ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จี้คสช. ยกเลิกคำสั่งไฟเขียวทหารปราบผู้มีอิทธิพล ชี้ขัดหลักนิติรัฐ-คำมั่นสัญญากับประชาคมโลก เปิดช่องทหารนำคนขังในค่าย หวั่นผู้ถูกคุมตัวถูกปฏิเสธสิทธิต่างๆ กังวลนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย แถมศาลตรวจสอบความชอบด้วย ก.ม.ในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ยากขึ้น
1 เม.ย.2559 จากกรณีที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจในการจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด กระทำการใด ๆ ตามคำสั่ง คสช. หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขให้กับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวไว้ รวมถึงกำหนดอำนาจหน้าที่อื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ทหาร นั้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ชี้คำสั่งไม่ชัดเจน ไม่บังคับส่วมเครื่องแบบ-แสดงตน เปิดช่องทหารนำคนขังในค่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ความเห็นต่อคำสั่งดังกล่าว โดยได้ตั้งข้อสังเกตข้อกังวล 5 ข้อ ข้อ 1 คำสั่งไม่มีความชัดเจนในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม โดยไม่บังคับให้สวมเครื่องแบบ และแสดงตนว่ามีอำนาจก่อนจะปฏิบัติการตามคำสั่งฉบับนี้ และยังคงเปิดช่องให้ทหารนำตัวบุคคลไปคุมขังไว้ใน “ค่ายทหาร” คล้ายกับการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งสาธารณชนเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ ทำให้บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวอาจจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย
ให้อำนาจทหารคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน หวั่นถูกปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับสิทธิต่างๆ
ข้อ 2 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ มองว่าคำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แยกจากการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิที่จะแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจทราบถึงการควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัว หรือ สิทธิที่จะพบหรือปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว หรือ สิทธิที่จะติดต่อญาติได้ตามสมควร เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารมักอ้างว่าเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ถูกควบคุมตัวจึงยังไม่มีสิทธิต่าง ๆตามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอ้างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ผ่านมา
กังวลถูกนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช.
ขณะที่ข้อกังวลที่ 3. ของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า เดิมคำสั่งคณะหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการควบคุมตัวบุคคลไว้ไม่เกิน 7 วัน เพียงแค่ 4 ฐานความผิดเท่านั้น แต่กลับมีการอ้างคำสั่งฉบับดังกล่าวเพื่อควบคุมตัวบุคคลที่ไม่ได้มีพฤติการณ์กระทำความผิดตามที่คำสั่งได้ให้อำนาจไว้ เมื่อมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ครอบคลุมความผิด 27 ประเภท นับเป็นการขยายฐานความผิดในการควบคุมตัวเพิ่มขึ้นจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อันเป็นการขยายฐานความผิดอย่างกว้างขวางและรวมเอาความผิดที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลเข้ามาด้วย เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้เกิดความกังวลว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามอาจใช้คำสั่งฉบับนี้ เพื่อเข้าไปจัดการและควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายทหารในวงกว้าง
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความฯ มีข้อกังวลว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 จะถูกนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช. อาทิ กลุ่มชาวบ้านที่พิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินกับหน่วยงานของรัฐ อย่างที่ คสช. เคยพยายามใช้มาตราการทางกฎหมายเข้าไปไล่รื้อจัดการก่อนหน้านี้
ระบุเปิดช่องการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตจำนง
ข้อ 4. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจครอบคลุมความผิดถึง 27 ประเภทตามบัญชีท้ายคำสั่ง ซึ่งมีความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ทหารอาจจะขาดความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับที่มีรายละเอียดจำนวนมาก โดยเฉพาะพระราชบัญญัติต่าง ๆ การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ได้สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมาย รวมถึงให้อำนาจทหารกองประจำการ หรืออาสาสมัครทหารพราน มาเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจเกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตจำนงของกฎหมาย รวมถึงอาจจะนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ทหารโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ได้
ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ได้ยากขึ้น
และ ข้อ 5 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ถูกประกาศใช้ออกมาโดยอาศัยฐานอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทำให้ศาลเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ได้ยากขึ้น เพราะมาตรา 44 กำหนดให้การปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้เป็นที่สุด
ข้อเสนอต่อสาธารณชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคล ตามคำสั่งนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 นี้ ไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ในลักษณะเด็ดขาด แต่ยังคงกำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น หากเห็นว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามควบคุมตัวบุคคลใด อันเป็นการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ถูกคุมขังเอง มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลยุติธรรมทำการไต่สวนและขอให้ปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกคุมขังนั้นไปได้ ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ข้อ 9 (4)
แนะยกเลิกคำสั่ง-ยุติการใช้ ม.44
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 กำเนิดขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ยึดโยงต่อเจตจำนงของประชาชน และดำรงอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเนื้อหาที่ริดรอนสิทธิ เสรีภาพ ทั้งยังปิดกั้นไม่ให้ศาลและสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยืนยันให้ คสช. ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ในทันที และ 2. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลงค้าน ชี้คำสั่งขัดหลักนิติรัฐและคำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเรื่องสิทธิมนุษยชน
ขณะที่วันนี้ (1 เม.ย.59) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า เนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีองค์กรด้านกระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการใดใดร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจในแต่ละขั้นตอนได้ โดยอ้างว่าเพื่อให้อำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาหลายประเภท โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าคำสั่งดังกล่าว ขัดและแย้งต่อหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม หลักการสากลด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งมีความเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ โดยมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1. นิยามของคำว่า บุคคลที่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดอาญาตามคำสั่งฯเป็นความหมายที่กว้างและขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตีความตามอำเภอใจของเจ้าพนักงานฯที่ทำหน้าที่ตามผลของคำสั่งดังกล่าว การควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งนี้อาจเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจซึ่งหมายถึงการกระทำที่เป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ/หรือ โดยไม่อาจคาดคะเนได้หรือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แม้ว่าจะเป็นการอ้างคำสั่งนี้ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติดุลพินิจของเจ้าพนักงานฯ ก็อาจปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่มีเหตุอันควร หรือไม่จำเป็นในพฤติการณ์ของคดี โดยไม่มีหน่วยงานใดใดตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสิทธิเสรีภาพ สิทธิในชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน (กรณีการสั่งยึดทรัพย์) ต่อประชาชน สิทธิในการแสดงทางความคิดเห็น สิทธิในการชุมชมโดยสันติ เป็นต้น
2. อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามในการจับกุมตัวบุคคล เพื่อสอบถามเป็นเวลา 7 วัน โดยควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยอาจมีการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวในสถานที่ลับ ไม่เปิดเผย ไม่สามารถติดต่อกับญาติ หรือทนายความได้ ซึ่งเป็นการควบคุมตัวที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม และอาจทำให้ผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุมตัว ตามคำสั่งนี้ต้องขาดหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อาทิเช่น สิทธิในการได้รับการเยี่ยมญาติ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิในการพบแพทย์ เป็นต้น โดยอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมานหรือการบังคับหายสาบสูญได้
3. ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) และได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance -ICCPED)โดยหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับนี้คือการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกต่อการเคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนว่า ประเทศไทยจะพยายามดำเนินการเพื่อให้หลักการห้ามทรมานหรือการบังคับให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรืออาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยเด็ดขาด การขาดซึ่งความโปร่งใส่และตรวจสอบได้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามคำสั่งนี้ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัวว่าจะถูกละเมิดสิทธิตามอนุสัญญาดังกล่าว
"ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความปลอดภัย พิจารณาทบทวนคำสั่งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานและจำเป็นของการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย" มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุข้อเรียกร้องในท้ายแถลงการณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น