9 มี.ค. 2559 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งมี พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นเลขาธิการ เผยแพร่ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยชี้ว่ามี 4 ประเด็นที่จะกระทบกับการศึกษาไทย ได้แก่ 1. ลดสวัสดิการการศึกษา 2. กระทบต่อการกระจายอำนาจทางการศึกษา 3. รัฐสามารถกำหนดค่านิยมทางการศึกษา 4. กระจายงบประมาณ "ตามควรแก่กรณี" พร้อมระบุว่า จะทยอยเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป เร็วๆ นี้
รายละเอียดมีดังนี้
ใครว่ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่เกี่ยวกับเด็กและการศึกษา วันนี้เราจะว่าด้วย 4 ข้อที่ "ร่างมีชัย" จะกระทบกับการศึกษาไทยโดยตรง
1. ลดสวัสดิการการศึกษา เดิมใน รธน. ฉบับปี 40 และ 50 กำหนดให้พวกเรามีสิทธิได้รับการศึกษาฟรีขั้นต่ำ 12 ปี แต่ในมาตรา 50 วรรค 1 กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาที่มีคุณภาพฟรีแค่ "ภาคบังคับ" ซึ่งก็คือ 9 ปีเท่านั้น ต่อไปนี้ใครจะเรียน ม.ปลายหรือสายอาชีพก็ควักกระเป๋าจ่ายกันเองถ้วนหน้า
2. รัฐแทรกแซงการศึกษาทางเลือก มาตรา 50 วรรค 3 กำหนดให้รัฐ "ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุน" ให้การศึกษาของท้องถิ่นและเอกชนซึ่งปกติจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองต้องสอดคล้องตามแนวทางของรัฐที่จะกำหนดใน "แผนการศึกษาแห่งชาติ" (แนวทางการศึกษาตามใจรัฐ) ถ้ารัฐมาบังคับการศึกษาให้เป็นไปตามแบบของรัฐทั้งหมด ก็ต้องถามว่าเราไว้ใจรัฐให้ผูกขาดการศึกษาหรือไม่ ?
3. ร่างรัฐธรรมนูญนี้ล้างสมองพวกเรา มาตรา 50 วรรค 4 กำหนดให้การศึกษาทั้งปวง "สร้างคนดี มีวินัย มีความภาคภูมิใจในชาติ" ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วคุณลักษณะของคนควรให้เด็กกำหนดเองหรือเปล่า ? แล้ว "คนดี" "ภาคภูมิใจในชาติ" ถ้าเราตีความต่างจาก กรธ. และ คสช. เราจะกลายเป็นความล้มเหลวของการศึกษาไทยไหม
4. ให้อำนาจรัฐบีบคั้นท้องถิ่น ในบทบัญญัติว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดุลยพินิจส่วนกลางจัดสรรงบประมาณ "ตามสมควร" ถ้าตามสมควรของรัฐบาลคือตัดงบจนเหลือน้อยนิด ท้องถิ่นจะเอาเงินที่ไหนไปจัดการศึกษาท้องถิ่น
จริงๆ ร่างนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ติดตามได้จากเพจกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เร็วๆ นี้ และสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ เร็วๆ นี้
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น