วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ล้อ 'มันเปลืองจริงๆ' เพนกวิ้นเทียบงบฯม.ปลาย 9 พันล้าน ขณะที่งบซื้อเรือดำน้ำ 3.3 หมื่นล้าน


พริษฐ์ ม.5 ผู้รณรงค์ให้ร่างรธน.ฉบับลงประชามติ รับรองสิทธิเรียนฟรีม.ปลาย คืนมา โพสต์การศึกษา ม.ปลาย-อาชีวะ 2 ล้านคน ใช้งบฯ เพียง 9 พันล้าน เทียบงบซื้อเรือดำน้ำ 3.3 หมื่นล้าน Single Gateway ที่เคยเป็นข่าว 1.6 หมื่นล้าน
12 เม.ย. 2559 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 จากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ผู้รณรงค์เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ รับรองสิทธิในสวัสดิการการเรียนฟรีถึงมัธยมปลายกลับคืนมา ล่าสุดวานนี้ (11 เม.ย.59) เขาได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Parit Chiwarak' ในลักษณะสาธาณะ เทียบงบประมาณการศึกษาไทยนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายสายสามัญและมีนักเรียนมัธยมปลายสายอาชีวศึกษา ที่มีประมาณ 2 ล้านคน จากตัวเลขปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาทเท่านั้น 
โดย พริษฐ์ ได้นำงบประมาณโครงการอื่นมาเปรียบเทียบ เช่น งบค่าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14,000 ล้านบาท งบค่าโครงการ Single Gateway ที่เคยเป็นข่าว 16,000 ล้านบาท และงบที่กองทัพเรือเคยเสนอจะซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ราคา 3.3 หมื่นล้านบาท
"เราก็จะทราบได้ทันทีว่า งบเรียนฟรี ม.ปลาย + อาชีวะที่เอาไว้ช่วยคนอย่างน้อยสองล้านกว่าคนเนี่ย "มันเปลือง" จริง ๆ" พริษฐ์ โพสต์ทิ้งท้ายเชิงเสียดสีหลังนำตัวเลขงบฯ ม.ปลายเทียบกับ 3 โครงการข้างต้น

ที่มา เฟซบุ๊ก 'Parit Chiwarak
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
#ห้องเรียนคณิตศาสตร์กับเด็กชายเพนกวิ้น
 
ความเดิมตอนที่แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณปู่มีชัยมุ่งหมายจะทำลายหลักประกันสวัสดิการเรียนฟรี ม.ปลาย-อาชีวะด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยไม่มีเงินพอจ่าย วันนี้ผมจะมาชวนทุกคนใช้วิชาคณิตคิดเร็วคำนวณงบประมาณสำหรับ #เอามปลายฟรีของเราคืนมา กันนะครับ ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสวัสดิการเรียนฟรีจะถูกใช้จ่ายในรูปเงินอุดหนุนรายหัวให้เด็กแต่ละคน ซึ่งปกติแล้วรัฐบาลจะจัดอัตราเงินอุดหนุนรายหัวที่ว่าของ ม.ปลาย และสายอาชีพเป็น
 
มัธยมปลายสายสามัญ: คนละ 3800 บาท/ปี
มัธยมปลายสายอาชีพ: คนละ 5868 บาท/ปี
 
ทีนี้จากสถิติจำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาไทยของ พ.ศ.2557 (หาของ 2558 ไม่พบ) มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายสายสามัญ 1,414,453 คน และมีนักเรียนมัธยมปลายสายอาชีวศึกษาอีก 675,712 คน ดังนั้น ถ้าเราลองคูณเลขเร็ว ๆ ก็จะได้ว่างบประมาณที่เป็นค่าใช้จ่ายของนโยบายเรียนฟรีนี้จะเป็น
 
1,414,453 คน × 3800 บาท/ปี = 5,374,921,400 บาท/ปี (ห้าพันสามร้อยเจ็ดสิบสี่ล้านเก้าแสนสองหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยบาท)
675,712 คน × 5868 บาท/ปี = 3,965,078,016 บาท/ปี (สามพันเก้าร้อยหกสิบห้าล้านเจ็ดหมื่นแปดพันสิบหกบาท
 
ถ้าเอางบทั้งสองส่วนมารวมกันก็จะได้ 5,374,921,400 + 3,965,078,016 = 9,339,999,416 บาท/ปี ตีเป็นเลขกลม ๆ ได้เป็นเก้าพันล้านบาท 
 
ในปีเดียวกันนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 481,337,000,000 บาท ดังนั้น 9 พันล้านค่าเรียนฟรี ม.ปลายนั้นจึงคิดเป็นประมาณ “1.94%”
 
เมื่อเทียบกับกรอบงบประมาณแผ่นดินประจำปีทั้งหมด 2,525,000,000,000 9พันล้านบาทจะคิดเป็นประมาณ 0.4%
 
หากเรานำตัวเลข 9 พันล้านบาทที่จะต่อเติมอนาคตของเด็กปีละ 2,000,000 คนนี้เทียบกับ
 
งบค่าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14,000 ล้านบาท
 
งบค่าโครงการ Single Gateway ที่เคยเป็นข่าว 16,000 ล้านบาท
 
และงบที่กองทัพเรือเคยเสนอจะซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ราคา 3.3 หมื่นล้านบาท
 
เราก็จะทราบได้ทันทีว่า งบเรียนฟรี ม.ปลาย + อาชีวะที่เอาไว้ช่วยคนอย่างน้อยสองล้านกว่าคนเนี่ย "มันเปลือง" จริง ๆ
 
#เอามปลายฟรีของเราคืนมา #เห็นด้วยช่วยกันแชร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น