ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ 'ยุติการควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ และนายวัฒนา เมืองสุข' ระบุเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจ ละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
26 มี.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ 'ยุติการควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ และนายวัฒนา เมืองสุข' โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์ยุติการควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ และนายวัฒนา เมืองสุข
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่บ้านพัก โดยในการควบคุมตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้แจ้งให้กับทางญาติทราบว่าจะควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ ไว้ ณ สถานที่ใด ทั้งนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงสาเหตุในการควบคุมตัวว่า มาจากการที่นายวรชัย เหมะ ได้แสดงความคิดเห็นว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในปัจจุบันไม่ผ่านประชามติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่ง และการควบคุมตัวนายวรชัยในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้นายวรชัยยุติการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ต่อมาวันนี้ (27 มีนาคม 2559) นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ หลังจากแสดงความคิดดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารได้เดินทางมาที่บ้านของนายวัฒนา เพื่อทำการควบคุมตัวนายวัฒนา โดยอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 แต่ปรากฎว่าไม่พบตัว ภายหลังนายวัฒนา ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารให้มาเข้าพบที่มณฑลทหารบกที่ 11 ในวันที่ 28 มีนาคม 2559 และจะดำเนินการควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุขต่อไป
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า “ถึงแม้ว่าคำสั่งหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบแห่งชาติใช้ดุลพินิจดำเนินการควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าวได้ไม่เกิน 7 วัน แต่เหตุในการควบคุมตัวนายวรชัย เหมะและนายวัฒนา เมืองสุช มาจากการที่ทั้งสองได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศได้คุ้มครองไว้ และไม่ถือเป็นความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับใด อีกทั้งเจ้าพนักงานยังกระทำโดยไม่มีหมายจับ ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวอย่างแน่ชัด ญาติและทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ทำให้บุคคลทั้งสองขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพในระหว่างควบคุมตัว 7 วัน การควบคุมตัวดังกล่าวจึงถือเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจ อันเป็นการละเมิดต่อข้อ 9. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว”
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติพึงเคารพต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 และขอให้ปล่อยตัวนายวรชัย เหมะโดยเร็วที่สุด
ด้วยความเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น