9 มี.ค.2559 เวลา 13.00 น.ที่ห้องสัมมนา ชั้น 11 สำนักงานศาลปกครอง ได้จัดอภิปรายทางวิชาการ หัวข้อ บทบาทขององค์ตุลาการและองค์กรอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมีปาฐกถาเรื่อง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการเมืองสมัยใหม่
นายนรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาว่า หัวใจเรื่องการตรวจสอบรัฐสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย เวลาพูดถึงระบอบประชาธิปไตยเรามักจะคิดถึงเรื่องการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นแรก แต่เรื่องการตรวจสอบเป็นเรื่องที่สำคัญ แนวคิดของมาร์กซิสต์ ในสังคมผู้คนแบ่งออกเป็นสองชนชั้น คือชนชั้นปกครอง และชนชั้นผู้ปกครอง ชนชั้นปกครองไม่จำเป็นจะต้องอยู่ถาวรมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ชนชั้นถูกปกครองอาจอยู่ถาวรได้ สมัยก่อนผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ เราเรียกว่าการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ให้อำนาจผู้ปกครองอย่างเด็ดขาด การใช้อำนาจอยู่ในหลักนิติธรรมและเหตุผล การเลือกตั้งจึงเป็นการตัดสินครั้งแรกให้เลือกใครขึ้นมาปกครอง แต่การปกครองอย่างไรตรงนั้นคือหัวใจสำคัญ จึงต้องมีการคานอำนาจด้วยการตรวจสอบได้ เพื่อผู้ปกครองที่ชนะเลือกตั้ง มีหน้าที่ใช้อำนาจในการปกครอง แต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประชาธิปไตยทางตรงยังทำงานได้ดีในโลกสมัยใหม่ในบางสังคมเท่านั้น อยู่ในชุมชนเล็กๆ สมาคม นิติบุคคลบ้านจัดสรร นิติบุคคลอาคารชุด อาชีพ เช่น นิติบุคคลอาคารชุดมีกฎใต้องประชุมลูกบ้านทั้งหมดปีละ 1 ครั้ง ส่วนประชาธิปไตยตัวแทนคือการที่ประชาชนเลือกตัวแทนไปทำงานแทนเรา ปัญหาคือเราเลือกตัวแทนด้วยฐานคิดอะไร วิธีการเลือกตัวแทนมีฐานความคิดอยู่หลายแบบ ความคิดแรกตัวแทนกับคนเลือกต้องมีลักษณะเหมือนกัน คนที่เป็นตัวแทนตุลาการได้คือตุลาการเท่านั้น ให้พ่อค้าเป็นตัวแทนตุลาการแปลกมาก แต่ปัญหาชาวนาไทยไม่ชอบเลือกชาวนาไทยเป็นตัวแทน ชาวนาชอบเลือกพ่อค้าเป็นตัวแทน บางสังคมใช้ฐานคิดเลือกตัวแทนที่มีความเหนือกว่า จากความคิดนี้ทำให้ผู้แทนพูดเต็มปากว่าเขาทำหน้าที่แทนประชาชน การเลือกตัวแทนของผู้แทนผู้ที่รับได้รับเลือกจึงถือเป็นอภิสิทธิชน ความคิดในการเลือกตั้งมันสะท้อนวิธีคิดในการเลือกตัวแทน ปัญหาที่วุ่นวายที่สุดคือพวกพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองแปรเปลี่ยนไปการเมืองก็มีช่วงที่มีเวลาให้เกิดวิกฤติ ระบบตัวแทนจึงเป็นระบบที่เปราะบางมากในตัวเอง ความเปราะบางมันเกิดมาจากวิธีคิดในการเลือกตัวแทน เพราะปรัชญาทางการเมืองไม่มีใครแทนใครได้ การที่เราเลือกผู้แทนเป็นเพียงการเลือกผู้ดีเข้าไปทำหน้าที่แทนเรา เพราะเขามีความพิเศษที่มากกว่าคนธรรมดา เช่น บารมี เงิน มีความสามารถบางอย่าง วิกฤติความเปราะบางอยู่ที่ตัวแทนนั้นเอง นอกจากนี้มีเรื่องอุดมการณ์การเมือง อุดมการณ์สุดโต่งที่เกิดขึ้นเป็นระยะ การจัดองค์กรพรรคการเมืองจึงมีความเปราะบางมากในระบบตัวแทน ความเปราะบางจุดนี้จึงทำให้ระบบการเลือกตั้งของเราไม่มีความชอบธรรม พูดง่ายๆ ระบบประชาธิปไตยตัวแทนมีความเปราะบาง ภาวะประชาธิปไตยแบบตัวแทนจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบ ทิศทางการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมีทั้งศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และยังมีสื่อมวลชน สมาคมวิชาชีพ องค์กรภาคประชาชน ขณะที่ศาลเป็นแค่ส่วนเดียว ควรทำพอเหมาะพอควรไม่มากไป น้อยไป
นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า องค์กรอิสระหลักการคือช่วยเรื่องการตรวจสอบฝ่ายบ้านเมือง ที่มีแต่ฝ่ายการเมืองร่วมกับนักการเมือง จึงจำเป็นต้องมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบช่วยชาวบ้าน ต้องมีความเป็นอิสระ ออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่น กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นหลักในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นองค์กรอิสระในการตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบรายรับรายจ่าย ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำข้าว สตง.เคยทำหนังสือไม่น้อยกว่า 4 ฉบับ ให้รัฐบาลไม่ควรทำโครงการต่อไป อ้างเหตุ 1.ทำลายระบบส่งออก 2.ชาวนาไม่ได้พัฒนา 3.ทุจริตรับจำนำ 4.การระบายข้าวล่าช้า อีกคดีในอดีต เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ปี 2538 รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มีแผนแก้ไขมลพิษด้วยการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย 2 ฝ่าย คือตะวันออก ที่พระสมุทรเจดีย์ และตะวันตกที่บางปู แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลงูเห่า ก็มีการย้ายที่ทำโครงการฝั่งตะวันตกจากบางปู ไปที่คลองด่าน อ.บางบ่อ เพิ่มงบประมาณจากเดิม 12,314 ล้านบาทเศษ เป็น 22,995 ล้านบาท มีการกว้านซื้อที่ดินที่ของชาวบ้านคลองด่าน ไร่ละหนึ่งแสนบาท แล้วบีบให้กรมที่ดินออกโฉนด กลุ่มรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ร่วมเกี่ยวข้องกับบริษัทประมูลก่อสร้าง ดังนั้น ในความจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากศาลปกครองที่มีอำนาจชี้ขาดการออกคำสั่งที่ไม่ชอบ หรือขัดกฎหมาย
นายฤทัย หงส์สิริ อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ กล่าวว่า ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง มีขอบเขตอำนาจการตรวจสอบฝ่ายปกครองในการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตุลาการ แต่ศาลปกครองไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจบริหารตรวจสอบฝ่ายปกครอง ศาลสามารถตรวจสอบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คดีปกครอง หรือเอกชนที่มาใช้อำนาจในทางปกครอง เช่น สภาทนายความ อธิบดี คณะรัฐมนตรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น