วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

จับตา สนช. พิจารณาเร่งด่วน พ.ร.บ.แร่ฯ หวั่นเขียนเอื้อนายทุนเหมืองทอง


สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมชวนจับตา การบรรจุร่าง พ.ร.บ.แร่ เป็นเรื่องเร่งด่วน ในการประชุม สนช. นักวิชาการ และภาคประชาสังคมตั้งคำถาม ร่างกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่
ภาพขุมเหมือง เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 (แฟ้มภาพประชาไท)
ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอได้รับการบรรจุลงในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 10 มี.ค.2559 โดยถูกยกให้เป็น 'เรื่องด่วน' สำหรับพิจารณา
ร่างกฎหมายฉบับนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยมีทั้งสิ้น 188 มาตรา ที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า สาระสำคัญอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
หากพิจารณาบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … จะพบว่ามีหลายประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
มาตรา 11 เขียนเอาไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนิน การสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้
ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะประกาศกำหนดให้ยื่นคำขอในเขตพื้นที่นั้นได้เป็นกรณีพิเศษ
ประกาศตามวรรคหนึ่งให้มีผลใช้บังคับไม่เกินห้าปี โดยให้สามารถขยายระยะเวลาการใช้บังคับได้อีกสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปี
ในกรณีที่หมดความจำเป็นในการใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกประกาศตามวรรคหนึ่งก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับได้โดยประกาศในราช กิจจานุเบกษา
อธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายก็คือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีอำนาจในการประกาศเปิดพื้นที่ใดก็ได้เพื่อสำรวจแร่ และยังให้อำนาจ รมว.ทส.พิจารณาคำขออาชญาบัตรได้เป็นรายกรณี โดยกำหนดอายุการใช้ประโยชน์พื้นที่สูงสุดคือ 9 ปี
มากไปกว่านั้น ความใน มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มี อำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้ ต้องเป็นพื้นที่ดังต่อไปนี้
(1) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง (2) มิใช่พื้นที่ที่มีกฎหมายเฉพาะห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ
นั่นหมายความว่า รมว.ทส. ต้องคำนึงถึงเสมอว่าหากพื้นที่ใดในประเทศไทยมีศักยภาพแร่สูง สามารถประกาศให้เป็นเขตแร่ (Mining Zone) ได้ทันที โดยพื้นที่เหล่านั้นอาจรวมถึงพื้นที่ป่า ป่าต้นน้ำ ภูเขา ชายทะเล หรือพื้นที่ที่มีคุณค่าในการอนุรักษ์
ใน มาตรา 13 กำหนดว่า รมว.อุตสาหกรรม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ มีอำนาจนำพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง มาประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองแร่นั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจเข้าข่ายเป็นการ “คุ้มครอง” ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ อาทิ มาตรา 29 ที่ระบุว่า ในเขตอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ เขตอาชญาบัตรพิเศษ หรือเขตเหมืองแร่ ห้าม มิให้ผู้ใดนอกจากผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษ ผู้ถือประทานบัตร หรือผู้รับใบอนุญาต เข้าไปยึดถือหรือครอบครองพื้นที่ในเขตนั้น เว้นแต่ผู้นั้นมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย
หรือใน มาตรา 49 ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเข้าข่ายเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยกฎหมายมาตราดังกล่าว บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่และการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการแร่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อแบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
(1) การทำเหมืองประเภทที่ 1 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่จังหวัดที่มีการทำเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร
(2) การทำเหมืองประเภทที่ 2 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นผู้ออกประทานบัตร
(3) การทำเหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ การทำเหมืองที่ไม่ใช่การทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือ 2 การทำเหมืองในทะเล การทำเหมืองใต้ดิน ให้อธิบดีโดยความเป็นชอบของคณะกรรมการเป็นผู้ออกประทานบัตร
สำหรับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในกรณีที่สร้างความเสียหาย ถูกเขียนไว้ใน มาตราที่ 133 ว่า ผู้ ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดจากการประกอบกิจการของ ตนต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคาญอันเกิดขึ้นแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม
ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาต ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการกระทำของผู้ได้รับอนุญาตรายนั้น
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดบทลงโทษอื่นๆ ไว้อีกในหมวดที่ 15 ตั้งแต่มาตราที่ 147-183
อาภา หวังเกียรติ อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยให้ข้อมูลว่าไว้ ตลอดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยพบว่ามีการละเมิดสิทธิชุมชนอย่าง ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการจัดการทรัพยากร สิทธิในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น จ.เลย ชาวบ้านถูกคุกคามทั้งการแย่งชิงทรัพยากรและการถูกทำร้ายร่างกาย
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้ เสนอว่า ประเทศไทยควรยกเลิกการเปิดเหมืองทองใหม่ เพราะจนถึงขณะนี้ชัดเจนว่าไม่สามารถควบคุมการกระจายของสารพิษได้ ส่วนเหมืองเก่าที่ดำเนินการอยู่นั้น รัฐบาลต้องทบทวนการใช้ไซยาไนด์ในขั้นตอนการสกัดแร่ เพราะหากเกิดรั่วไหลจะทำลายสิ่งแวดล้อมถึงขั้นหายนะ
อนึ่งเมื่อปี 2552 กรมทรัพยากรธรณี ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีทองคำสำรองใต้ดินใน 31 จังหวัด รวมแล้ว 700 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 8.75 แสนล้านบาท
แต่นั่นเป็นเพียงการคาดการณ์จึงไม่มีหลักประกันใดยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นความจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น