วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อุทธรณ์ยกฟ้องคดีพลเมืองโต้กลับฟ้อง 'ประยุทธ์และพวก' ล้มการปกครอง ชี้มีรธน.นิรโทษฯไว้แล้ว


ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีพลเมืองโต้กลับฟ้อง 'ประยุทธ์และพวก' ข้อหากบฏ ล้มการปกครอง ชี้มี รธน.ชั่วคราว ปี57 นิรโทษกรรม ไว้ให้แล้ว ด้านทนายอานนท์ จ่อหาช่องฎีกาต่อ
18 ก.พ. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ภายใต้ชื่อกิจกรรม 'พลเมืองฟ้องกลับ' ได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คดีที่กลุ่มได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก ซึ่งเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รวม 5 คน ในข้อหากบฏ เป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุด (18 ก.พ.59) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า แม้ฝ่ายโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ว่า คสช.ออกกฎหมายมาตรา 47 และ 48 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดกับหลักประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และความปรารถนาของประชาชน ดังนั้น คสช.จึงไม่สามารถอ้างกฎหมายสองมาตรานี้ยกเว้นความผิดแก่ตัวเองได้นั้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557  นั้นประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำ ทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุนี้ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า การกระทำใด ๆ ของ คสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนข้ออุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ที่ว่า การออกฎหมายในมาตราดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องแยกส่วนกันในการพิจารณา ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องของฝ่ายโจทก์
ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีนี้กล่าวหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องคดีทั้งสองศาล ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 แต่ตามมาตรา 221 ก็เปิดช่องให้สามารถยื่นฎีกาได้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาคดีนี้ทำความเห็นแย้งว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป
“แม้ทั้งสองศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ยังมีข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ฎีกาได้ โดยเราจะให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าในสังคม ข้อขัดแย้งควรจะขึ้นสู่ศาลสูงสุด ทั้งนี้ยังไม่เคยมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร รวมถึงการกระทำใดของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกามาก่อน” ทนายความฝ่ายโจทก์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น