ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 4 กันยายน 2558 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดฟังคำพิพากษาคดีใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ลงที่หน้าห้าง Big C ราชดำริ เมื่อ 17.00 น. วันที่ 23 ก.พ. 2557 ในขณะที่มีการชุมนุมของ กปปส. แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส9 ราย บาดเจ็บ12ราย และทรัพย์สินเสียหาย คดีนี้มีจำเลย 4 คนคือ ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง(จำเลยที่ 1), สมศรี(เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร(ทร) ผิผ่วนนอก(จำเลยที่ 3)และทวีชัย(วี) วิชาคำ(จำเลยที่ 4) ซึ่งตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2557 ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยทหารอยู่ก่อนที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 และยึดรถกระบะ 3 คัน ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่รับสารภาพชั้นสอบสวนลดโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้ง 4 คน อุทธรณ์คำพิพากษา
อัยการฟ้องจำเลยทั้ง4ในข้อหา ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า โดยไต่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครอง, มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง, มีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง, พาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดติดตัวไปในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง และฝ่าฝืนประกาศ ที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดออกนอกเคหสถานเข้าไปในเขตพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้ง 4 ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในชั้นศาล
ศาลลงบัลลังก์เวลา 10.00น. และเริ่มอ่านคำพิพากษาว่าในคดีนี้มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ประเด็นแรกโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยได้อ้างประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษเรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางจังหวัดรวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน แต่ในคดีนี้ผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่ในกลุ่มบุคคลตามประกาศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี
ประเด็นต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี ได้เข้าเป็นหนึ่งในคณะ คสช. ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และเข้าร่วมการสอบสวนจำเลยที่ค่ายทหารเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2557 จำเลยทั้ง 4 รับสารภาพว่าได้ลงมือกระทำโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถนำขบวน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถปิดท้ายขบวน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ซ่อมอาวุธ และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยิง ที่จำเลยให้การว่าถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนนั้น พ.ต.อ.อัคราเดชได้ให้การว่าในระหว่างการสอบสวนไม่มีการทำร้ายร่างกาย และยืนยันว่าจำเลยให้การโดยสมัครใจ เนื่องจากพยานเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีความน่าเชื่อถือจึงรับฟังได้
พ.ต.ท.ยุต ทองอยู่ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษเจ้าของคดี เบิกความในรายละเอียดว่า จำเลยทั้ง4 คนได้ร่วมกันวางแผนก่อเหตุและจัดหาอาวุธโดยใช้บ้านของกรรณิการ์ วงศ์ตัว เป็นที่ประชุม ต่อมาวันที่ 23ก.พ.2557 ทั้งหมดได้เดินทางไปยังบริเวณที่เกิดเหตุแต่อาวุธปืนเกิดติดขัด จึงกลับไปให้สุนทรแก้ไขอาวุธเสร็จ เย็นจึงเดินทางออกไปที่จุดเกิดเหตุอีกครั้ง โดยชัชวาลขับรถโตโยต้าวีโก้สีบรอนซ์ทองเป็นรถนำทาง และคันที่สองวิเชียร สุขภิรมย์เป็นผู้ขับโดยมีกรรณิการ์นั่งข้างคนขับ ทวีชัยนั่งหลังคนขับและสุนทรนั่งอยู่หลังกรรณิการ์ สมศรีขับตามเป็นคันที่สาม โดยมีคนชื่อต๊ะนั่งข้าง จำเลยทั้ง 4 คน ไปถึงจุดเกิดเหตุในเวลา 17.00 น.เศษ ทวีชัยได้ใช้ M79 ยิงหนึ่งนัดไปที่บริเวณผู้ชุมนุมหน้าห้าง Big C แล้วเดินทางกลับที่บ้านของกรรณิการ์แล้วจึงแยกย้ายกันไป
พิจารณาแล้วจำเลยแต่ละคนได้เล่าขั้นตอนการก่อเหตุสอดคล้องกันจึงเชื่อว่าเป็นการให้การโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครแต่งเรื่องได้สอดคล้องกันเช่นนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยเรื่องการทำร้ายร่างกายและลงชื่อรับสารภาพโดยไม่มีทนายเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การรับฟังพยานบอกเล่าต้องทำด้วยความระมัดระวัง หรือมีเหตุผลอันหนักแน่น พยานโจทก์ยังมี พ.ต.ท.สุทัศน์ ไชยพรหม และ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย พยานตำรวจผู้เชี่ยวชาญเบิกความตรงกันว่า จากการตรวจสอบเชื่อว่าทิศทางการยิงมาจากแยกประตูน้ำ สอดคล้องกับที่จำเลยสารภาพว่ายิงจากแยกประตูน้ำ
ประเด็นรถยนต์ที่ขึ้นสะพานจากภาพกล้องวงปิดมีพยานศุภกร พุ่มชาวสวน พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างแพลตตินั่ม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและเป็นผู้มอบบันทึกภาพวิดีโอซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีเพื่อตรวจสอบได้ระบุตำแหน่งของกล้องวงจรปิดด้านหน้าห้างที่บันทึกภาพของรถยนต์ที่มุ่งขึ้นสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งสามารถบันทึกภาพรถกระบะสีทอง รถยี่ห้ออีซูซุ มิวเซเว่น สีดำ และ รถกระบะโตโยต้าสีดำ ซึ่งถูกบันทึกไว้ได้ในเวลา 16.51 น.
พ.อ.วิจารณ์ จดแตง เบิกความว่าจับกุมนายชัชวาลได้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2557 ต่อมาวันที่ 9 ก.ค. ชัชวาลได้นำทหารไปตรวจค้นที่บริเวณหมู่บ้านพฤกษาB คลองสาม พบอาวุธ 9รายการ ซึ่งจากการตรวจสอบมีปืน M79 และกระสุนระเบิดขนาด 40มม.
ประเด็นที่การร้องเรียนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นเอกสารบันทึกการประชุมซึ่งไม่มีการระบุถึงเรื่องของจำเลยทั้ง 4 มีเพียงทางราชทัณฑ์ตอบในที่ประชุมเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำว่ามีแพทย์และพยาบาลเรือนจำตรวจร่างกายในวันแรกที่ผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏข้อมูลจึงฟังไม่ได้ว่ามีการซ้อมทรมาน
ส่วนการอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์
จากข้อมูลที่ได้จากพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานทั้งหมดนี้จึงมีเหตุผลหนักแน่นเชื่อได้ว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดจริงตามข้อหาตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษในบทที่หนักที่สุด ศาลจึงตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ
วรรณี น้อยมีซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวทำให้ต้องทำการผ่าตัดรักษาและไม่สามารถทำงานได้นาน 3 ถึง 4 เดือน ได้เรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ศาลจึงสั่งให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้แก่ผู้เสียหายรวมเป็นเงิน 534,700 บาท ค่าธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้ง 4 คน ได้ปรึกษากับทนายตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ตามกฎหมายกำหนดจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น