8 ต.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การในคดีที่นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการจัดกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก (คดีหมายเลขดำที่ 164 ก./2558 ศาลทหารกรุงเทพ) ทนายความจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลรับคำร้องและสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ด้านจำเลยยืนยันไม่ให้การจนกว่าจะมีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ศูนย์ทนายความ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในคดีนี้ โจทก์ได้แก้ไขคำฟ้อง โดยเพิ่มเติม มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งระบุว่า ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวาง โทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ต่อท้ายฟ้องเดิม
ด้านทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล โดยอ้างว่า
- ขณะที่เกิดเหตุกระทั่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นพลเรือน ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการทหาร จึงมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16
- ประกาศ คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้
- ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร มีเนื้อหาเกินขอบเขตของกฎหมายที่เป็นฐานในการประกาศให้อำนาจ ไม่สามารถใช้บังคับได้
- ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย เนื่องจาก พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจประกาศถูกยกเลิก
ตุลาการศาลทหารได้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา และให้โจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน จากนั้น ศาลถามจำเลยว่า จะให้การหรือไม่ จำเลยยืนยันไม่ให้การ จนกว่าจะมีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ศาลจึงสั่งให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งจะจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในเขตอำนาจ คือ ศาลแขวงปทุมวัน
กระบวนการหลังจากนี้ จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ในกรณีต่างๆดังนี้
- ถ้าหากศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีดังกล่าวนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลตน และศาลแขวงปทุมวันก็เห็นพ้องกับศาลทหารกรุงเทพ ก็จะต้องแจ้งความเห็นไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปในศาลเดิม
- ถ้าหากศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน และศาลแขวงปทุมวันก็มีความเห็นพ้องกับศาลทหารกรุงเทพ ก็จะต้องแจ้งความเห็นไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อให้มีคำสั่งโอนคดีไปศาลแขวงปทุมวัน หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความ (โจทก์) นำคดีไปฟ้องที่ศาลแขวงปทุมวัน ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
- ถ้าศาลทหารกรุงเทพและศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในดคีดังกล่าว ศาลทหารก็จะต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันโดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้นั้น
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้อง นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลพลเรือน ได้ร่วมกันกระทำผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 อันเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 เวลากลางวัน อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับดังกล่าวบังคับใช้ จำเลยทั้งสี่กับพวกที่หลบหนีอีกจำนวนหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตามตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสี่ได้ทราบประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ดังกล่าวแล้ว เหตุเกิดที่แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อันเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก พนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีนี้แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น