วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชะตากรรมคนคิดต่าง สำรวจชีวิตผู้ลี้ภัยการเมือง


ความขัดแย้งระลอกล่าสุดของการเมืองไทยนับตั้งแต่ปี 2549 กินเวลายาวนาน นิยามและแนวคิดต่อ ‘ระบอบทักษิณ’ สถาบันกษัตริย์ ทิศทางการพัฒนา ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การปฏิรูป นักการเมือง พรรคการเมือง ฯลฯ ดูเหมือนจะมีความแตกต่างหลากหลายในทุกประเด็น ไม่นับรวมความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นเป็นระลอกและปรากฏครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2553
เมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 สถานการณ์ความขัดแย้งก็ไปไกลขึ้นอีกขั้น นักกิจกรรม นักการเมือง ตลอดจนประชาชนจำนวนหนึ่งที่สังคมอาจเรียกว่าเป็น ‘ฮาร์ดคอร์ทางความคิด’ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ แม้เวลาผ่านมากว่า 1 ปี สถานการณ์คลี่คลายลงบ้างแล้ว ดูเหมือนพวกเขายังคงไม่อาจกลับบ้าน เหตุใดพวกเขาต้องหลบหนีออกไป ความคิดของพวกเขาเป็นเช่นไร สภาพชีวิตเป็นอย่างไร หากไม่รีบสรุปตัดจบเกินไปนัก โอกาสนี้อาจทำให้เราได้เห็นสภาพความเป็นจริงอันหลากหลายของเพื่อนร่วมชาติ และชะตากรรมของ ‘ผู้เป็นอื่น’
แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนสำหรับ ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ หลังรัฐประหาร แต่ข้อมูลจากผู้ลี้ภัยที่ออกไปก่อนรัฐประหารหลายปีระบุจำนวนไว้มากกว่าตัวเลขคนที่มีชื่อเสียง 10 กว่าคนตามที่เป็นข่าวหลายเท่านัก
‘ผู้หนีออกจากบ้าน’ มีหลายประเภท จำนวนมากเป็น นักคิด นักกิจกรรม กวี ศิลปิน ปัญญาชน ที่เคยแสดงแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันในทางการเมืองไว้แล้วไม่มากก็น้อย กระทั่งคนธรรมดาๆ ที่โพสต์เฟซบุ๊กด้วยเหตุผลบ้างด้วยอารมณ์บ้างแล้วถูก ‘ล่าแม่มด’ในจำนวนนี้หลายคนปรากฏชื่อในคำสั่งรายงานตัวของ คสช. และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งเช่นกันที่มีคดีเกี่ยวพันกับอาวุธ นอกจากนี้ก็ยังมีพวกการ์ดเก่าที่กังวลเรื่องความปลอดภัย หรือแกนนำระดับท้องถิ่นที่ถูกคุกคาม ติดตาม จนคิดว่าการอยู่ข้างนอกปลอดภัยและอิสระกว่าข้างใน

ทำไมต้องหนี ?

หากใครยังจำได้ สภาพการณ์ช่วงยึดอำนาจหนล่าสุดนี้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จและตึงเครียดกว่าเมื่อปี 2549 อย่างมาก สถานีวิทยุ โทรทัศน์ ทั้งหมดถูกปิดนานหลายวัน ทหารออกมาอยู่ตามหัวมุมถนน คสช.ประกาศเรียกชื่อบุคคลให้รายงานตัวผ่านโทรทัศน์ไม่หยุด บางคนถูกประกาศเรียกหลายรอบ ไม่มีใครรู้ว่าเรียกไปทำอะไร จะถูกกักตัวที่ไหน และสุดท้ายจะมีคดีติดตามมาด้วยหรือไม่ ผู้คนได้แต่รอคอยให้ครบ 7 วันตามอำนาจกฎอัยการศึกแล้วลุ้นว่าจะโดน ‘แจ็คพ็อต’ด้วยหรือไม่
แม้เวลาที่ล่วงมาจะทำให้ผู้คนเบาใจกับการปรับทัศนคติมากขึ้น แต่สภาพการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ในช่วงนั้นได้ผลักดันพวกเขาให้ดิ้นรนหลบหนีไปแล้ว ทั้งที่จำนวนมากไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้มีคดีใดติดตัว อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนของผู้ที่ลี้ภัยการเมืองที่มีแนวคิด “หนีเพื่อสู้กลับ” พวกเขาบอกว่าคณะรัฐประหารไม่มีสิทธิอันชอบธรรมอันใดที่จะเรียกตัวพวกเขา
“ผมไม่คิดว่าพวกเขามีอำนาจเรียกตัวผม และไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะปฏิบัติกับผมเสมือนที่พลเมืองจะได้รับการปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย” นิธิวัต วรรณศิริ นักกิจกรรมและนักร้องของวงดนตรีวงหนึ่งซึ่งแต่งเพลงที่อาจเรียกได้ว่า ‘เสียดสี’ ‘หยอกเย้า’ สถาบันกษัตริย์และบรรทัดฐานของสังคมไทย เปิดเผยความรู้สึกหลังจากเขาอยู่ในแผ่นดินอื่นมากว่าปี
“มีคนจำนวนหนึ่งถูกเรียกแล้วโดนข้อหา 112 แต่หลายคนก็ไม่โดน มีเพียงคดีไม่รายงานตัวซึ่งก็แค่รอลงอาญา ถามว่าเคยคิดอยากกลับมาให้มันจบไหม วันไหนเหมาะสมผมกลับแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะนอกจากคดีไม่รายงานตัวแล้ว ผมยังโดนพ่วงมาอีกหลายคดี เช่น ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกวันที่ 23 พ.ค.ที่ออกไปต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ และก่อนหน้านี้ก็มีคดีนายวิพุธ(I Pad) แจ้งความในคดี112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีก 3 คดีค้างคาอยู่ เขาคงหาทางขังผมให้ได้ คดีเหล่านี้ผมพร้อมสู้อย่างถึงที่สุดในศาลปกติเท่านั้น" นิธิวัตกล่าว
ขณะที่บางคนก็หลบหนีเพราะไม่สามารถทนทานกับสภาพการณ์นี้ได้แม้เพียงนิดเดียวเพราะเขาประสบมันมามากเกินไปแล้วในอดีต
ธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์ อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวและถูกจำคุกมา 3 ปีกว่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า หลังออกจากคุกเขาออกมาใช้ชีวิตปกติ ดิ้นรนทำมาหากินได้ไม่นานก็เกิดการรัฐประหารและปรากฏชื่อออกโทรทัศน์ให้รายงานตัวกับ คสช.
“ผมออกจากคุกมาก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรหมิ่นเหม่ แต่ก่อนหน้าจะเข้าคุกผมมีเครือข่ายเยอะ เขาคงกลัวว่าผมจะก่อเกิดตรงนี้ใหม่ แต่ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ผมแค้นที่คนที่เคยเคลื่อนไหวด้วยกันไม่ดูแลกันตอนลำบาก” อดีตผู้ต้องขังคดี 112 กล่าว
เขาเล่าว่าแม้จะไม่ได้ทำสิ่งใดผิด แต่สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาไม่อาจมั่นใจในหลักนิติรัฐ นิติธรรมได้ ภาพในหัวกลับมาหลอนอีกครั้ง ตอนที่ตำรวจพร้อมกองทัพนักข่าวหลายสิบคนล้อมคอนโดเพื่อทำการจับกุมเขาซึ่งอยู่กับลูกชายวัย 10 ขวบ ถ้อยคำทางจิตวิทยาต่างๆ นานาที่ถาโถมใส่เขาและลูก การหลงเชื่อเซ็นยอมรับสารภาพและการต่อสู้คดีที่ไม่เป็นผล
“การต้องผ่านการกดดันในครั้งแรกนั้นก็หนักหนา แล้วพอเข้าไปในเรือนจำผมถูกกระทืบสามรอบ ผมรับไม่ได้อีกแล้วที่จะต้องกลับไปตรงนั้น แม้แต่วินาทีเดียว”  
“ผมไม่รู้ว่าเขาจะกักตัวกี่วัน แต่วันเดียวก็ยอมไม่ได้ ไม่รู้จะพูดยังไง มันยอมไม่ได้ ผมรับไม่ได้อีกแล้วจริงๆ แล้วมันไม่มีความมั่นใจว่าความแฟร์อยู่ตรงไหนกับรัฐเผด็จการทหาร จะหาความเป็นธรรมจากกระบวนการตรงไหน ถ้าเป็นรัฐบาลสหรัฐ ยูเอ็น ผมไป” อดีตผู้ต้องขังคดี 112 กล่าว
ยังมีอีกหลายกรณีที่การคิดต่างทำให้ผู้คนต้องอพยพโยกย้าย แม้บางคนจะมีบุคลิกเรียบร้อย สุภาพ และแสดงออกทางความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลราวนักวิชาการก็ตาม
“เขาเป็นดีเจที่ชอบเอาบทความวิชาการมาอ่านแล้วพูดคุยให้ชาวบ้านเข้าใจ เขาไม่เคยพูดสุดโต่งหรือก้าวร้าวหยาบคายเลยนะ พูดเป็นเหตุเป็นผล พูดถึงสิทธิที่เราพึงมี แค่นั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะมีแฟนคลับกับเค้าด้วย” เพื่อนผู้ลี้ภัยคนหนึ่งพูดถึงอดีตดีเจซึ่งไปร่วมจัดรายการสนทนาการเมืองในสถานีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ก่อนการรัฐประหารในยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองเขม็งเกรียวเขาถูกดีเจสถานีใกล้เคียงที่สมาทานแนวคิดตรงกันข้ามแจ้งความไว้แล้ว ทำให้เขาไม่มั่นใจต่ออนาคตของตัวเองหลังการรัฐประหารและจึงตัดสินใจออกมา
“ผมคิดเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง ผมแค่อยากใช้ทักษะเท่าที่ผมมี คุยกับคนในเลเวลที่ผมพูดได้ ไปช่วยพูดให้เขาเข้าใจเรื่องการเมืองการเมืองปกครอง ประชาธิปไตย บางคนเขาโกรธแค้นหนักหลังปี 53 บอกจะจับปืนอะไรแบบนั้น มันไม่ใช่ เราอยากพูดกับชาวบ้าน อยากสนทนากับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ มันไม่ใช่แบบอาจารย์เลคเชอร์ นั่นเขาอีกระดับหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าประชากรไทย 60 กว่าล้านคนมันต้องมีระดับที่ผมคุยได้ นี่คือการต่อสู้ของผม” ดีเจคนดังกล่าวเล่า
“ต่อให้ทักษิณมาเป็นนายกใหม่ แล้วคนเสื้อแดงยังเหมือนเดิม ไม่ยอมรับคนเห็นต่างมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยจริงๆ ตอนนี้ผมยังมองไม่ออกว่าประชาธิปัตย์จะมาหาเสียงยังไง ความขัดแย้งมันเดินมาไกลจนผมคิดว่ามันอาจต้องใช้อีกหนึ่งเจนเนอเรชั่น ให้การไม่ยอมรับกันมันเบาบางกว่านี้ ถึงจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้” ดีเจวิเคราะห์
การลี้ภัยเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ที่มี ‘ความสุดขั้ว’ ทางความคิด ผู้มีแนวคิดสายกลางซึ่งวิพากษ์แม้แต่ฝักฝ่ายเดียวกับตัวเอง ตลอดจนคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองโดยตรงก็พลอยเป็นผู้ลี้ภัยไปด้วย ดังเช่นภรรยาของดีเจคนนี้ ไม่มีใครบอกได้ว่าระหว่างคนที่พาคู่ชีวิตระหกระเหินไปเผชิญอนาคตไม่แน่นอนด้วยกัน กับคนจำนวนมากที่หลบหนีไปเพียงลำพัง ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง อย่างไหนดีหรือแย่กว่ากัน

ผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง

หลากเส้นทางชีวิตในต่างแดน

การมีชีวิตในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องอาศัยอยู่ระยะยาวแบบไม่มี ‘สถานะ’ พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสภาพจิตใจ
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ไม่มีผู้ลี้ภัยที่มีฐานะร่ำรวย อย่างมากที่สุดก็เพียงมาจากครอบครัวคนชั้นกลางที่ทางบ้านพอจะส่งเงินยังชีพให้ได้บ้าง แต่นั่นก็มีจำนวนน้อยมาก
เท่าที่เข้าถึงข้อมูลของบรรดานักกิจกรรม หลังออกจากประเทศนับถึงวันนี้เป็นเวลาปีกว่า ผ่านช่วงยากลำบากในการปรับตัวจนตอนนี้คนจำนวนไม่น้อยหาที่ทางได้บ้างแล้ว น่าสนใจว่า ที่ทางของพวกเขาก็ยังแตกต่างกันในรายละเอียด
คนจำนวนหนึ่งดูเหมือนยุติบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองแบบที่เห็นได้ชัดอย่างการทำรายการวิทยุออนไลน์ บนพื้นฐานแนวคิดว่าเกรงใจ ‘เจ้าของบ้าน’ และเห็นว่าควรตั้งหลักกับชีวิตใหม่ให้ได้เพราะไม่เห็นทางที่จะได้กลับบ้านในเร็ววัน หรือถึงขั้นหวังจะรองรับผู้คนที่อาจได้รับผลกระทบแบบเดียวกันระลอกใหม่ พวกเขาพยายามหาช่องทางทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็น การเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ขายไก่ย่าง ขายหมูสะเต๊ะ เปิดร้านทำผม ร้านทำป้าย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มาโดยง่าย หลายคนผ่านการเป็นลูกจ้างตามร้านรวง เป็นเด็กท้ายรถ (ทัวร์) มาก่อนจะเก็บเงินเช่าร้านได้ บางคนที่พอมีทุนรอนติดตัวก็ทุ่มมันไปกับความล้มเหลวในการทดลองสูตร ทดลองตลาด ครั้งแล้วครั้งเล่าแทบสิ้นเนื้อประดาตัวกว่าทุกอย่างจะลงตัว แต่ผลลัพธ์ของความยากลำบากบางครั้งก็ไปได้ดี มีอยู่ร้านหนึ่งที่ขายดิบขายดีถึงกับขยายสาขา ในขณะที่บางคนเพิ่งเริ่มต้นแบบงูๆ ปลาๆ บางคนเปิดร้านเสริมสวยมาเกือบปีและพบว่าการยืนขาแข็งตั้งแต่เช้าจนดึกนั้นมีรายได้เพียง “พอกินวันต่อวัน” เท่านั้น
แม้โดยส่วนใหญ่จะมีชีวิตค่อนข้างลำบาก แต่บางคนที่มีความสามารถเฉพาะทางก็สามารถรับงานต่างๆ พอให้มีรายได้โดยไม่ต้องตรากตรำมากนัก เช่น งานออกแบบ งานสอนดนตรี แต่ค่าตอบแทนก็ยังห่างไกลจากชีวิตเดิม นักออกแบบโฆษณาคนหนึ่งบอกว่าค่าตอบแทนการทำงานออกแบบในที่ที่เขาอยู่ต่ำกว่าเมืองไทยประมาณ 10 เท่า ขณะที่นักดนตรีอีกคนอาศัยการสอนดนตรีเด็กนักเรียนทุกเสาร์อาทิตย์ สร้างรายได้ประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน ไม่อาจเทียบกับเงินเดือนเฉียดแสนเมื่อครั้งอยู่บริษัทใหญ่ในเมืองไทยได้
อย่างไรก็ดี เราพบตัวอย่างของคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแม้ในยามลี้ภัยด้วย แม้จะเป็นแค่ตัวอย่างเดียว เขามีแบ็คกราวน์มาจากงานภาคประชาชนและกระโจนสู่ภาคการเมืองด้วยการเป็นผู้ช่วยนักการเมืองและทำงานด้านข่าวสารข้อมูล และนั่นทำให้เขาโดนหางเลขไปด้วยหลังรัฐประหาร เขาเล่าว่าแรกเริ่มที่ใช้ชีวิตนอกประเทศเขาสิ้นหวังและจมจ่อมซังกะตายชนิดไม่ทำอะไรเลยตลอด 4 เดือนเต็ม ก่อนที่จะฮึดสู้และประสบความสำเร็จกับการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจด้านการเกษตร สามารถระดมทุนในการลงทุนเช่าพื้นที่เกษตรกรรมได้ในหลักหลายล้านบาท
“ถ้าท้องยังไม่อิ่ม แล้วเราจะไปสู้อะไรกับเขาได้” ชายหนุ่มนักธุรกิจกล่าวและว่าเขามีแผนสำหรับกำไรล็อตใหม่ว่าจะนำมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วยกันที่ยังลำบาก
นั่นคือทางสายอาชีพ

ทำไมทำคลิปแบบนั้น

ทางอีกสายหนึ่งสำหรับผู้ลี้ภัยที่เป็นนักกิจกรรมและยังคงคร่ำเคร่งกับการเมืองภายในประเทศ นั่นคือ การทำคลิปรายการ ซึ่งเราไม่อาจเอ่ยถึงเพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายในประเทศไทย อย่างไรก็ดี การสอบถามและสอบทานความคิดของพวกเขาในปฏิบัติการดังกล่าวก็อาจเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการถกเถียง
เราไม่รู้แน่ชัดว่ามีรายการทำนองนี้กี่รายการ กลุ่มเป้าหมายของเขาคือใคร หรือแม้กระทั่งรายการเป็นอย่างไร แต่พอทราบจากคำบอกเล่าว่ามันมีหลายเฉดตั้งแต่แรงมากแบบชาวบ้านร้านตลาดจนถึงแรงแบบอวลกลิ่นปัญญาชน
ผู้จัดทำรายหนึ่งระบุว่ารายการของพวกเขานั้นเน้นข้อมูลมากกว่าความก้าวร้าวหยาบคาย พวกเขาต้องการพูดถึงสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองไทย ซึ่งความคิดพวกเขาอาจจะถูกหรือผิด เรื่องนั้นอภิปรายกันได้อีกมาก เสียแต่ว่าประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาพูดสิ่งที่คิดด้วยเหตุด้วยผลและ “ตรงไปตรงมา”  
“เราออกมาแล้ว สถานการณ์บีบให้เราต้องออก ไม่ใช่เราอยากออก เราเลยต้องใช้โอกาสนี้ให้เต็มที่ คนในประเทศจะได้รู้ว่าเรายังอยู่ เรายังสู้” ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าว
“ความจริงมันมีอยู่นิดเดียว สามบรรทัด แต่คุณพูดไม่ได้ มันต้องพูดวกวน วนจนออกนอกวงโคจร เป็นกราวิตี้เลย มันกลายเป็นว่า สิ่งที่คุณพูดได้มากที่สุดคือ ใกล้เคียงความจริง และถ้าให้ปลอดภัยขึ้นก็ ห่างๆ ความจริง และปลอดภัยสูงสุดคือ ตรงข้ามความจริงเลย สิ่งที่ผมพูดคนฟังอาจจะตกใจ แต่มันค่อนข้างโบราณไปแล้วสำหรับประเทศอื่น เพียงแต่มันเป็นสิ่งตกค้างของประเทศนี้” ผู้ลี้ภัยสูงวัยซึ่งเป็นรุ่นแรกนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 กล่าว
ผู้ลี้ภัยสูงวัยยังให้ความเห็นถึงรายการของผู้ลี้ภัยคนอื่นที่อาจก้าวร้าวไม่ระมัดระวังในการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกพูดถึงด้วยว่า เขาและเพื่อนๆ ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่อาจวิจารณ์ โจมตี หรือกระทั่งห้ามปราม เพราะนอกเหนือจากว่ามันจะไม่เกิดผลใดๆ แล้ว สถานการณ์ปัจจุบันยังต้องการแนวร่วมมากกว่าศัตรู ที่สำคัญ พวกเขายึดถือเสรีภาพทางความคิดและคิดว่าท้ายที่สุดผู้ฟังจะใช้วิจารณญาณวินิจฉัยเอง
“คุณมาจากสายสิทธิมนุษยชน เรารู้ว่ามันไม่ถูกนัก [ที่รายการอื่นทำแบบนั้น] แต่มันเป็นเรื่องรสนิยม บางคนชอบกินก้อยดิบ ทำอาหารอนามัยขนาดไหน โภชนาการดียังไงเขาก็ไม่กิน คนกินเขาจะเป็นคนเลือก แล้วเราจะไปบอกว่าคนกินก้อยดิบมันผิดหรือ” ผู้ลี้ภัยสูงวัยกล่าว
ระหว่างนั้น ผู้ลี้ภัยหนุ่มยกมือขอเสริมความคิดเห็นของเขา...ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าผู้ลี้ภัยต่างรุ่นคู่นี้มีความเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะมุมมองต่อ “ทักษิณ ชินวัตร” พวกเขาเถียงกันตลอดเวลาอย่างไม่ลดละโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอาวุโส
“ถ้าเรายึดถือเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเราทรีตบุคคลสาธารณะเหมือนกัน การตรวจสอบ วิจารณ์ หรือแม้แต่การด่าทอบุคคลสาธารณะก็เป็นปกติไม่ใช่หรือ เหมือนกันกับที่เราด่าทักษิณ” ชายหนุ่มกล่าวและแสดงความเห็นว่าบางทีการ “ด่า” บุคคลสาธารณะได้โดยเท่าเทียมกันทุกคนจะช่วยปฏิวัติวิธีคิดหรือจิตสำนึกลึกๆ ของผู้คนให้รู้สึกว่า “คนเราเท่ากัน” ด้วย
“แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับเขา ผมก็คงต้องปกป้องเสรีภาพของเขาที่จะแสดงออก” ชายหนุ่มคนเดิมย้ำ
ยังเป็นเรื่องต้องถกเถียงว่าเหตุผลเหล่านี้ฟังขึ้นหรือไม่ ทางที่เขาเลือกถูกหรือผิด แนวคิดของเขาจะช่วยประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าได้จริงอย่างที่เขาเชื่อไหม แต่อย่างไรเสียก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดแบบนี้อยู่ในหัวของคนจำนวนหนึ่ง

ชายขอบของชายขอบ

นอกเหนือจากนักกิจกรรม ศิลปิน ปัญญาชน ยังมีประชาชนธรรมดา โดยเฉพาะบรรดาอดีตการ์ดที่ลี้ภัยมาอยู่ในดินแดนใหม่ พวกเขาไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีชื่อเสียง และเราไม่แน่ใจแนวคิดของเขานักเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงพวกเขาได้ ทราบแต่เพียงว่าเขามีชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่มีงานทำเพราะไม่มีสถานะและทักษะเฉพาะด้าน ต้องอาศัยอยู่ในเต๊นท์หลังเรือกสวนไร่นาห่างไกล พวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่างที่มีชีวิตยากลำบากอยู่แล้วในประเทศเก่า และยังคงมีชีวิตที่ยากลำบากมากกว่าเดิมในประเทศใหม่

เท้าของผู้ลี้ภัย

สภาพจิตใจและความหวัง

สำหรับปัญหาด้านจิตใจ เราเริ่มต้นเสาะหาข้อมูลของผู้ลี้ภัยอย่างจริงจังหลังจากพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ที่อื่นนานแล้ว นานพอที่จะปรับสภาพได้ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่แสดงออกหรือบอกเล่าช่วงเวลาแห่งความทุกข์นัก มีเพียงบางคนที่เล่าให้ฟังบ้างเล็กๆ น้อยๆ โดยเราพบว่า หลายคนมีอาการฝันร้ายต่อเนื่องนานหลายเดือน บางคนฝันในเรื่องเดิมซ้ำๆ บางคนหมดอาลัยตายอยากไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ได้ บางคนไม่ยอมเรียนภาษาใหม่ทำให้ยิ่งปรับตัวไม่ได้และอยู่ในภาวะซึมเศร้า บางคนสภาพจิตย่ำแย่จนสะท้อนออกทางร่างกาย เช่น มีอาการตกใจง่าย หวาดผวาและเมื่อตกใจก็ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จนต้องพบแพทย์เพื่อรักษาตัวหลายเดือนกว่าจะเป็นปกติ
“ผมไม่ได้มีปัญหากับการปรับตัวมากนัก เพราะจริงๆ ก็เป็นคนชอบเดินทางและชอบอยู่คนเดียวอยู่แล้ว แต่ช่วงแรกๆ ผมนอนฝันร้ายเกือบทุกอาทิตย์ มันเป็นเรื่องราวแบบเดิมด้วยจากนั้นก็ตกใจตื่น เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ไม่น่าเชื่อ” นักทำหนังโฆษณาคนหนึ่งเล่า เขาเป็นคนชั้นกลางที่มีฐานะพอสมควรและต้องเดินทางนอกประเทศก่อนรัฐประหาร 2557 นานหลายปี เหตุเพราะไปเป็นแฟนคลับเว็บบอร์ดการเมืองแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าแรกๆ ก็ชอบเข้าไปอ่านเพราะมีการถกเถียงกันลึกและมีข้อมูลวิชาการให้ศึกษาเยอะ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มแลกเปลี่ยนในเว็บบอร์ดนั้นด้วย เขายืนยันว่าไม่เคยแสดงความเห็นก้าวร้าวหยาบคาย เน้นใช้เหตุผล ติดเพียงอย่างเดียวว่าเขาเป็นคนตรง
“เวลาที่เราเห็นอะไรไม่เป็นธรรม มันอดไม่ได้ เป็นคนพูดอะไรตรงๆ ยิ่งตอนโมโหยิ่งแล้วใหญ่ จริงๆ คดีเรายังไม่ทันไปถึงไหน ถ้าอยู่เงียบๆ ซะก็อาจพออยู่ได้ แต่เพราะรู้จักตัวเองดีว่าคงเงียบลำบาก ถึงคิดว่าออกมาดีกว่า เพราะถ้าต้องติดคุกจริงๆ เราก็รับไม่ได้ แม้แต่วันเดียว” นักทำหนังโฆษณาคนเดิมกล่าว
คนที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เราเจอมีอายุ 19 ปี เขาละทิ้งการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยปีที่ 1 ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ใจว่าจะโดนคดีร้ายแรงหรือไม่ เขาไม่ใช่ฮาร์ดคอร์การเมือง เป็นคนชอบร่วมกิจกรรมด้านศิลปะและสนใจสังคมอยู่บ้าง เขาได้รับเชิญจากรุ่นพี่ที่ทำงานศิลปะไปเล่นละครเวที ซ้อมกันวันเดียว เขียนบทเพียงคร่าวๆ และเล่นสดกันเสียมาก เขาเป็นตัวละครที่ออกเพียงบางฉากรวมทั้งเรื่องแล้วไม่ถึงสิบนาที แต่สิบนาทีนั้นเปลี่ยนชีวิตเขาโดยสิ้นเชิง รุ่นพี่สองคนถูกจับและลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคำฟ้องระบุชื่อจำเลยสองคน “และพวกที่ยังจับกุมไม่ได้” เด็กหนุ่มซึ่งอาศัยและเติบโตกับญาติเนื่องจากเป็นเด็กกำพร้าตัดสินใจลี้ภัยด้วยความคิดที่สับสนยิ่ง เขาออกตัวว่าเขา ไม่ใช่ทั้งนักกิจกรรม ไม่ใช่ปัญญาชน ไม่ได้มีเป้าหมายจะต่อสู้ทางการเมือง นั่นทำให้แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ดูเหมือนลึกๆ แล้วเขาก็ยังคงมีอาการซึมเศร้าและเฝ้าแต่ถามตัวเองว่า “ทำไม”  
“ถามถึงอนาคตเหรอ ผมโคตรเสียดายเลย ผมยังอายุ 18 ตอนออกมา ชีวิตทั้งชีวิต เหมือน.....(เงียบ) โคตรเสียดายเลย แต่อยู่คุกคงแย่กว่า และถึงไม่มีคดีชัดเจนอยู่ต่อในไทยก็คงแย่เหมือนกัน ไม่ได้ออกไปไหน มันระแวงไปหมด”
“อยู่ที่นี่ ผมจัดรายการกับเขาด้วย ตอนแรกไม่ได้คิดจะมาทำอะไรอย่างนี้ ผมมีเงินติดตัวมาหมื่นหนึ่ง อยู่ได้สองเดือนเหลือสองพันบาท จะอยู่ยังไง ทำมาหากินก็ไม่ได้ อยู่ๆ ก็มีวัยรุ่นคนหนึ่งที่ลี้ภัยมาพอดี มาจับคู่กันแล้วลองจัดรายการเล่นๆ จับพลัดจับผลูมีคนฟังซึ่งสามารถขอบริจาคได้เอามาใช้จ่ายประจำวัน ปกติไม่ค่อยพูดแต่ต้องทำ มันเลือกไม่ได้”
“ที่ผมเป็นๆ อยู่นี่ ไม่ได้เลือกเอง มันจำเป็นหมดเลย ตั้งแต่แสดงละคร ถูกขอร้องให้เล่น การออกมาก็เหมือนกัน เลือกไม่ได้อีก อยู่ก็โดนจับ ทำวิทยุก็เหมือนกัน ถ้าไม่ทำผมก็อดตาย” เด็กหนุ่มวัย 19 ปีกล่าว

สถานะผู้ลี้ภัย ไกลเกินเอื้อม?

สิ่งที่ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งคาดหวังมากคือการได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และไปอยู่ในประเทศที่สาม แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย กระบวนการนั้นยาวนานและน้อยคนนักที่จะได้รับการพิจารณา เด็กหนุ่มคนนี้อยากไปเรียนหนังสือต่อในประเทศพัฒนาแล้วแต่หนทางสำหรับเขาก็ยังดูมืดมิด ศิลปินนักทำหนังโฆษณาก็มีโปรเจ็กต์ในฝันที่อยากจะทำสารคดีเรื่อง 112 ดีๆ สักเรื่องเพื่อสื่อสารกับคนกลางๆ ให้มีความเข้าใจมากขึ้น เขาเองก็ต้องการสถานะผู้ลี้ภัย เขาทดลองสมัคร รออยู่นานและท้ายที่สุดก็ได้รับการปฏิเสธ
“ผมสมัครขอสถานะไปในฐานะประชาชนธรรมดา ไม่มีสถานะนักกิจกรรม ไม่มีสถานะนักวิชาการ ให้มันรู้ไปว่าการเป็นคนธรรมดามันจะไม่ได้รับสิทธิ ไม่ได้รับการปกป้อง” นักทำโฆษณากล่าว
ขณะที่อดีตดีเจเชียงใหม่ก็มีความหวังว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยเพื่อไปต่อในประเทศที่สาม ลงหลักปักฐานทำมาหากินแทนที่จะใช้ชีวิตอย่างไร้สถานะบนความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ เขาพยายามดิ้นรนเสาะหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต แต่ทุกอย่างก็ดูเป็นอุปสรรคไปหมด และเขารู้สึกสิ้นหวังกับภาวะ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง”
“จะให้กลับไปตอนนี้ มันก็เหมือนกับอีกหลายคน กลับไปเราก็ไม่เหลืออะไรแล้ว และนึกสภาพว่ากลับไปเราก็คงต้องหวาดผวาตลอดเวลา ต่อให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว สมมติเรากลับไปทำมาหากิน วันหนึ่งเขาบอกว่าคุณมีคดีนี้ 112 แล้วมาจับเรา กฎหมายนี้ยังอยู่ เราจะมั่นใจยังไง”
“การต้องอยู่ยาวที่นี่ มีปัญหา ผมทำการตลาดมาหนึ่งปีแล้ว มันอยู่ไม่ได้ ผมอยากไปอยู่นั่นอยู่นี่เหมือนกัน พูดอย่างไม่เกรงใจผมก็หมันไส้คนที่โชว์รูปเหมือนกัน คนที่ไม่ได้ไปแล้วเขาเดือดร้อนยังมีอีกมาก แล้วคนที่ไปแล้วโพสต์กวนตีนมากๆ มันจะมีผลต่อคนที่ต้องการลี้ภัยคนอื่นหรือเปล่า” อดีตดีเจกล่าว
สำหรับพ่อเลี้ยงเดี่ยวอย่างหนุ่มเรดนนท์ เขาเลือกที่จะปักหลักหาช่องทางทำมาหากิน เขาว่านั่นเป็นหนทางที่เขาภูมิใจกว่าการรับบริจาค เขาตั้งมั่นจะปักหลักให้เร็วที่สุดเพราะอยากให้ลูกชายมาอยู่ด้วย อันที่จริงไม่เฉพาะความอยากแต่ต้องทำให้ได้เพราะคนที่อุปการะลูกของเขาก็กำลังจะปล่อยมือแล้วหลังจากเรียนจบมัธยมต้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“ถ้าผมตั้งหลักไม่ได้ ผมยังไม่รู้จะทำยังไงดี” เขากล่าวและมองด้วยสายคาดคั้นพยายามหาคำตอบที่ไม่มีใครตอบได้

บาดแผล และความหวัง

“ถามว่าทำไมไม่กลับไป กลับไปก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ที่จริงถ้าปล่อยให้อยู่เมืองไทยแล้วปล่อยให้ผมทำธุรกิจของผมไป มันคงพอไปได้ คนเคยติดคุกมาก่อนมันมีความเข็ดหลาบพอสมควร แต่เพราะคุณผลักให้ผมมาอยู่ตรงนี้เอง คุณจะจองล้างจองผลาญอะไรกับประชาชนตัวเล็กๆ แบบนี้ มีเอกสารลับหลุดมาบอกผมเป็นตัวแปรเคลื่อนไหวสำคัญทั้งที่ผมไม่ได้เคลื่อนอะไรเลย จริงๆ คนอย่างผมน่าจะทำประโยชน์ให้เมืองไทยได้อีกเยอะ” หนุ่มกล่าว
“มันควรจะจบแล้วนะของผม ไม่ควรต้องมาเจออะไรแบบนี้ ตอนนี้ผมคิดแต่เรื่องความตายอย่างเดียว เดี๋ยวพ่อเราก็ตาย แม่เราก็ตาย จะให้ตั้งครอบครัวใหม่ก็รู้สึกเวลามันเหลือสั้นไป เวลาชีวิตเราน้อยแล้ว ทั้งที่ใจเราก็อยากดูแลเด็ก อยากมีคนข้างๆ ตอนน้องเว็บอายุ 10 ขวบผมติดคุก ผมได้ออกมาเจอเขาตอน 13  ขวบ กลายเป็นวัยรุ่นแล้ว ผมอยากได้ 3 ปีของผมในคุกกลับคืนมา แต่มันไม่ได้แล้ว ลูกโตเป็นควายแล้ว จะหอมผมมัน จะดมส้นตีนมัน มันก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว” พ่อเลี้ยงเดี่ยวกล่าว
ความตายของญาติมิตรดูจะเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องที่จัดการยากมากที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้ที่ต้องอยู่นอกประเทศ
“ช่วงไหนของการลี้ภัยที่เจ็บปวดที่สุด พูดยาก มันก็เจ็บปวดทุกช่วง แต่ถ้าหนักสุดคงเป็นเรื่องที่คุณแม่ประสบอุบัติเหตุรถตกบ่อทรายสูง 30 เมตร แล้วเราได้แต่รับรู้แต่กลับไปเยี่ยมหรือไปหาท่านไม่ได้ นี่ยังไม่รวมเรื่องญาติพี่น้องเสียชีวิตแล้วไม่สามารถไปร่วมอาลัยได้อีกหลายกรณี”นิธิวัตกล่าว
“อยากกลับมาไหม แน่นอน บ้านผมอยู่ที่นั่น ครอบครัวผมอยู่ที่นั่น เพื่อนพี่น้อง ความทรงจำ ทุกๆ อย่างมันอยู่ที่นั่น ...เพลงอย่าง คิดถึงบ้าน(เดือนเพ็ญ) หรือ เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ ก็ล้วนเกิดจากอารมณ์อยากกลับบ้านของผู้ที่ต้องหลบหนีลี้ภัยจากระบอบเผด็จการเช่นกัน” นิธิวัตกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้อาวุโสซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจากคดี 112 ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ไม่กี่ปีและอยู่แผ่นดินอื่นจนกลายเป็น “รุ่นพี่” เราถามเขาอยู่นานซ้ำแล้วซ้ำอีกกว่าจะได้คำตอบถึง “รายจ่าย” ในการเป็นผู้ลี้ภัยของเขา
“ผมมีทั้งรายจ่ายรายรับ ผมไม่ได้บอกให้ทุกคนทำอย่างผม ผมอยู่ในวัยที่ทำได้ ผมรับผิดชอบต่อครอบครัวเรียบร้อย ผมมี เงินเก็บของผมเอง และผมโชคดีที่ได้ใช้เงินเก็บ บางคนเก็บเงินไว้มากแล้วตายโดยที่ไม่ได้ใช้เงิน ผมนี่โชคดีมาก ได้ใช้เงินทุกบาทที่ตัวเองเก็บ ผมได้ใช้เวลาอย่างทรงคุณค่าที่สุดในช่วงวัยนี้ แล้วผมก็ถูกบังคับให้ต้องเที่ยว คือต้องย้ายที่บ่อยๆ อยู่ไหนนานๆ ไม่ได้ คุณคิดว่ามันเจ๋งไหมล่ะ” ผู้ลี้ภัยสูงวัยกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
“ผมต้องขอบคุณที่อีกฝั่งหนึ่งเขาทำให้ผมต้องเลือก อันที่จริงคือทำให้ผมไม่มีทางเลือก ผมว่าประเทศไทยที่จริงมันเรื่องเล็กมาก มันคุยกันง่าย ขอให้คิดถึงพฤษภาทมิฬ ยังอะลุ่มอะหล่วยกัน ขอให้คิดถึง 66/23 ช่วงนั้นฆ่ากันเท่าไหร่สุดท้ายยังให้โอกาสพัฒนาชาติไทย ให้เงินคนละสองแสน แจกงัวแจกควายกัน  แล้วนี่มันอะไร ทำไมต้องเอาคนไปขังคุก 50 ปี บ้ารึเปล่า” ผู้ลี้ภัยสูงวัยกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น