14 ธ.ค.2558 เวลา 16.30 น. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้จัดแถลงข่าว เรียกร้องต่อ คสช. ให้ยุติการจับกุมคุมขังหรือตั้งข้อกล่าวหาประชาชน รวมถึงการเคลื่อนไหวการตรวจสอบทุจริตบนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลทำการจับกุมแม้แต่คนคลิ๊กไลค์ นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้ให้มีการยกเลิกเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เนื่องจากมีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังอย่างผิดวิสัย
อนุสรณ์ อุณโณ ผู้ประสานงานเครือข่ายและผู้อ่านแถลงการณ์ยังได้ประกาศว่า สำหรับการเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป ทางเครือข่ายฯ เตรียมจัดเวทีเปิดพื้นที่ทางวิชาการ โดยจะเชิญนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ผู้เกี่ยวข้องรวมถึงทางโฆษกรัฐบาล มาอธิบายให้เหตุผลต่อกรณีการจับกุมดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่าควรจะมีการตรวจสอบกรณีการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ในประเด็นไหน อนุสรณ์กล่าวว่า คนในรัฐบาลก็ยอมรับว่ามีการหักหัวคิวหรือทุจริตดังเช่นตามที่ รมว. ยุติธรรม. ระบุ จึงอยากให้หยิบประเด็นเหล่านี้มาชี้แจงทำให้กระจ่าง แต่การตรวจสอบการทุจริตควรจะมาจากกลุ่มที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การเดินทางของนักกิจกรรมในการไปตรวจสอบถือเป็นครรลองที่ คสช. ควรสนับสนุนมากกว่าขัดขวาง เพราะการพยายามปิดกั้นไม่อยากให้มาขุดคุ้ยอาจทำให้เห็นว่ามีการทุจริตจริตจริง
ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่เลือกจับกุมคนที่เปราะบาง มีฐานะยากไร้ ไม่มีสถานะทางสังคมนั้น อนุสรณ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เพราะในขณะที่ตัวกลุ่มองค์กรที่เผยแพร่ประกาศรับผิดชอบต่อผังราชภักดิ์ แต่กลับยังไม่มีการติดต่อหรือมีความพยายามในการพูดคุยจากทางฝ่าย คสช.
ต่อกรณีมีข้อสังเกตว่ามีการใช้สถานศึกษาหรือสถานที่สำคัญทางศาสนาเป็นหน่วยงานทางทหาร หรือสถานที่ปรับทัศนคติ อนุสรณ์กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้ประโยชน์จากสถานที่เหล่านี้มาโดยตลอด ไม่ใช่กรณีใหม่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างปัญหาตามมา คือมันจะเป็นการดึงเอาพลเรือนผู้บริสุทธิ์ อาทิ เด็ก นักศึกษา พระ เข้ามาข้องเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ความรุนแรง
แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ฉบับที่ 2
“เรียกร้องให้ยุติการจับกุมคุมขังประชาชนที่ตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์”
ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาได้ปรากฏข้อมูลทางสื่อมวลชนถึงความไม่โปร่งใสในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้ทางกองทัพบกจะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วมีผลสรุปว่าไม่มีการทุจริตใดๆ แต่ก็ไม่อาจลดทอนความเคลือบแคลงในหมู่ประชาชนได้ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้นักศึกษาและประชาชนกลุ่มต่างๆ รณรงค์ให้รัฐบาลและกองทัพบกตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส แต่ความพยายามดังกล่าวกลับถูกขัดขวางข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจุบันการข่มขู่คุกคามได้เพิ่มระดับความรุนแรงถึงขั้นเพียงการส่งข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบทุจริตหรือเพียงการกดปุ่ม “ไลค์” บนหน้าสื่อออนไลน์ กลับถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหาร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีประชาชนสองคน คือ นายฐนกร ศิริไพบูลย์ และนายธเนตร อนันตวงษ์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมและนำตัวไปกักขังในสถานที่ไม่เปิดเผยรวมทั้งไม่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้าพบด้วยความผิดในข้อหาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจึงเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้
หนึ่ง ยุติการขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม หน่วงเหนี่ยวนักศึกษาและประชาชนที่ตั้งข้อสงสัยและต้องการให้มีการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ เพราะการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนเป็นไปตามสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน อีกทั้งรัฐบาลเป็นหน่วยงานสาธารณะที่ประชาชนย่อมวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้ หากการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นใด ไม่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อหักล้างข้อสังสัย มิใช่การปิดกั้นคุกคามการตั้งคำถามและข้อสังสัยของประชาชน ด้วยการจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาที่รุนแรง
สอง ยุติการดำเนินคดี “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ต่อการแบ่งปันข้อมูลการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์และการกดปุ่ม “ไลค์” บนหน้าสื่อออนไลน์ และยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ในศาลทหารเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีบุคคลที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์
สาม ยุติการจับกุมโดยพลการและการควบคุมตัวที่ตัดขาดจากโลกภายนอก รวมทั้งยกเลิก “เรือนจำชั่วคราว” ในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ต้องคดีที่ถูกคุมขัง ณ ที่แห่งนี้ได้เสียชีวิตโดยไม่มีทราบสาเหตุแจ้งชัด ทั้งนี้ ให้นำวิธีปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ อนุญาตให้ผู้ต้องหาเข้าถึงทนายและญาติตลอดจนการรักษาพยาบาลที่จำเป็น รวมทั้งเปิดให้ศาลพลเรือนตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยืนยันว่า “การตรวจสอบทุจริตไม่ใช่อาชญากรรม” และ “ประชาชนที่กระตือรือร้นในการตรวจสอบทุจริตไม่ใช่อาชญากร” ประชาชนไทยมีสิทธิสงสัยและเรียกร้องให้ตรวจสอบโครงการของรัฐ มีสิทธิตั้งคำถามและแบ่งปันข้อมูลความไม่โปร่งใสในโครงการนั้นๆ การข่มขู่คุกคามดำเนินคดีร้ายแรงจะยิ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในโครงการดังกล่าวมากขึ้นไปอีก อีกทั้งมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
14 ธันวาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น