วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เปิด 10 ปฏิบัติการ ลับ ลวง พราง (กันให้เห็นๆ)


เช่น ไม่เปิดเผยสังกัด  มาในชุดพลเรือน ซ่อนป้ายทะเบียน  คุมตัวแบบเงียบๆ ไม่ทราบสถานที่ ไม่แจ้งญาติ ไม่ให้พบทนาย ใช้ศาลทหารตัดสิน แม้กองทัพเป็นคู่กรณี ฟ้องคดีความมั่นคง แม้เป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคล เคยบอกว่าจะไม่รัฐประหาร นิรโทษกรรมตัวเองล้วงหน้า และจะอะไรอีกก็ มาตรา 44 ไง เป็นต้น
"อำนาจนำไปสู่ความฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งฉ้อฉลเบ็ดเสร็จ" (Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.) - ลอร์ดแอกตัน (Lord Acton, 10 January 1834 – 19 June 1902)  นักประวัติศาสตร์ นักการเมือง และนักเขียนชาวอังกฤษ
ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ประชาชนผู้ที่คิดต่างและแสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือคิดค้าน คสช. ไม่ว่าจะตั้งแต่คัดค้านการเข้ายึดอำนาจ รัฐประหาร หรือคัดค้านการดำเนินนโยบายต่างๆ หากมีการแสดงออกก็จะถูกปฏิบัติการที่แตกต่างไปจากรัฐบาลปกติ ซึ่งประชาไท ได้รวบรวมไว้ในเบื้องต้น ดังนี้

1. ไม่เปิดเผยสังกัด

ช่วงปลายเดือน พ.ย.และต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มีข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสและการทุจริตนั้น หลังจากที่ ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ แกนนำ นปช. ประกาศจะเดินทางไปตรวจสอบอุทยานดังกล่าว ก็ถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เปิดเผยสังกัดสลับกันมาเฝ้าบริเวณหน้าบ้าน รวมทั้งติดตามขณะเดินทางไปส่งลูกที่โรงเรียน แม้กระทั่งหลังจากถูกสกัดไม่ให้ไปในวันที่ 30 พ.ย. แล้ววันต่อมาก็ยังมีปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าว (ดู ณัฐวุฒิ : 1 ธ.ค.58 และ 4 ธ.ค.58 )
เช่นเดียวกับคณะกิจกรรม ‘นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ที่นำโดย  สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ขณะควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมไปบก.ควบคุมสถานการณ์ กองพลทหารราบที่ 9 ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม ก้มีการใช้รถที่ปกปิดสังกัดด้วยเช่นกัน (ตามภาพด้านล่าง)
ภาพรถของทหารที่ใช้นำตัวคณะส่องทุจริตราชภักดิ์ไปยัง จ.นครปฐม โดยมีการนำสติ๊กเกอร์ปิดชื่อหน่วยสังกัดไว้ ที่มาภาพเพจ พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen

2. มาในชุดพลเรือน

นอกจากการปกปิดสังกัดแล้ว ในกิจกรรมของคณะส่องโกงราชภักดิ์ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่าง พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผบ.กองพลทหารราบที่ 9 ที่แต่งกายในชุดพลเรือนมาควบคุมสถานการณ์ด้วย โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานโดยอ้างถึง คำกล่าวของ พล.ต.ธรรมนูญ ที่ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำนำชาวบ้านเข้าไปล้อมกลุ่มศึกษา แต่ตนเข้าไปช่วยดูแลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้สั่งตัดโบกี้รถไฟ 
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ที่มาเฝ้าบริเวณหน้าบ้านของณัฐวุฒิ ก็มาในชุดลำลองเช่นกัน
เพจ พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen แชร์ตั้งข้อสงสัย ถึงบทบาทขง พล.ต.ธรรมนูญ ในเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง

3. ซ่อนป้ายทะเบียน

ต่อเนื่องจากการปกปิดสังกัดแล้ว การซ้อนป้ายทะเบียนยานพาหนะก็เป็นอีก 1 ปฏิบัติการที่มาควบคู่กัน จะเห็นได้ชัดจากกรณีเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าบริเวณบ้านของณัฐวุฒิ (ดูภาพด้านล่าง)
ภาพกจ้าหน้าที่ทหารที่เฝ้าหน้าบ้านณัฐวุฒิซึ่งนอกจากมาในชุดลำลองแล้ว ยังมีการปกปิดป้ายทะเบียนด้วย

4. เฝ้าและเยี่ยมบ้านฝ่ายที่เห็นต่างจาก คสช.

หลังจากที่ คสช. เข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.57 มีการออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวจำนวนมาก ซึ่งในบรรดาบุคคลเหล่านั้นจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ต่างๆ เข้าพบหรือสอบถามข้อมูลจากญาติตามทะเบียนบ้าน รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย (อ่านรายละเอียด : เผยจนท.ความมั่นคงเยี่ยมบ้านนักศึกษา 17 รายติดๆ จี้ยุติการเคลื่อนไหว)
การเฝ้าบริเวณหน้าบ้านหรือที่พักนั้น นอกจากกรณีของณัฐวุฒิที่ยกมาแต่ต้นแล้ว ยังมีอีกหลายกรณี เช่น กรณีของ วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาเฝ้าบ้านทั้งที่นวธานี และที่ลำปาง โดยอ้างว่าควบคุมเพื่อไม่ให้ไปประท้วง ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาในโอกาสเยือนไทย (รายละเอียด) เป็นต้น
ภาพจากเฟซบุ๊ก 'Veera Somkwamkid

5. คุมตัวแบบเงียบๆ ไม่ทราบสถานที่ ไม่แจ้งญาติ ไม่ให้พบทนาย

 
กรณีข่าวดังเมื่อช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นกลุ่มหมอหยอง ที่ถูกคุมตัว ดำเนินคดีก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ชี้ว่า สุริยัน  สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง นั้นตกเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สาบสูญในระหว่างเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 58 จนวันที่ 21 ต.ค. 58 ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) กล่าวคือ สุริยัน  ถูกควบคุมตัวโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธว่ามีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมถึงไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ทำให้ช่วงระยะเวลานับแต่ถูกควบคุมตัวจนถึงก่อนนำตัวมายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลทหาร สุริยันต์  ต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย โดยไม่อาจทราบชะตากรรม 
 
โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 16 ต.ค. 58 สื่อหลายสำนักได้เผยแพร่ข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว สุริยัน จากบ้านพัก เนื่องจากกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยในวันเดียวกันนั้นนั้น พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม ออกมาปฎิเสธว่า กองปราบไม่ได้จับกุมนายสุริยัน และไม่มีกำหนดการจะแถลงข่าวตามที่มีข่าวลือแต่อย่างใด ทว่าหลังจากนั้นก็ไม่พบว่า สุริยัน ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลย จนกระทั่งวันที่ 21 ต.ค.นี้ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำตัวนายสุริยันต์และพวก รวม 3 คน มาที่ศาลทหารกรุงเทพ (อ่านรายละเอียด)
 
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่ถูกคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ หรือแจ้งญาติ จนกระทั่งปรากฏตัวอีกทีเมื่อครบ 7 วัน เช่น กรณี ฐนกร ศิริไพบูลย์ ผู้ต้องหาคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่ง ถูกทหารคุมตัว ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก่อนคุมตัวส่งให้กองปราบปราม เพื่อนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหารในเวลาต่อมา เป็นต้น
 

6. ใช้ศาลทหารตัดสิน แม้กองทัพเป็นคู่กรณี

 
ศาลทหารหรือกรมพระธรรมนูญ ที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงกลาโหม มีบทบาทมากในการดำเนินคดีตั้งแต่หลังรัฐประหารที่ผ่านมา โดย เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่าได้รับข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ ระบุว่า ตั้งแต่ 22 พ.ค.57- 30 ก.ย.58 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,629 คน โดยจำนวนพลเรือนขึ้นศาลทหารกรุงเทพมากที่สุดจำนวน 208 คน และศาลทหารที่มีพลเรือนกว่า 100 คน ขึ้นสู่ศาลทหารคือ ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (จังหวัดขอนแก่น)จำนวน 158 คน ศาลมณฑลทหารบกที่ 32 (จังหวัดลำปาง) จำนวน 158 คน และศาลมณฑลทหารบกที่ 42 (จังหวัดสงขลา) จำนวน 115 คน
 
 
ศูทย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารประกาศ คสช.ฉบับที่ 38/2557เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารและ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 50/2557 เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ซึ่งส่งผลให้ความผิดบางประเภทนั้นอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร
 
ซึ่งหลายกรณีเป็นการดำเนินการกับคู่กรณีของคสช. เอง โดยเฉพาะความผิด ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ซึ่งมักใช้กับผู้ชุมนุมหรือเคลื่อนไหวคัดค้าน คสช. เป็นต้น
 

7. ฟ้องคดีความมั่นคง แม้เป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคล

 
จากกรณีที่ รินดา โพสต์เฟซบุ๊ก ปม “ประยุทธ์โกงเงินไปฝากธนาคารสิงคโปร์” ซึ่งถูกดำเนินคดีตั้งข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายมาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท นั้น
 
โดยเมื่อ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลทหารได้มีการนัดสอบคำให้การ โดยศาลทหารได้ให้ความเป็นว่า คดีนี้ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่เป็น การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามให้เกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328
 
ก่อนหน้านี้ รินดา ถูกฝากขัง 3 วันก่อนได้รับการประกันตัว
 

8. เคยบอกว่าจะไม่รัฐประหาร

 
หากย้อยกลับไปก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นั้น จะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองในฐาน ผบ.ทบ. ออกมาพูดโดยตลอดว่าจะไม่ยึดอำนาจหรือรัฐประหาร เช่น
ขอให้สังคมอย่าเรียกร้องให้ทหารออกมา ทหารออกมาจะวุ่นวาย โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 56 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นว่า “สื่อบางสื่อใช้ไม่ได้เพราะเขียนข่าวแบ่งคนเป็นพวกๆ และเมื่อถึงเวลาคนพวกนี้เขาออกมาตีกัน สื่อต้องรับผิดชอบด้วย วันนี้หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นม็อบ ชายแดน ภาคใต้ และปัญหาอื่นๆ ยังแก้ไม่ได้สักเรื่อง เราพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้รวดเร็ว แต่ดูเหมือนสื่อต้องการให้เหตุการณ์แรง ผมไม่เข้าใจ เหตุการณ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่เคยนำมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาเสียชีวิต การที่ท่านจะมุ่งไปสู่เป้าหมายอะไร ต้องหาวิธีการที่ไม่รุนแรง หรือไม่กระทบคนอื่น ยืนยันว่าทหารทำหน้าที่จริงใจทุกปี ทุกเหตุการณ์ ทหารต้องทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ จะเอาทหารออกมา เตาะแตะไม่ได้ อย่าเรียกร้องให้ทหารออกมา ทหารออกมาจะวุ่นวาย อยากขอให้ทุกคนเข้าใจทหาร” (ที่มา : 28 ต.ค.2556, คมชัดลึก, 'บิ๊กตู่'พร้อมสู้คดีปราบแดง-ไม่สน'นิรโทษฯ')
ยืนยันว่าทหารออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะออกก็ออก วันที่ 4 พ.ย. 56 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถ้า และตอบคำถามประเด็นที่ว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อทหารจะออกมาหรือไม่ ว่า ถ้าไม่สั่งก็คงไม่ออก แต่ถ้าสั่งให้ทหารออกก็ต้องดูว่าให้ออกไปทำอะไร ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเมื่อสั่งให้ทหารออก เราก็ออก รัฐบาลชุดที่แล้วสั่งเราก็ออก ถ้ารัฐบาลชุดนี้สั่งแล้วเราไม่ออกจะได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ ตนอยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ทหารออกมาทุกครั้งออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะออกก็ออก ถ้าออกมาโดยที่ไม่ฟังคำสั่ง ตนถามว่าเหตุการณ์จะจบหรือไม่ ซึ่งก็ไม่จบแล้วจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำไม ส่วนจะทำอย่างไรก็ไปคิดกันเอาเอง (ที่มา, 4 พ.ย. 2556, ไทยรัฐออนไลน์, 'ประยุทธ์'ชี้ทหารออกมีบทเรียนวอนให้ถอยคนละก้าว)
ชี้ว่ารัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ จะเกิดอีก โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 56 พล.อ.ประยุทธ์  ออกมายืนยันว่า ไม่ว่าเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ในวันที่ 9 ธ.ค. 56 จะเป็นอย่างไร ทหารก็จะไม่ออกมาปฏิวัติ พร้อมกล่าวด้วยว่า
"ถ้าทหารปฏิวัติ(รัฐประหาร)อีก แก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างไร ทุกคนรักชาติแต่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ" (ที่มา : 8 ธ.ค.2556, สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ), ผบ.ทบ.ยืนยันทหารไม่ปฏิวัติแม้การชุมนุมพรุ่งนี้จะออกมาแบบใด )
ปัดกระแสข่าวรัฐประหาร ยืนยันข่าวลือก็เป็นข่าวที่ไม่จริง 7 ม.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานวันสถาปนากรมแพทย์ทหารบกครบรอบ 114 ปีถึงกระแสข่าวว่า การที่ทหารเคลื่อนย้ายกำลังในช่วงนี้เพื่อทำการปฏิวัติว่า ข่าวลือก็เป็นข่าวที่ไม่จริง ดังนั้น ไม่ต้องเชื่อ เพราะเรามีการเคลื่อนย้ายกำลังพลทุกปี และนโยบายในปี 2557 ของกองทัพบกเป็นการนำพากองทัพไปสู่ความทันสมัยในอนาคต ในปีนี้เป็นวาระพิเศษที่เรากำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เราจะนำยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ที่ได้จัดซื้อจัดหามาให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้เห็นว่า สิ่งที่เราได้จัดซื้อมามีสมรรถนะเพียงใด (ที่มา : 7 ม.ค. 2557, ไทยรัฐออนไลน์, บิ๊กตู่ ย้ำข่าวปฏิวัติแค่ลือ เตือนระวังมือที่สาม)
ชี้ต้องยึดถือกฎเกณฑ์ ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือกฎเกณฑ์ได้ 22 ม.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ว่า วันนี้จัดทหาร 40 กองร้อย จัดตั้งจุดตรวจร่วม 30 กว่าจุด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ จัดจุดตรวจของทหารอีกกว่า 20 จุดมีการปรับแผนการทำงานทุกวัน โดยมีกองทัพภาคที่ 1 เป็นคนรับผิดชอบในภาพการใช้กำลัง ตามแนวทางของ ศอ.รส. ทุกวันได้เสนอแผนจากกองทัพไปยัง ศอ.รส.ตลอด ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมาก ทหารจึงจำเป็นต้องไปเสริมในหลายจุด เราต้องลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ทหารยังต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแล และเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม ทหารเป็นผู้สนับสนุน ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการออกไปดูแลประชาชนทุกฝ่ายให้เกิดความปลอดภัย ไม่ใช่ว่า เรานิ่งนอนใจ ทหารทำทุกอย่าง แต่วันนี้เราต้องยึดถือกฎเกณฑ์ ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือกฎเกณฑ์ได้ เพราะกำลังพลถืออาวุธ ดังนั้นการทำอะไรต่างๆ ต้องระมัดระวัง รวมถึงการวางตัวของทหารทุกคน ซึ่งตนได้กำชับกำลังพลที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่เสมอ ทหารมีบทเรียนมากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ที่มา : 22 ม.ค. 2557, ผู้จัดการออนไลน์, “บิ๊กตู่” พอรู้มือบึ้ม-ขู่อย่าทำ ห่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินรุนแรงลดหรือไม่ แนะพัฒนาใต้ทุกรูปแบบ)
ยืนยันสิ่งที่กองทัพดำเนินการต้องยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ 24 ก.พ. 57 พล.อ.ประยุทธ์  ได้อ่านแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนของกองทัพบกต่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5)  ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่กองทัพดำเนินการในเวลานี้จำเป็นต้องยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยการจัดกำลังออกมาดูแลประชาชนในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎหมายพิเศษเป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง หากเราดำเนินการไม่ถูกวิธี หรือใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบ เราจะแน่ใจได้หรือว่า สถานการณ์จะยุติลงได้โดยสงบ ขณะที่ทุกฝ่ายยังไม่พยายามลดเงื่อนไข ไม่พยายามพิสูจน์หาข้อเท็จจริง และยอมรับกฎกติกา กฎหมายของสังคม สิ่งที่น่ากระกระทำในเวลานี้คือ ให้ทุกฝ่ายได้ทำงานตามความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มสติกำลังอย่างครบถ้วนด้วยความเป็นธรรม อำนวยความยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์โดยไม่ถูกกดดันโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และหาทางลดความขัดแย้งให้ได้โดยเร็ว ประการสำคัญคือ การใช้กำลังทหารคลี่คลายสถานการณ์อย่างเต็มรูปแบบนั้น จะได้รับการยอมรับจากประชาชนที่อยู่นอกเหนือจากความขัดแย้งนี้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับขณะนี้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติยังมีความสำคัญ สำหรับความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางมากกว่าปี 2553 เพราะในปี 53 เกิดจากคู่ขัดแย้งไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันมีหลายกลุ่มและมีเงื่อนไขสลับซับซ้อน (ที่มา : 24 ก.พ.2557, เดลินิวส์ เว็บ, “ประยุทธ์” แถลงจุดยืนกองทัพผ่านช่อง 5 จี้ยุติความรุนแรง)
สวนกรณีมีข้อเสนอให้เป็นนายกคนกลางว่าจะไปเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยกติกาไหน 25 มี.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์  ตอบคำถามถึงกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางด้วยนั้น ว่า ต้องไปถามเขา เขาตั้งตนได้ไหม ถ้าตั้งไม่ได้แล้วจะมาถามตนทำไม แล้วถามจะไปเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยกติกาไหน และกติกาจะเกิดหรือไม่ตนก็ไม่รู้ แต่อย่าถามตนว่า ตนจะทำนั่นทำนี่หรือไม่ ตนไม่ตอบ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตน ไม่ใช่เรื่องของตน (ที่มา : 25 มี.ค. 2557, กรุงเทพธุรกิจ, ผบ.ทบ.อัดกลับข่าวนายกฯคนกลาง)
ชี้การรัฐประหารทำไปก็ไม่จบ ขอให้เข้าใจทหาร เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากข้อความผ่านทางรายการ ลับ ลวง พลาง โดยยืนยันกองทัพตัองหนักแน่น จะทำตามใครเรียกร้องไม่ได้ ต้องใจเย็น ขอให้เชื่อมั่นในทหาร ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและประชาชนได้ในทุกโอกาส ให้เก็บทหารไว้เป็นที่พึ่งสุดท้าย เชื่อว่า การรัฐประหารทำไปก็ไม่จบ ขอให้เข้าใจทหาร เพราะทหารทำหรือไม่ทำก็โดนตำหนิ (ที่มา : 10 พ.ค.2557, สำนักข่าวเจ้าพระยา, “ประยุทธ์” เผยรัฐประหารไปปัญหาก็ไม่จบ)

9. นิรโทษกรรมตัวเองล้วงหน้า

 
หลังรัฐประหารได้ประกาศยักเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยในมาตรา 48 ได้นิรโทษกรรม คสช. ไว้ไม่เพียงการกระทำในวันที่ 22 พ.ค.57 เท่านั้น ยังรวมถึงกระกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถือเป็นการนิรโทษกรรมความผิดล้วงหน้า โดยรัฐธรรมนูญเขียนว่า 
"..ไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง" 
 
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ยังได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดย มีข้อเสนอหนึ่งเกี่ยวกับแนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ โดยระบุว่า
"..การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง"
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีชัย ได้ออกมายืนยันอีกว่า จะมีการบัญญัติการนิรโทษกรรมให้กับ คสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
 

10. มาตรา 44 

 
มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. สามารถระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าขัดต่อหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ 
 
ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กรสิทธิอื่นๆ เพื่อคัดค้านมาตรานี้ โดยชี้ว่า
“มาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน  ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้” แถลงการณ์ระบุ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น