ชาวบ้านที่เคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน เข้าให้ข้อมูลกับ กรรมการสิทธิฯ ระบุ ดาวดินไม่ได้เข้ามาปลุกระดม แต่เข้ามาให้เสียงชาวบ้านมีความหมาย ด้านแม่บาส LLTD ยันไม่มีใครอยู่เบื้องหลังลูก ด้านกสม. เตรียมประสานเรื่องการสอบตั๋วทนายของโรม LLTD และการสัมภาษณ์เข้าเรียนของ น้อย ดาวดิน
3 ก.ค. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจiLaw รายงานว่า เวลา 10.00 น. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ จัดประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงการจับกุมนักศึกษา จำนวน 14 คน โดยเชิญผู้ร่วมประชุม คือ ทีมทนายความของกลุ่มนักศึกษา ผู้แทนจากสภาทนายความ ชาวบ้านที่กลุ่มดาวดินเคยทำงานด้วย ผู้ปกครองของนักศึกษา และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของรัฐและทุน เช่น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านผู้ที่ได้รับกระทบจากเหมืองทอง อ.วังสะพุง จ.เลย, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดลัอมบ้านนามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม จ. ขอนแก่น ให้ข้อมูลเกี่ยวการทำกิจกรรมของนักศึกษา "กลุ่มดาวดิน" (กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม) ว่า เป็นกลุ่มที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านย้ำว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินไม่ใช่การปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน
ที่มาภาพจกา iLaw
ชาวบ้านกล่าวว่า ที่ผ่านมา เสียงของคนในพื้นที่ไม่มีความหมาย ซ้ำยังมีทหารและข้าราชการเข้ามาพบชาวบ้านบ่อยมากให้ยุติการเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกังวลใจว่าการทำกิจกรรมในด้านสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าทำลายความมั่น คงของชาติ แต่ขอให้มองด้วยว่ากลุ่มนายทุนได้มาทำลายการดำรงชีวิตของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง และการกล่าวว่ากลุ่มเล็กๆ ควรเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศทำให้ชาวบ้านรู้สึกเสียใจและรู้สึกว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความหมายในสังคมเลย
ด้านผู้ปกครองของ รัฐพล ศุภโสภณ หรือบาส ยืนยันต่อกสม.ว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับพ่อไผ่ ดาวดิน และยืนยันว่าการจับกุมพวกเขาทั้ง 14 คน เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และผู้ปกครองและชาวบ้านยังถูกคุกคาม เช่น มีเจ้าหน้าที่ติดตาม ถ่ายรูป และเข้าไปพูดคุยอยู่ตลอด ซึ่งสร้างความไม่สบายใจเป็นอย่างมาก
ด้าน นพ.นิรันดร์ จะหาทางช่วยเหลือ ซึ่งปัญหาที่จะเร่งดำเนินการแก้ไข เช่น กรณี รังสิมันต์ โรม นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เตรียมจะสอบตั๋วทนายในปีนี้ แต่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ และทางสภาทนายความก็ไม่อนุมัติให้การมีการจัดสอบในเรือนจำ ซึ่ง นพ.นิรันดร์ จะติดต่อประสานกับ นายกสภาทนายความว่าจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีกรณี 2 นักศึกษา ม.ขอนแก่น คือ 'อภิวัฒน์-ศุภชัย' หลังลาออกแล้วมาสอบใหม่ แต่ไปสัมภาษณ์ไม่ได้ นพ.นิรันดร์ จึงเตรียมส่งหนังสือเวียนให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยหาทางแก้ไข
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของการพูดคุยมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ ซึ่ง นพ.นิรันดร์ ระบุว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของกรรมการสิทธิฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น