วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มีชัยเล็งปรับ ม.5 รธน.ชั่วคราว ใส่แทน ม.7 ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ


มีชัยเตรียมลบ มาตรา 7 ออกจากหมวดศาลรัฐธรรมนูญ เล็งปรับมาตรา 5 ใน รธน.ชั่วคราวใส่แทน ปัดตกข้อเสนอ สนช. ให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาชี้ขาดหากประเทศเกิดวิกฤติ เกรงรัฐสภาเป็นต้นต่อในวิกฤติเอง
18 ก.พ. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังทำหน้าที่ประธานการประชุม กรธ.ที่มีวาระพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ขณะนี้ กรธ.อยู่ระหว่างการประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ส่งมาจากสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) องค์กรอิสระ และประชาชน ก่อนที่จะพิจารณาว่าปรับปรุงเนื้อหาในส่วนใดได้บ้าง ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการห่วงใยว่าการนำบทบัญญัติ (นำมาตรา 7 เดิมไปอยู่หมวดศาลรัฐธรรมนูญ) เกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามประเพณีการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 207 ไม่มีความเหมาะสมนั้น ทาง กรธ.กำลังจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
“สำหรับแนวทางการแก้ไขเนื้อหาดังกล่าวเบื้องต้น กรธ.จะนำมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณา ทั้งนี้ เจตนารมณ์เดิมของ กรธ.ที่ไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ คือ ต้องการให้มีองค์กรเข้ามาทำหน้าที่ชี้ขาด ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่การย้ายกลับมาไว้ที่เดิมจะเป็นการบอกว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาหน่วยงานไหนจะ มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา” มีชัยกล่าว
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำข้อเสนอของ สนช.ที่ให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาลงมติว่ากรณีใดเป็นวิกฤตที่ต้องให้ประธานศาลรัฐ ธรรมนูญเรียกผู้นำเหล่าทัพมาหารือเพื่อแก้ไขปัญหามาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สุดท้าย มีชัยกล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะหากต้นตอของวิกฤตดังกล่าวเกิดมาจากที่รัฐสภาเองจะทำอย่างไร
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวที่ระบุว่า กรธ.กำลังพิจารณาว่าจะให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด มีชัยกล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณา เพราะตอนนี้กำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนแรกอยู่ ยังไม่ถึงมาตราที่เกี่ยวกับวุฒิสภาเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ระบุว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้”
“ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้น ในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หรือเมื่อมีกรณีที่เกิดขึ้นนอกวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุด จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ แต่สําหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทําได้เฉพาะ เมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูง สุด และเฉพาะในส่วน ที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี”
เว็บข่าวรัฐสภา รายงานด้วยว่า ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังยืนยันด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องขอขยายกรอบเวลาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่า จะเสร็จทันกรอบเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น