รองโฆษก คสช. เผย คสช. งดส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่รวมความเห็นไว้ในข้อเสนอของรัฐบาลแล้ว ไม่หวั่นการโจมตีว่าชี้นำ แต่กลัวคนหยิบมาเป็นประเด็นปลุกกระแสต้าน พร้อมตั้งเป้าหมายคนมาลงประชามติ 80 เปอร์เซ็นต์
17 ก.พ. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งดส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญไปให้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) เนื่องจากกลัวถูกโจมตีว่าเป็นการชี้นำ และป้องกันไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. อาจนำไปเป็นประเด็นปลุกกระแสให้ประชาชนไม่ออกมาลงประชามติ ซึ่งเป้าหมายของ คสช. ต้องการให้ประชาชนตื่นตัวและออกมาลงคะแนนกันเป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียง
ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่ กรรมการร่าง รธน. ยังไม่ได้รับความเห็นจาก คสช.ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. เป็นประธาน ได้หารือถึงร่างรธน.ประเด็นต่างๆ ร่วมกันแล้ว ถือเป็นการบูรณาการความเห็นร่วมกันระหว่าง รัฐบาล คสช. โดยรัฐบาลได้ส่งข้อเสนอไปให้ กรธ.แล้ว จึงไม่เกี่ยวกับการที่มีการตั้งประเด็นว่า คสช.ไม่ส่งข้อเสนอเพราะเกรงจะถูกโจมตีว่าเป็นการชี้นำ
6 ข้อเสนอ ครม. ขอ กรธ. คลี่ปัญหาก่อนวันรัฐประหาร วิกฤติเกิดจากอะไร+หากลไกแก้
ไทยพับลิก้า รายงาน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นของ ครม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญ 6 ประเด็น
1.ครม. ได้หลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ข้อเสนอส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
2.ครม. ได้สรุปความเห็นของส่วนราชการต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีข้อเสนอหลากหลาย เช่น เรื่องการจัดทำงบประมาณ เรื่องการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมไปถึงเรื่องหน้าที่ปวงชนชาวไทยที่ขอให้ กรธ. ปรับแก้ให้ประชาชนเข้ามาช่วยรัฐในหลายๆ เรื่อง ทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น
3.ครม. ได้เสนอให้ กรธ. นำเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ใส่กลับไปในร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิชุมชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
4.ครม. ได้เสนอวิธีในการร่นระยะเวลาการเลือกตั้ง โดยให้จัดทำกฎหมายลูกเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องถึง 10 ฉบับ โดยกฎหมายลูกอื่นให้ทำระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้งได้
6.ครม. เสนอให้เพิ่มหมวดเกี่ยวกับการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีระยะเวลาฉบับละ 5 ปี รวม 4 ฉบับ
7.ครม. ได้แสดงความกังวลไปยัง กรธ. อยากให้นำปัญหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ คสช. ยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน มาคลี่ให้เห็นว่าวิกฤติเกิดจากอะไร แล้วจะมีกลไกในแก้ไขปัญหานี้อย่างไรหากเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการพูดถึงเรื่ององค์กรพิเศษ หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แต่อย่างใด
คสช. เคยส่ง 10 ข้อเสนอถึงมีชัย ขอเปิดช่องผ่าทางตัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ้มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. ตามที่คณะกรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
2. คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้
2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้
2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ
2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร
2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของ สถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ
2.5 การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมือง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง
2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอก ราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ เผด็จการทางการเมือง
2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น