วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คุยกับสาวตรี สุขศรี : กดไลค์ ไม่ผิด กม.ไม่เข้าข่ายผู้สนับสนุน



จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเตือนประชาชนถึงการแชร์ หรือกดไลค์ ภาพหรือข้อความอันเกี่ยวเนื่องกับ “แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์” รวมถึงข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายในเฟซบุ๊ก ว่าจะมีความผิดทางกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามและข้อถกเถียงต่อกรณีของการ “กดไลค์” ว่าถือเป็นความผิดตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนหรือไม่
ประชาไทได้พูดคุยกับ สาวตรี สุขศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงข้อถกเถียงดังกล่าวว่า ในทางหลักกฎหมายอาญา การกดไลค์ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายถือเป็นความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่
สาวตรีอธิบายว่า ความผิดตามหลักกฎหมายอาญา ต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ องค์ประกอบภายนอกที่มีการกระทำครบองค์ประกอบของฐานความผิด และองค์ประกอบภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า คือ จะต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด
ในการส่งหรือเผยแพร่ข้อความไปในสื่อ สาวตรีอธิบายว่า หากบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะทำให้ถ้อยคำเหล่านั้นถูกเผยแพร่ออกไป จึงจะถือว่ามีเจตนาที่จะกระทำความผิด และถือว่ามีความผิด แต่การกดไลค์ในเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่ผู้ที่กดไลค์ไม่มีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความ แต่เป็นกดไลค์เพื่อแสดงความชื่นชมหรือเห็นด้วย และบางครั้งเป็นการกดไลค์ในลักษณะต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งต่างจากการแชร์ ที่มีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความออกไป
“เจตนา มี 2 ส่วน คือ รู้ว่าข้อความนั้น อาจจะเป็นความผิด อันที่สองคือ ประสงค์อยากจะเผยแพร่ออกไป ถ้าเป็นการกดแชร์ แน่นอนว่าเป็นการเผยแพร่ออกไป ซึ่งอาจจะเป็นความผิดได้ในการเผยแพร่ต่อ แต่ถ้าในลักษณะของการกดไลค์ กฎหมายอาญาคงไปไม่ถึงเพราะไม่มีเจตนาจะเผยแพร่ต่อ
“การกดไลค์ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หลายๆ กรณีบุคคลผู้นั้นไม่ได้มีเจตนาในการที่จะเผยแพร่ หรือทำให้ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายกระจายไปสู่คนอื่น ดังนั้น การจะบอกว่ากดไลค์เป็นความผิด คงจะไม่ได้ในทางหลักกฎหมายอาญา” สาวตรีกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงอีกว่า ผู้ที่กดไลค์จะถือเป็นการสนับสนุนการกระทำผิดด้วยหรือไม่ สาวตรีอธิบายว่า ในทางกฎหมายอาญา การจะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขสองประการ คือ 1) การสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อน หรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และ 2) ผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด
สำหรับการกดไลค์ข้อความที่มีการเผยแพร่ไปแล้ว สาวตรีอธิบายว่า ในทางกฎหมายอาญาไม่ถือว่าเป็นผู้สนับสนุน เนื่องจากการกดไลค์ไม่ได้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือแต่ประการใด
“มีตัวอย่างหนึ่งที่พอจะเทียบเคียงกันได้ ในกรณีหมิ่นประมาทผู้อื่น สมมติถ้าบอกว่าคนที่ไปกดไลค์ต้องรับผิดด้วยเพราะสนับสนุน ลองคิดอย่างนี้ว่า ถ้านาย ก ต้องการที่จะหมิ่นประมาทนายเอ นาย ก เลยพูดด่านายเอให้เราฟัง เราเป็นบุคคลที่สามซึ่งเราเห็นด้วย แต่ไม่ได้นำไปเผยแพร่ต่อ ถามว่าในฐานะที่เป็นคนฟังและพยักหน้าเห็นด้วย จะต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทนายเอด้วยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ ไม่อย่างนั้นทุกคนที่ไปฟังเรื่องที่ใครด่าใครแล้วเห็นด้วย ก็ต้องรับผิดกันหมด เพราะฉะนั้นการกดไลค์ ในทางกฎหมายอาญาไม่เป็นความผิด”
สาวตรีอธิบายเพิ่มเติมตอนท้ายว่า ฟังก์ชั่นการแชร์ ไลค์ และคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กทั่วโลกใช้เหมือนๆ กัน และหากตีความโดยที่ไม่มีอคติก็จะเห็นว่า ฟังก์ชั่นทั้งสามมีหน้าที่ของมัน
“ถ้าเราตีความโดยไม่มีอคติ ก็ค่อนข้างชัดว่า ถ้ากดคอมเมนต์ ก็คือต้องการแสดงความคิดเห็นต่อข้อความนั้น กดแชร์ ก็คือต้องการเผยแพร่ต่อ แต่ถ้ากดไลค์ ก็แค่ต้องการแสดงความชื่นชม ดังนั้น พิสูจน์เจตนาจากตรงนี้ก็ได้ เพราะเป็นฟังก์ชั่นปรกติที่ทั่วโลกใช้กัน เป็น traditional ที่เขาใช้กัน เป็นจารีตปรกติ
“ถ้าคุณบอกว่า จะใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการบิดพลิ้วกฎหมาย ไม่มีการบิดพลิ้วการตีความ ก็ต้องดูจารีตที่เขาใช้กันด้วยว่า เขามีความมุ่งหมายอะไรในสิ่งนั้น” สาวตรีกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น