วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แจ้งข้อกล่าวหา 19 แดงอุดรฯ ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ หลังเรียกมาอบรม พร้อมเงื่อนไข


19 ก.ค.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านเสื้อแดง 19 คน ที่เข้าร่วมการเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เดินทางเข้ารับการอบรมเพื่อปรับทัศนคติกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่สถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีหนังสือไปถึงเมื่อเย็นวันที่ 13 ก.ค.59  โดยในหนังสือเชิญอ้างว่าได้รับการประสานมาจากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี
โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน เพิ่มเติมด้วยว่า วันที่ 14 ก.ค.นั้น ขณะชาวบ้านเริ่มทยอยมาถึง สภ.โนนสะอาด ในเวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกชาวบ้านเข้าไปเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา โดยไม่ได้ให้ชาวบ้านอ่านเอกสารหรืออ่านให้ฟังก่อน รวมทั้งไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาแต่อย่างใด  เมื่อเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เข้าไปทักท้วง พ.ต.อ.บรรจบ สีหานาวี ผกก.กลุ่มงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี จึงบอกว่า จะแจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงข้อกล่าวหาหลังเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาครบทุกคน และหลังจากเข้าร่วมอบรม 1 วัน ในครั้งนี้ จะปล่อยตัวกลับ และถือว่าคดีเลิกกัน
ต่อมาเวลาประมาณ  15.40 น. พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 เดินทางมาเปิดการอบรมในครั้งนี้ พร้อมทหารในเครื่องแบบอีก 4 นาย ก่อนเริ่มการอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ชาวบ้านได้รับทราบว่า มีความผิดฐาน “มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558”
จากนั้น พล.ต.อำนวย ได้ถามชาวบ้านว่า ใครเป็นคนชวนเข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ จากนั้น พล.ต.อำนวย ได้กล่าวในทำนองว่า ชาวบ้านไม่รู้ว่า ถูกหลอกให้เข้าร่วม เช่นเดียวกับถูกหลอกให้ไปเผาศาลากลางเมื่อปี 2553 และยืนยันว่า หลังการอบรมในวันนี้ คดีจะจบ แต่ขอให้ทุกอย่างต้องสงบ ต้องเป็นไปตามโรดแมป โดยขอให้ชาวบ้านอย่าเพิ่งทำอะไร ให้ทำมาหากินเท่านั้น ถ้าถูกข่มขู่คุกคาม หรือเดือดร้อน อยากได้คนช่วยดำนาให้มาบอก จะจัดคนไปช่วย ก่อนจบการอบรมในส่วนของ ผบ.มทบ.24 พล.ต.อำนวย ได้สั่งตำรวจให้เร่งคดีอื่นๆ ให้เสร็จก่อนวันที่ 7 ส.ค. ถ้าติดคุกก็ให้ติดก่อน 7 ส.ค. ซึ่งเป็นวันลงประชามติ
นายอำเภอโนนสะอาดเป็นผู้อบรมคนต่อมา กล่าวขอร้องชาวบ้านว่าอย่าเพิ่งออกมาทำอะไร เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ปกติ เมืองไทยบอบช้ำมามากแล้ว ไม่อยากให้มีสงครามกลางเมือง ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญควรอ่านเนื้อหาสาระก่อนไม่ใช่ว่าไม่อ่านแล้วไปรณรงค์ หากได้อ่านแล้วอาจจะบอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงก็ได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานต่อว่า ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกเรียกมาอบรม ชี้แจงในที่ประชุมว่า ไม่มีใครชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ชาวบ้านต้องการไปฟังเรื่องการลงประชามติเท่านั้นเอง และแกนนำก็ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้ไปลงประชามติ
หลังเสร็จการอบรม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทุกคนลงลายมือชื่อใน “บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือจะไม่เคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง ระหว่างกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุดรธานี กับ ผู้เห็นต่างทางการเมือง” โดยมีข้อตกลงว่า ทั้ง 19 คน จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าร่วมประชุม หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่งของหัวหน้า คสช. รวมทั้งจะไม่ชักชวนคนอื่นใส่เสื้อ หรือติดป้ายเครื่องหมายต่างๆ ที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็น เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมถูกดำเนินคดี และระงับธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า จัดทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีและเข้ารับการอบรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการอบรมว่า เรายืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะการออกไปฟังเรื่องประชามติมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่กลับถูกเรียกมาอบรมและถูกตั้งข้อกล่าวหา 3/58 ซึ่งเราไม่เห็นด้วยเลย รู้สึกว่ามันเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรารู้สึกอึดอัดเพราะประชาชนทำอะไรไม่ได้
พร้อมกันนี้ชาวบ้านคนเดิมยังเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้าถูกเรียกมาอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกมาสอบปากคำที่ สภ.โนนสะอาดแล้วประมาณ 3 ครั้ง เกี่ยวกับการเข้าร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็มาแจ้งก่อนถูกเรียกมาอบรมแล้วว่า เราอาจจะถูกดำเนินคดี แต่เรายึดมั่นว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด จึงมาอบรมในครั้งนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมถึงกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่เป็นสาเหตุของคดีนี้ ว่า จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านหนองโก ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมใส่เสื้อสีดำที่มีสโลแกนของศูนย์ปราบโกงฯ ว่า “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ฯ เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นๆ  นอกจาก 19 คน ที่เข้ารับการอบรมนี้แล้ว ยังมีแกนนำและครอบครัวผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันอีก 4 คน ซึ่งทั้งสี่ให้การปฏิเสธ และ ผบ.มทบ.24 สั่งให้ตำรวจเร่งรัดคดีให้เสร็จก่อนวันลงประชามติ 7 ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของมวลชนเสื้อแดง 19 คนนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะอาศัยเงื่อนไขตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ซึ่งระบุว่า ผู้กระทำความผิดมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน โดย ผบ.มทบ.24 ยืนยันว่า หลังเข้าร่วมอบรมประมาณครึ่งวันนี้แล้ว คดีจะจบ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ทุกอย่างต้องสงบ ต้องเป็นไปตามโรดแมป นั่นก็คือ ข้อตกลงว่า มวลชนเสื้อแดงกลุ่มนี้จะไม่รวมตัวกันจัดกิจกรรมใดๆ อีก ซึ่งหากไม่เป็นไปตามนี้ ก็จะถูกดำเนินคดีทันที
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า แม้ทหารซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ จะทำให้เห็นว่า ไม่ต้องการให้มวลชนที่เป็นชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าใจว่า ถูกแกนนำหลอกมา ต้องขึ้นศาลทหาร จากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยใช้เงื่อนไขการเข้ารับการอบรมดังที่กล่าวมา แต่การดำเนินคดีที่ลัดขั้นตอน  โดยให้ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่บอกให้อ่าน หรือแจ้งข้อหาให้ทราบก่อน และไม่ได้ถามว่า ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไร แต่ให้เข้าอบรมเลย และแจ้งว่า เมื่ออบรมเพียงครึ่งวันแล้ว ถือว่าคดีเลิกกัน เท่ากับบีบให้ชาวบ้านยอมรับว่าตัวเองผิด และสมัครใจเข้ารับการอบรม ซึ่งง่ายกว่าการไปต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาลทหาร
กรณีที่ทหารใช้เงื่อนไขให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามตินี้ นอกจาก 19 ราย ที่จังหวัดอุดรฯ แล้ว ก่อนหน้านี้ มี 5 ราย ที่จังหวัดแพร่ และ 12 ราย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น