วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ชีวิต 2 นักแสดงละคร 'เจ้าสาวหมาป่า' ผู้ลี้ภัยในต่างแดน


หลังรัฐประหาร ข้าวเหนียว และ ปุก คือนักแสดง 2 คนจากละครล้อเลียนการเมืองเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ต้องลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาไม่มีทางเลือก เพราะเพื่อนนักแสดงในเรื่องเดียวกันถูกตัดสินจำคุกข้อหาหมิ่นฯ ไปแล้ว ประชาไทคุยกับทั้งสองว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกม. และความหวังที่จะกลับ "บ้าน" 
 
 
‘เจ้าสาวหมาป่า’ คือละครเวทีที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มประกายไฟการละคร สมาชิกสามคนของกลุ่มใช้เวลาแค่วันเดียวในการร่างบทและเขียนสคริปต์ขึ้นมา ด้วยเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยการเสียดสีราชวงศ์และการเมืองไทย เจ้าสาวหมาป่าจึงเล่นไปได้เพียงสองรอบเท่านั้น ในวันที่ 6 ต.ค. 56 และ 13 ต.ค. 56 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงในวันที่ 13 ต.ค. เพียงประมาณหนึ่งชั่วโมงทำให้ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบงค์ วัย 24 ปี และภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือกอล์ฟ วัย 26 ปีถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ติดคุกคนละ 2 ปี 6 เดือนแบบไม่รอลงอาญา เจ้าสาวหมาป่าจึงกลายเป็นละครเวทีเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้นักแสดงติดคุกด้วยมาตรา 112 ไปโดยปริยาย
 
นอกจากแบงค์และกอล์ฟแล้ว ยังมีรายงานว่านักแสดงอีกหกคนในเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 30 ปี ก็เป็นที่ต้องการตัวของตำรวจด้วยเช่นกัน พวกเขาต่างใช้ชีวิตบนความหวาดกลัว บางคนเดินทางออกนอกประเทศและลี้ภัยโดยสมัครใจอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน (ประชาไทขออนุญาตไม่เปิดเผยที่อยู่และรายละเอียด เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว)
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มประกายไฟทำการแสดงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พูดถึงได้ยากหรือไม่ถูกพูดถึงบ่อยนักในสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งพวกเขาพยายามท้าทายขีดจำกัดของสังคมเสมอ เพราะเชื่อว่าการสื่อสารผ่านศิลปะนั้นมีเสรีภาพมากกว่า
 
ปุก (นามสมมติ) หนึ่งในนักแสดงเจ้าสาวหมาป่าวัย 19 ปี ต้องย้ายออกจากบ้านของเขาในภาคใต้ของประเทศไทย หลังแบงค์และกอล์ฟถูกจับ เขาย้ายที่พักไปเรื่อยๆ และอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จนสุดท้ายตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 
 
แบงค์ กับ กอล์ฟ ขึ้นศาล
 
“ผมโคตรกลัวเลย ผมเล่นละครเนี่ย พูดไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ แต่มันทำลายชีวิตทั้งชีวิต ผมเพิ่งสอบที่รามได้แค่สองครั้งเอง ก็ต้องมาอยู่นี่ ผมอยากเป็นวัยรุ่นที่ได้ไปเที่ยวบ้าง อะไรบ้าง แต่ที่นี่ทุกอย่างมันขึ้นกับเงินและสถานการณ์ ต้องทนอยู่ับความอึมครึมของบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมือง ผมยังเด็ก บางทีเราก็คุยเล่นแบบเด็กวัยรุ่น ก็จะโดนผู้ใหญ่ว่า แล้วที่นี่ก็แทบไม่มีคนอายุไล่เลี่ยกันอยู่เลย” ปุกกล่าว เขาบอกด้วยว่า เขาถูกเตือนไม่ให้คบกับคนท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ไทย
 
ปุกเป็นนักศึกษาปีหนึ่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชีวิตมหาวิทยาลัยและอนาคตด้านการศึกษาในกรุงเทพฯ ของเขาพังทลายลงอย่างกะทันหัน เพียงเพราะคณะรัฐประหารระบุว่าละครเวทีมือสมัครเล่นเรื่องนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
 
ด้านข้าวเหนียว (นามสมมติ) นักแสดงอีกคนจากละครเรื่องเดียวกันและนักเคลื่อนไหววัย 30 ปีที่ผ่านการแสดงในงานเล็กๆ อย่างค่ายอาสาราว 20 ครั้ง เปิดเผยว่าเขาคาดการณ์ไว้นานแล้วว่าอย่างไรก็ต้องมีวันที่ตัวเองหนีออกนอกประเทศและกลายเป็นผู้ลี้ภัย
 
สถานการณ์การเมืองไทยที่ย่ำแย่และการกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้เขากังวลอย่างมาก ขณะเดียวกัน มันเป็นแรงกระตุ้นให้เขาพยายามท้าทายขีดจำกัดของประเด็นที่พูดถึงไม่ได้ในสังคมผ่านละครเวที ขณะเดียวกัน เขาก็หาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ประเทศใหม่’ ใกล้เคียงไปด้วย ทั้งในเรื่องสังคม การเมือง อาหาร ค่าครองชีพ ไปจนถึงภาษา
 
บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดคนนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า “ตั้งแต่ที่อ่านบท ผมก็คิดเลยว่าผมต้องหนีออกนอกประเทศแน่นอน ผมบอกเรื่องนี้กับทั้งเพื่อนนักแสดงและที่บ้าน ทุกคนบอกว่าผมพูดเหลวไหลเพราะมันเป็นแค่การแสดง แม้จะมีความเสี่ยง แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจเล่น เพราะผมคิดไว้แล้วว่าวันหนึ่งก็ต้องลี้ภัยอยู่ดีและผมก็ไม่อยากอยู่ประเทศไทยอีกต่อไป” 
 
ข้าวเหนียวต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และผิดกฎหมาย เนื่องจากถูกออกหมายจับโดยตำรวจ ซึ่งเขายังคงรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รีบเดินทางออกนอกประเทศก่อนหน้านั้น
 
“ตอนนั้นผมก็มั่นใจว่าเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่พอเจอจริงๆ ตั้งตัวไม่ถูกเลย เพราะตั้งใจว่า จะออกนอกประเทศแบบบนดิน แต่ตอนนั้นก็สายเกินไปแล้วที่จะไปบนดิน ต้องไปแบบเถื่อน” ข้าวเหนียวกล่าว
 
เจ้าสาวหมาป่าถูกสร้างขึ้นมาโดยสมาชิกสามคนของประกายไฟการละคร ซึ่งรวมถึงกอล์ฟและปุก แม้จะมีชื่อเรื่องว่าเจ้าสาวหมาป่า เนื้อเรื่องจริงๆ กลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวละครเจ้าสาวที่เป็นหมาป่าเท่าไรนัก เค้าโครงเรื่องโดยรวมค่อนข้างไม่ชัดเจน เส้นเรื่องหลักมักถูกคั่นด้วยเรื่องสั้นเป็นระยะๆ ส่วนการแสดงของนักแสดงนั้นเต็มไปด้วยการ ‘อิมโพรไวซ์’ หรือแสดงสด
 
เจ้าสาวหมาป่าเป็นเรื่องราวของอาณาจักรในจินตนาการที่ถูกปกครองและบริหารโดยกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งทรงอำนาจอย่างมากหลังอภิเษกสมรสกับพระชายาที่เป็นหมาป่า แต่หลังการสมรสก็กลับสังหารเธอทิ้ง หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงอ่อนแอลงเพราะถูกวางยาโดยปุโรหิต เมื่อกษัตริย์ประชวรหนักขึ้นเรื่อยๆ ปุโรหิตก็ลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทน 
 
ปุโรหิตคนดังกล่าวรับสินบนจากนักธุรกิจที่ต้องการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บนที่ดินของกษัตริย์ จากนั้นไม่นาน เงาของกษัตริย์ในกระจกก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอย่างพิศวงและขึ้นมาบริหารอาณาจักรด้วยตัวเอง กษัตริย์องค์ที่ออกมาจากกระจกทรงลุแก่อำนาจและทะเยอทะยานอย่างมาก ขณะที่กษัตริย์ตัวจริงยังคงนอนป่วยอยู่โดยไม่รู้ความเป็นไป
 
ปุกอธิบายว่าราชวงศ์ในเรื่องเป็นตัวแทนของชนชั้นนำไทย ส่วนเงาในกระจกเป็นตัวแทนของอดีตนายกฯ ทักษิน ชินวัตร นักการเมืองที่นำมาซึ่งความแตกแยกมากที่สุดในประเทศและผู้นำในดวงใจของคนเสื้อแดง
 
ปุกกล่าวว่า “เราต้องการแสดงให้เห็นความย้อนแย้งของขบวนการเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พวกเขาบูชาทักษิณแบบแตะไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ทักษิณจะไม่แตกต่างอะไรจากอีกฝ่ายเลย การห้ามวิจารณ์ทักษิณมันขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ” 
 
ด้านข้าวเหนียวมองว่าความหมายแฝงที่แทรกอยู่ในบทของเจ้าสาวหมาป่าอาจจะลึกซึ้งเกินไป
 
“ผมไม่คิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่เข้าใจสารที่เราต้องการจะสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพวกเราเองที่ฝึกซ้อมไม่มากพอ นักแสดงบางคนก็เพิ่งขึ้นแสดงละครเวทีเป็นครั้งแรก และหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงบทที่เล่นเท่าไร”
 
พราหมณ์ (แสดงโดยปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) วางยาพระราชาให้อ่อนแอ
 

ชีวิตกับการเมือง 24 ชม.

 
ประมาณสิบวันหลังจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจ คสช.ได้เรียกตัวนักเคลื่อนไหว 28 คนไปรายงานตัวต่อทหารในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ซึ่งอย่างน้อย 11 คนในนั้นถูกสอบถามเกี่ยวกับละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ตลอดจนถูกบังคับให้เปิดเผยชื่อของนักแสดงแต่ละคนด้วย
 
“ผมก็เข้าใจความจำเป็นของเพื่อน ว่าถูกบีบให้คายชื่อ ก็ได้ชื่อกอล์ฟ ชื่อแบงค์ แล้วก็กับชื่อผม” ข้าวเหนียวกล่าว สามวันหลังจากนั้น ตำรวจออกหมายจับพวกเขา กอล์ฟและแบงค์ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม
 
ข้าวเหนียวเล่าว่า เขาต้องออกจากบ้านด้วยเงินสดเพียง 4,000 บาท ส่วนปุกถูกไล่ออกจากบ้านหลังญาติๆ ที่เป็นรอยัลลิสต์รู้ว่าเขาไปทำอะไรมา (ปุกเป็นเด็กกำพร้า) ยิ่งไปกว่านั้น เขายังถูกขู่ฆ่าจากญาติของตัวเองอีกด้วย
 
“ผมกลัวมาก กลัวที่สุดในชีวิตเลย” ปุกกล่าว
 
ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าการอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมายอย่างไรเสียก็ดีกว่าการหลบซ่อนในไทย แต่แม้ว่าจะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง พวกเขาก็ยังระแวงและพยายามปกปิดตัวตนเสมอ เช่น สวมแว่นกันแดดและหมวกเวลาออกไปซื้อของที่ตลอดทุกครั้ง เพราะยังคงมีข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่จากไทยกำลังตามหาและอาจมาลักพาตัวพวกเขาไปได้ทุกเมื่อ นอกจากปกปิดตัวตนแล้ว ที่อยู่บ้านใหม่ของพวกเขาก็ถือเป็นความลับสุดยอดเลยทีเดียว
 
ปัจจุบัน ข้าวเหนียวและปุกอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันร่วมกับสมาชิกในบ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นชายล้วน ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองจากประเทศไทย หลายคนเป็นที่ต้องการตัวในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112  พวกเขาอยู่กันแบบคอมมูน สมาชิกบ้านจะลงขันคนละ 40 บาทเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน และสำหรับอาหารค่ำในแต่ละวัน ส่วนมื้อกลางวันส่วนใหญ่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
 
งานประจำของพวกเขาทุกวันนี้คือจัดรายการการเมืองรายวันผ่านระบบพ็อดแคสต์ รายได้ส่วนหนึ่งได้มาจากแฟนๆ รายการที่ช่วยกันบริจาคนั่นเอง
 
จากเดิมที่เป็นคนพูดน้อย และเก็บตัว ปุกต้องพยายามอย่างมาก เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคลิกตัวเองให้เป็นนักจัดรายการที่ดุดันและตลกขบขันเพื่อดึงดูดเงินบริจาค แต่การทำเช่นนั้นก็อาจทำให้เขาเสี่ยงที่จะมีโทษตามกฎหมายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทย
 
“ถ้าตำรวจรู้ว่าผมเป็นใคร ผมคงต้องติดคุกอีก 15,000 ปี ผมไม่เคยพูดมากขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่ก็ต้องทำ เลือกไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็อดตาย” ปุกเผย
 
ข้าวเหนียวรับหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมในรายการการเมืองและรายการเพลง นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบดูแลด้านความเรียบร้อยด้านเทคนิคของสถานีด้วย ทั้งสองคนอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนคุยเรื่องการเมืองกันตลอดเวลา งานของพวกเขาก็คือการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ยิ่งไปกว่านั้น อนาคตของพวกเขายังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองไทยด้วย ซึ่งสำหรับปุกแล้ว สภาพที่เป็นอยู่นำมาซึ่งความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
 
“ชีวตคนลี้ภัย ชีวิตไม่มีเรื่องอื่น นอกจากการเมือง เรื่องเจ้า เรื่องประยุทธ เหลือง แดง ผมฟังพวกลี้ภัยด้วยกันถกกัน ก็มีแต่เรื่องเดิมๆ ดูแล้วโคตรสิ้นหวังกับขบวนการเลย ต่างคนต่างบ้าผลประโยชน์ขนาดนี้ มันเน่าเฟะมาก ผู้ลี้ัยแข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินบริจาค” ปุกกล่าว
 
ภาวะซึมเศร้าและสุขภาพจิตของปุกแย่ลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ลี้ภัยมา เพราะเขารู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายและน่าเบื่อ ประกอบกับการอยู่รวมกับเพื่อนคนอื่นเกือบตลอดเวลาในบ้านหลังเดียวกันทำให้ขาดความเป็นส่วนตัวอย่างมาก เขายอมรับว่าคิดฆ่าตัวตายวันละหลายครั้ง 
 
ที่แย่ที่สุดคือเขาไม่สามารถไปปรึกษาจิตแพทย์ในประเทศที่อาศัยอยู่ได้ เพราะเขาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
 

อนาคตที่เลือนลาง

 
อดีตนักศึกษารามฯ ปีหนึ่งคนนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า เขาอยากเรียนต่อ เขาติดต่อไปยังสถานทูตหลายประเทศเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วแต่ยังไม่มีที่ไหนตอบกลับมาเลย
 
“ผมไปมาทุกสถานทูตแล้ว ผมอยากได้สถานะผู้ลี้ภัยจะได้ไปอยู่ประเทศที่สามและเรียนหนังสืออีกครั้ง แต่ไม่ได้เลย ตอนนี้มืดมนมาก จนแอบยอมแพ้แล้ว เริ่มหมดหวังแล้ว”
 
“ชีวิตอยู่ไปวันๆ ไร้รสชาด เช้าตื่นนอน กินข้าว อัดรายการ คุยกับแม่ยกขอตังค์ กินข้าว นอน” ปุกเสริม
 
ในทางตรงกันข้าม สำหรับข้าวเหนียวแล้ว การใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจในต่างแดนคือโอกาสที่จะได้สนุกไปกับบทบาทใหม่ นั่นก็คือการเป็นนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวการเมืองอย่างเต็มที่
 
“ข้อมูลบางอย่างถูกปิดในประเทศไทย และคนในประเทศก็หิวกระหายข้อมูลเหล่านั้น เราก็ใช้โอกาสนี้ทำให้เขาหายกระหาย” ข้าวเหนียวกล่าว
 
นักแสดงและนักเคลื่อนไหววัย 30 ปีเชื่อว่า เขาต้องอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไปอีกสองปีเป็นอย่างน้อย เขาเองอยากขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข
 
อย่างไรก็ตาม ทั้งข้าวเหนียวและปุกยังรอวันที่ประเทศไทยจะเกิด ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ การเปลี่ยนแปลงภายในที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนนอกอย่างพวกเขา
 
“ผมอยากให้คนไทยเลิกชิล ใส่ใจปัญหาประชาธิปไตยมากกว่านี้ ผมว่า อาจต้องรอให้เศรษฐกิจพังก่อนหรือเปล่าจึงจะเห็นพวกเขามาใส่ใจสิทธิในการเลือกตั้ง” ข้าวเหนียวตั้งคำถามถึงคนไทยทุกคน
 
ปุกเสริมว่า “ผมอยากให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง ให้ระบบศักดินาหายไป และระบอบประชาธิปไตยรุ่งเรือง แต่อาจยากหน่อยเพราะคนไทยเป็นคนอดทน ดูแล้วอนาคตผมโคตรมืดเลย ตอนนี้กระแสเริ่มซาแล้ว ยอดบริจาคก็น้อย ในที่สุดอาจต้องไปทำมาค้าขายแทน”
 
ปุกบอกว่า เขาไม่ค่อยเห็นอนาคตที่จะได้กลับประเทศไทย “น่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ปี ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ นี่ไม่ได้ดูถูกนะ แต่ผมเองยังมองไม่เห็นหนทางชนะจริงๆ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น