วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ศาลยกฟ้องคดี ปตท. ฟ้องผู้แชร์เฟซบุ๊กน้ำมันไทยแพงกว่าสิงคโปร์-เพราะไม่มีมูลเพียงพอ


กรณี ปตท. ฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อผู้แชร์เฟซบุ๊คช่วง มี.ค. 58 ว่าไทยใช้น้ำมันแพงกว่าสิงคโปร์ สิงคโปร์ลิตรละ 25 บาท ไทย 2 ลิตร 100 ฯลฯ ศาลชี้ว่าตอนที่แชร์เฟซบุ๊ค น้ำมันไทยลิตรละ 36.86 บาท สิงคโปร์ลิตรละ 49 บาท ข้อมูลที่แชร์จึงไม่ตรงกับความจริง แต่จำเลยไม่ได้ทำข้อมูลเอง เป็นการแชร์มาจากผู้อื่น ซึ่งในช่วงปี 56-57 ราคาน้ำมันในไทยเคยแตะลิตรละ 49 บาท ใกล้เคียงกับราคาที่แชร์ในเฟซบุ๊ค คดีจึงยังไม่มีมูลเพียงพอ ศาลจึงให้ยกฟ้อง
16 ธ.ค. 2558 ผู้จัดการออนไลน์เปิดเผยคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 11 พ.ย. 58 เป็นคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อ.1173/2558 หมายเลขแดงที่ อ.3733/2558 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลย ในฐานความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
โดยคดีนี้ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มอบอำนาจให้ สุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมายบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินคดี และสุพจน์ได้มอบอำนาจให้ สัจจะ คงรักษาสุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินคดี
ในคำพิพากษาศาล ปตท.ฟ้องว่า นายกมล ตันธนะศิริวงศ์ ได้ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก Kamol Tantanasiriwong โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ว่า “สิงคโปร์ไม่มีน้ำมัน รายได้ต่อหัววันละ 5,000 บาท ใช้น้ำมันลิตรละ 25 บาท ไทยส่งออกน้ำมันไปสิงคโปร์ รายได้วันละ 300 บาท ใช้น้ำมัน 2 ลิตร 100 ความจริงอันเจ็บปวดของคนไทย ความจัญไรของนักการเมือง + ปตท.”
ทำให้ประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเข้าใจว่า ประเทศไทยมีราคาน้ำมันสูงกว่าประเทศอื่นเพราะการบริหารกิจการของโจทก์ โจทก์ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอม หรือข้อมูลเท็จทั้งสิ้น โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมัน วันที่ 7 มีนาคม 2558 นั้น ประเทศไทยมีราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 36.56 บาท ราคาน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 2 ลิตร จึงมีราคาเป็น 73.12 บาท ไม่ใช่ 100 บาท
ส่วนประเทศสิงคโปร์มีราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 49.03 บาท ไม่ใช่ 25 บาท นอกจากนี้ข้อมูลรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวต่อปีของประเทศสิงคโปร์เท่ากับ 54,040 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 4,816.07 บาท และรายได้ประชากรประเทศไทยต่อหัวต่อปีเท่ากับ 5,340 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 475.91 บาท ไม่ใช่ 5,000 และ 300 บาท ตวามลำดับ ดังนั้นข้อมูลที่จำเลยนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์จึงเป็นข้อมูลปลอมและข้อมูลเท็จทั้งสิ้น
การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากประสงค์ดำเนินคดีด้วยตนเอง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ อ.794/2557 ของศาลนี้
ในคำพิพากษาทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มี กรรมการ อำนาจกรรมการ และวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร มอบอำนาจให้นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดี ซึ่งมอบอำนาจให้นายสัจจะ คงรักษาสุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 จำเลยเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลและผู้ใช้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ "Kamol Tatanasiriwong" ตามรายละเอียดบัญชีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์และประวัติส่วนตัวจำเลยเอกสารหมายเลข จ.4 ถึง จ.8
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 จำเลยนำภาพและข้อความของบุคคลอื่นเผยแพร่หรือแชร์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กในชื่อบัญชีจำเลย ซึ่งระบุว่า "สิงคโปร์ไม่มีน้ำมัน รายได้ต่อหัววันละ 5,000 บาท ใช้นำมันลิตรละ 25 บาท ไทยส่งออกน้ำมันไปสิงคโปร์รายได้ 300 บาท ใช้น้ำมัน 2 ลิตร 100 ความจริงที่แสนเจ็บปวดของคนไทย ความจัญไรของนักการเมือง+ ปตท." ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันประเทศไทย ณ วันที่ 4 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นราคาล่าสุดก่อนวันที่จำเลยนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จข้างต้นปรากฏว่าน้ำมันเบนซิน 95 มีลิตรละ 36.86 บาท ตามราคาขายปลีกน้ำมัน เอกสารหมาย จ.10 ไม่ใช่ราคาลิตรละ 50 บาท หรือ 2 ลิตร 100 บาท ส่วนน้ำมันประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2558 มีราคาลิตรละ 2.06 เหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 49 บาท ตามราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์พร้อมอัตราแลกเปลี่ยนเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ. 14 ทั้งข้อมูล รายได้มวลรวมประชาชาติของประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.9 เป็นข้อมูลเท็จเช่นกัน เนื่องจากรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวต่อวันของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 475.91 บาท ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 4,816.07 บาท ตามข้อมูลรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวต่อปี เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ไม่ใช่ 300 บาท และ 5,000 บาท ตามลำดับ ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสาร จ.9 จึงเป็นเท็จไม่ตรงกับความจริง การกระทำของจำเลยที่เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ที่พบเห็นเอกสารหมาย จ.9 อาจเข้าใจว่าโจทก์และนักการเมืองร่วมกันกำหนดราคาน้ำมันของประเทศซึ่งไม่เป็นความจริง ราคาน้ำมันประเทศไทยกำหนดโดยกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ ไม่เกี่ยวกับโจทก์
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในขั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า ฟ้องโจทก์มีข้อมูลให้ประทับไว้พิจารณาหรือไม่ ทางไต่สวนโจทก์มีนายสัจจะ คงรักษาสุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นมายังหน้าเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลย มีข้อความว่า "สิงคโปร์ไม่มีน้ำมัน รายได้ต่อหัววันละ 5,000 บาท ใช้น้ำมันลิตรละ 25 บาท ไทยส่งออกน้ำมันสิงคโปร์ รายได้ 300 บาท ใช้น้ำมัน 2 ลิตร 100 ความจริงที่แสนเจ็บปวดของคนไทย ความจัญไรของนักการเมือง+ ปตท."ตามข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 ข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2558 น้ำมันเบนซิน 95 มีราคาอยู่ ที่ลิตรละ 36.86 บาท ไม่ใช่ราคาลิตรละ 50 บาท หรือ 2 ลิตร 100 บาท
ส่วนราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2558 น้ำมันเบนซิน 95 มีราคาอยู่ที่ลิตรละ 2.06 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 49 บาท ตามประกาศราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศไทย ราคาเชื้อเพลิงประเทศสิงค์โปร์ และอัตราแลกเปลี่ยนเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 รวมทั้งข้อมูลรายได้ประชากรประเทศไทยและสิงคโปร์ที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.9 เป็นข้อมูลเท็จเช่นกันเนื่องจากรายได้ประชากรต่อหัวต่อวันของประเทศไทยอยู่ที่ 475.91 บาท ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวต่อวันของสิงคโปร์อยู่ที่ 4,816.07 บาท
ตามข้อมูลดังกล่าวเข้าใจได้ว่าประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีรายได้ของประชากรสูงกว่าประเทศไทย ใช้น้ำมันราคาต่ำกว่าประเทศไทย ประเทศไทยซึ่งมีรายได้ของประชากรต่ำกว่าแต่กลับต้องมาใช้น้ำมันราคาสูงกว่า เนื่องจากโจทก์และนักการเมืองร่วมกันกำหนดราคาน้ำมัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดดังที่ระบุไว้ต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ดังกล่าว จึงต้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ โดยรู้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ
ในคำพิพากษาระบุว่า “เมื่อพิจารณาข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสาร จ.9 โดยละเอียดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 ด้วยตนเอง จำเลยเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลเอกสารหมาย จ.9 จากบุคคลอื่น ได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความตอบศาลถามว่า โจทก์ไม่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของนายอนุตร โรจนานนท์ ซึ่งจำเลยนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 มาเผยแพร่ต่อ และไม่ได้ดำเนินคดีกับนายอนุตรแต่อย่างใด รวมทั้งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 จะมีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์มานานเพียงใดและมีที่มาอ้างอิงจากแหล่งใด เมื่อพิจารณาราคาขายปลีกน้ำมันของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ปรากฏว่าในช่วงปี 2556 และ 2557 โจทก์ประกาศราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 หรือแก๊สโซลีน 95 สูงสุด อยู่ที่ลิตรละ 49.15 บาท ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาน้ำมันที่ปรากฏในข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 รวมทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลรายได้มวลรวมประชาติต่อหัวต่อปี เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์ เอกสารหมาย จ.15 พบว่าข้อมูลรายได้มวลรวมประชาขาติดังกล่าวเป็นข้อมูลปี 2556 ไม่ใช่ขณะจำเลยเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ อีกทั้งเป็นเพียงข้อมูลเฉลี่ยซึ่งคำนวณโดยหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารโลกกำหนด โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าข้อมูลข้อมูลรายได้มวลรวมประชาติต่อหัวต่อปี เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์เอกสารหมายเลข จ.15 ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องสมบูรณ์เพียงแหล่งเดียว อันจะทำให้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากเอกสารหมายเลข จ.15 ต้องเป็นข้อมูลเท็จไปทั้งสิ้น เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนยังไม่พอฟังว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 เป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ กรณีนี้จึงยังไม่พอให้ฟังว่าจำเลยมีเจตนานำเข้าสู้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์ คดีโจทก์ยังไม่มีมูลเพียงพอให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
พิพากษายกฟ้อง.”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น