วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ประยุทธ์ให้คำมั่นยูเอ็นมุ่งสร้างสังคมไทยที่เคารพความเป็นมนุษย์-ยอมรับเท่าเทียม


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อรับรองวาระการพัฒนาหลังปี 2015 ยืนยันว่ามนุษย์คือสาเหตุหลักของโลกร้อน ไทยจะพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการเคารพธรรมชาติ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสังคมที่ความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน พร้อมร่วมมือกับโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ทุกคนเข้มแข็ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในที่ประชุม "UN Summit for the Adoption of the Post-2015 Development Agenda" เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2558 ที่องค์การสหประชาชาติ, นิวยอร์ก (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (UN Summit for the Adoption of the Post-2015 Development Agenda) ยืนยันว่า จะพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการเคารพธรรมชาติ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสังคมที่ความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน โดยมีรายละเอียดตามที่เผยแพร่เป็นวิดีโอในเว็บไซต์รัฐบาลไทยดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าเดินทางมาร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลและชาวไทยในการร่วมกับประชาคมโลก ที่จะทำให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุผลตามที่ได้ตั้งใจไว้
และยินดีมากที่วาระการพัฒนาใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องคน เพราะคนเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด และเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับการกระทำของเรานั้นอยู่ที่จะกำหนดความอยู่รอดของคนหลังว่าอย่างไร เพราะทุกวันนี้แน่ชัดแล้วว่ามนุษย์คือสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งเป็นคุกคามภัยร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราจำเป็นต้องตัดสินใจกันว่าจะยังคงบริโภคกันอย่างไม่ยับยั้งและมุ่งมั่นแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ หรือจะเลือกอยู่อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นชีวิตที่มีคุณภาพ พอเพียง และสมดุล
เราสามารถเลือกที่จะเคารพธรรมชาติ ไม่มองธรรมชาติเป็นทรัพย์สินแต่เพียงอย่างเดียว ทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นคือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี สร้างความต้านทาน และช่วยนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตมาหลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2543 (หมายเหตุ: พล.อ.ประยุทธ์น่าจะหมายถึงสึนามิปี พ.ศ. 2547) ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งเป็นพื้นฐานการจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2558-2563 และแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไป
โลกคงยังประสบความท้าทายเร่งด่วน คือ ความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหามากมาย เช่นปัญหาความยากจน การแย่งชิงทรัพยากร การโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นปัญหาพื้นฐานของปัญหามากมาย และยังเป็นปัจจัยบ่มเพาะความรุนแรงในสังคมอีกได้
การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีความเสมอภาคและมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียม จำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐ ด้วยหลักธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ขจัดการทุจริตและระบบอุปถัมภ์  รัฐบาลจึงออกกฎหมายหลายฉบับ ที่จะสร้างความทัดเทียม เช่น กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ
การขจัดความเหลื่อมล้ำเริ่มจากการยอมรับในคุณค่าของคนทุกคน รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับกลุ่มที่เปราะบาง โดยจัดวางมาตรการต่างๆ เช่น การประกันสุขภาพทั่วหน้า การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนรายครัวครอบครัวยากจน เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดรายเดือน
รัฐบาลพยายามสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคคลและครอบครัว โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้สังคมมีความกลมเกลียวเหนียวแน่น ไม่แต่เฉพาะคนไทย รัฐบาลยังให้การคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมืออีกด้วย ปีที่แล้วไทยจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากกว่า 1.6 ล้านคน มาตรการนี้ช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญในการพัฒนาข้อมูลสถิติที่ครอบคลุมและจำแนกตามกลุ่มคน เพื่อกำหนดนโยบายและตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ เราต้องทำให้สังคมมองเห็นคนเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน โดยปลูกฝังทัศนคติเหล่านั้นให้กับลูกหลานของเราแต่เยาว์วัย
การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องมาจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐบาลเน้นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจและสังคมมาจากฐานราก ให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการขยายการลงทุนสู่ท้องถิ่น ผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับสังคมในชนบท
นอกจากนั้นยังเน้นการดูแลเกษตรกรอย่างเต็มที่ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิ้น ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันคนไทยทั่วประเทศมีงานทำแทบทุกคน และรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน "Smart Job Centre" ให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางในการหางานทำด้วย
การขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นเฉพาะเรื่องภายในของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศผ่านความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เรามุ่งหวังสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวจังหวัดชายแดน 6 แห่ง ภายใต้แนวคิดไทยบวกหนึ่ง และจะพัฒนาขยายความร่วมมือกับเพื่อนเรานอกภูมิภาคด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า "เมื่อประชาชนเข้มแข็ง ประเทศและโลกก็จะเข้มแข็งไปด้วย ในอีก 15 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำและความยากจนจะลดน้อยลง ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและองค์การสหประชาชาติ  เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็งด้วยกัน อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขอบคุณครับ Thank you"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น