผนึก จากนั้นมีการนำซองหลักฐานไปที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ     
       
ประมาณ 18.00 น. น.ส.ศิริกาญจน์กลับไปที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามที่กรุงเทพ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 และเจ้าหน้าที่ตำรวจรายอื่น ๆ ในข้อหา “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” น.ส.ศิริกาญจน์ และเจ้าหน้าที่คนอื่นของสำนักงานได้รับเชิญให้เข้าไปในห้องของสารวัตรสอบสวน และได้รับแจ้งว่าตำรวจมีอำนาจในการค้นรถ และบอกว่าถ้าน.ส.ศิริกาญจน์จะแจ้งความ ตำรวจก็จะแจ้งความกลับเช่นกัน แม้จะถูกคุกคามเช่นนี้ ในเวลา 23.00 น. น.ส.ศิริกาญจน์ตัดสินใจที่จะแจ้งความในข้อหา ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ และตำรวจยอมรับการแจ้งความในที่สุด 
             
ในวันที่ 28 มิ.ย. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่าพบหลักฐานสำคัญในรถของ น.ส.ศิริกาญจน์ และตำรวจอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะแจ้งความดำเนินคดีกับเธอหรือไม่ เป็นการให้สัมภาษณ์ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานยังไม่ได้เปิดซองเพื่อตรวจโทรศัพท์มือถือที่ยึดมา เนื่องจากมีกำหนดการตรวจหลักฐานในวันที่ 29 มิ.ย.2558 และต้องรอให้ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาร่วมเป็นพยานระหว่างการเปิดซองที่มีโทรศัพท์ทั้งห้าเครื่อง   
            
สุดท้ายในวันที่ 29 มิ.ย. ตำรวจได้ไปพบพ่อแม่ของ น.ส.ศิริกาญจน์ที่บ้าน และขอให้แม่ดูภาพถ่ายหลายใบของ น.ส.ศิริกาญจน์ และสอบถามประวัติความเป็นมาของลูกสาว   
        
โครงการ Observatory ขอประณามอย่างยิ่งต่อการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คน รวมทั้งการคุกคามและข่มขู่ต่อ น.ส.ศิริกาญจน์ ซึ่งมีเป้าหมายเพียงเพื่อแทรกแซงการทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ชอบธรรม
 
โครงการ Observatory เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คน ให้ยุติการข่มขู่และคุกคาม น.ส.ศิริกาญจน์ และให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
 
ปฏิบัติการของท่าน :
กรุณาเขียนจดหมายถึงทางการไทย เพื่อร้องขอให้พวกเขา:
 
1. ปล่อยตัวนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อพวกเขาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ในประเทศไทย
 
2. ประกันให้มีการคุ้มครองความมั่นคงทางร่างกายและจิตใจไม่ว่าในสภาพการณ์ใด ๆ ของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนและ น.ส.ศิริกาญจน์ รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ในประเทศไทย
 
3. ปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งคุ้มครองความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ และคุ้มครองไม่ให้มีการแทรกแซงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ
 
4. สั่งให้มีการสอบสวนกรณีการคุกคาม น.ส.ศิริกาญจน์โดยทันที อย่างรอบด้าน และอย่างไม่ลำเอียง ทั้งนี้เพื่อจำแนกผู้รับผิดชอบ ให้นำตัวขึ้นศาลและให้นำบทลงโทษทางอาญา ทางแพ่ง และหรือทางปกครองมาใช้ตามความเหมาะสม
 
5. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
 
6. ประกันว่าการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมจะไม่เป็นเหตุนำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
7. ยุติการฟ้องร้องและดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ศาลทหารกับพลเรือน กรณีที่ศาลพลเรือนยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
 
8. ปฏิบัติตามข้อบัญญัติในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งมีการรับรองในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยเฉพาะข้อ 1 ซึ่งระบุว่า "บุคคลทุกคนมีมิทธิ โดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นที่จะส่งเสริมและต่อสู้เพี่อให้เกิดการคุ้มครอง และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ" รวมถึงข้อที่ 12.2 ซึ่งระบุว่า "รัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันให้มีการคุ้มครองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก่บุคคลทุกคน โดยลำพังหรือโดยร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้พ้นจากความรุนแรง การข่มขู่ การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติทั้งในทางพฤตินัยหรือนิตินัย การกดดัน หรือการปฏิบัติโดยพลการอื่นใด ที่เป็นผลจากการที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิอย่างชอบธรรมตามที่อ้างถึงในปฏิญญานี้" 
 
9. ประกันให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในทุกสถานการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง
 
 
____________
 
[i] ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นองค์กรรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตย ให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร และให้เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีหลักการสำคัญห้าประการ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี
[ii] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหารปี 2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับพลเรือนที่ถูกจับกุมและ/หรือถูกฟ้องคดีโดยทหาร และทำหน้าที่สังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารและการละเมิดสิทธิซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย แม้จะก่อตั้งมาได้เพียงปีเศษ ๆ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2557
 
 
ที่มา:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น