นักกฎหมาย นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ จี้คสช. ยกเลิกคำสั่งไฟเขียวทหารปราบมาเฟีย-ผู้มีอิทธิพล ระบุเป็นคำสั่งที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวาง พร้อมยกกรณีชาวประมงระยองและแกนนำค้านโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากที่ถูกเรียกเข้าค่ายเป็นตัวอย่าง
1 เม.ย. 2559 นักกฎหมาย นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 22 องค์กรร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 โดยระบุว่า ตามที่คสช. ได้มีคำสั่งที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นเป็นคำสั่งที่รุนแรงนำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและ ชุมชน ร้ายแรงยิ่งกว่าคำสั่งที่ผ่านมา
ผู้ลงนามในแถลงการณ์ข้างท้ายนี้ ซึ่งเป็นนักกฎหมายและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชน ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้ว่า แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาและทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ทั้งการคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาล เป็นการบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุดชาวบ้านเหล่านี้อาจถูกมองว่า มีกระทำการอันอยู่ในข่ายของคำสั่งนี้ คือ เป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวไปโดยปราศจากหมายศาล และควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาถึง 7 วัน
ผู้ลงนามในแถงการณ์ข้างท้ายนี้ พบว่า ในวันเดียวกันกับที่มีคำสั่งออกมา ก็เกิดเหตุการณ์ที่ นายละม่อม บุญยงค์ ซึ่งเป็นชาวประมง ในจังหวัดระยอง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปฐานเป็นผู้มีอิทธิพล สาเหตุเนื่องจากนายอำเภอได้รับข่าวจะมีการนำชาวบ้านในพื้นที่ไปปิดล้อมที่ ว่าการอำเภอ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในวันต่อมาก็มีข่าวว่า นายทวีศักดิ์ อินกว่าง แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะเชียงราก ถูกทหารเรียกตัวให้ไปพบ โดยอ้างว่า นายทวีศักดิ์ อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ คำสั่งที่ 13/2559 ระบุถึงบัญชีความผิดท้ายคำสั่ง โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งหากมีประชาชนเดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อร้องเรียน หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการของรัฐ อาจถูกตีความว่า เป็นการชุมนุมที่ขัดต่อความสงบสุขอาจถูกใช้คำสั่งนี้มาดำเนินการควบคุมตัว ได้ หรือบัญชีความผิดท้ายคำสั่ง ในความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียง หากประชาชนร้องเรียนว่าโครงการใดๆก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ก็อาจจะถูกนำเอาคำสั่งนี้มาบังคับใช้ได้เช่นเดียวกัน
คำสั่งเหล่านี้ อาจทำให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์โครงการพัฒนาของรัฐ หรือแม้แต่โครงการที่ดำเนินการโดยเอกชนได้อีกต่อไป และอาจจะถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่ต้องการปราบปรามผู้มี อิทธิพล อันจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตแห่งตน และการแสดงออกการแสดงความคิดเห็น อีกทั้ง การใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่อาจตรวจสอบ ได้ จะก่อให้เกิดการควบคุมตัว การตรวจค้น และการดำเนินการลงโทษใดๆ ตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในชีวิตร่างกายและเสรีภาพอย่างยิ่ง
รัฐบาลและคสช.ต้องแยกให้ออก ระหว่าง ผู้มีอิทธิพล/มาเฟียที่ใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์กดขี่ข่มเหงประชาชน กับ ประชาชนที่ใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะในการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนเหล่านี้ ในทางสากลได้มีการยอมรับว่า เป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล/มาเฟียแต่อย่างใด รัฐบาลและคสช.ไม่อาจอ้างความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเรียกร้องบุคคลเหล่านี้ให้เสียสละ เพราะเป็นที่รับรู้กันในทางสากลว่า นี่คือการละเมิดสิทธิประชาชน การกล่าวว่า "ไม่ได้ละเมิดสิทธิ" แสดงถึงความไม่รู้ และไม่ยอมรับตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเห็นว่า รัฐบาลและคสช.กำลังใช้หลัก “อำนาจเป็นธรรมมากกว่าธรรมเป็นอำนาจ” ที่รังแต่จะขยายความขัดแย้งในสังคมไทยให้มากขึ้น
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า คำสั่งนี้จะไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อสังคม กลับจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นอันจะเป็นผลร้ายอย่างยิ่งสังคมไทย จึงเสนอให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 13/2559 ในทันที เช่นเดียวกับคำสั่งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงออกเพื่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแห่งตน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อย่างสันติได้อีกต่อไป
โดยผู้ลงนามในแถลงการณ์ข้างท้ายมีทั้งเป็นองค์กรและบุคคลประกอบด้วย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Centre Foundation (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล มูลนิธิบูรณะนิเวศ ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice) โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง สถาบันอ้อผะหญา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กลุ่มดินสอสี ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิยา จ.ตรัง เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง-ล้านนา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ
รวมทั้ง สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ทนายความ ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ประยงค์ ดอกลำไย คำปิ่น อักษร และศุภวรรณ ชนะสงคราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น